General

จำคุกตลอดชีวิต ‘อดีตอธิบดีกรมสรรพากร’ ทุจริตเงินคืนภาษี 25 บริษัท สั่งชดใช้กว่า 3 พันล้าน

ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง ตัดสินจำคุกตลอดชีวิต “สาธิต รังคสิริ” อดีตอธิบดีกรมสรรพากร คดีทุจริตคืนเงินภาษี 25 บริษัท พร้อมให้ร่วมกับพวกชดใช้อีกกว่า 3,000 ล้านบาท

วันนี้ (19 ส.ค.) ศาลอาญาคดีทุจริต และประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อท.126/2562 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามทุจริต 1 ยื่นฟ้อง

  • นายสาธิต รังคสิริ อดีตอธิบดีกรมสรรพากร จำเลยที่ 1
  • นายศุภิจ หรือ สิริพงศ์ ริยะการ หรือ ริยะการธีรโชติ อดีตสรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 จำเลยที่ 2
  • นายประสิทธิ์ อัญญโชติ จำเลยที่ 3
  • นายกิติศักดิ์ อัญญโชติ จำเลยที่ 4

ฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 147, 151, 157 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 (เดิม) พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172

อดีตอธิบดีกรมสรรพากร

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม 2555-26 ตุลาคม 2556 พวกจำเลยร่วม และสนับสนุนการกระทำความผิด คือ ร่วมกันขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยแสดงข้อความเท็จหลอกลวงกรมสรรพากร เจ้าหน้าที่กรมสรรพากร และเจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 เพื่อให้ได้ไปซึ่งเงินคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม จากกรมสรรพากรและรัฐ โดยทุจริต

จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย ทราบดีถึงความเท็จดังกล่าวมาแต่ต้น แต่กลับรู้เห็นเป็นใจ ด้วยการร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ และทุจริต

จำเลยที่ 2 ได้ใช้อำนาจของตน สั่งการให้คำแนะนำเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ของสถานประกอบการ เกี่ยวกับการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มกรณีดังกล่าว ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ให้พิจารณาเสนอความเห็นยุติการตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับสภาพกิจการของบริษัท จำนวน 25 บริษัท ที่ขอคืนภาษี และคืนภาษีให้แก่บริษัท นิติบุคคลทั้ง 25 แห่งดังกล่าว ทั้งที่ยังมีข้อสงสัยว่า เป็นผู้ประกอบการจริงหรือไม่

โดยจำเลยที่ 2 ละเว้นไม่สั่งการให้มีการตรวจสอบสถานประกอบการ ไม่สั่งการให้ตรวจสอบการซื้อขายสินค้าวัตถุดิบการเก็บรักษาสินค้า การจ้างแรงงาน เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วน

ทั้งยังเร่งรัดให้ผู้ใต้บังคับบัญชา เสนอสำนวนการตรวจสภาพกิจการอันเป็นการผิดระเบียบกรมสรรพากร ว่าด้วยการตรวจปฏิบัติการ พ.ศ.2554 ประกอบแนวทางปฏิบัติของกรมสรรพากรในหลายกรณี รวมถึงสั่งระงับ ทำให้ไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แน่ชัดว่า ใบกำกับภาษี และใบส่งสินค้าออกต่างประเทศ ที่นำมาใช้อ้างแสดงเป็นหลักฐานนั้น เป็นเอกสารแท้จริงหรือไม่อีกด้วย

จำเลยที่ 2 ยังสั่งการปรับปรุงการกำกับดูแลประเภทกิจการ เกี่ยวกับการขายส่งโลหะ และแร่โลหะ จากเดิมมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบหลายทีม ให้มีเพียงทีมเดียว ทำหน้าที่ตรวจสอบบริษัท และสั่งการให้ ทีมตรวจสอบบริษัทออกตรวจกิจการบริษัทบางบริษัทในกลุ่ม 25 บริษัทล่วงหน้า ก่อนที่จะมีการยื่นขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม และใช้ผลการตรวจล่วงหน้า ในการพิจารณาคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม อันเป็นการดำเนินการไม่ปกติ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์แนวทางปฏิบัติที่กรมสรรพากรกำหนด

อดีตอธิบดีกรมสรรพากร ร่วมทุจริต คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม

ส่วนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของกรมสรรพากร ทราบดีว่า การดำเนินการคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม ยังไม่ได้ข้อเท็จจริงครบถ้วนตามแนวทางปฏิบัติ และระเบียบกรมสรรพากร

เมื่อมีการตรวจพบความผิดปกติ ที่เกี่ยวข้องในการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มนี้รายงานเข้ามา จำเลยที่ 1 กลับสั่งการให้ สำนักงานตรวจสอบภาษีกลาง ไปตรวจสอบใบขนสินค้าขาออก กับกรมศุลกากรว่า มีการส่งออกจริงหรือไม่เท่านั้น ซึ่งเป็นการสั่งการที่จงใจให้ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์

ทั้งที่ข้อสำคัญ จะต้องสั่งการตรวจสอบให้ชัดเจนว่า ผู้ขอคืนภาษีประกอบกิจการจริงหรือไม่ ขัดต่อแนวทางปฏิบัติกรมสรรพากรในการกำกับดูแลผู้เสียภาษีโดยใกล้ชิดเป็นรายผู้ประกอบการ และให้เป็นปัจจุบัน แต่จำเลยที่ 1 กลับละเว้นไม่สั่งการตรวจสอบ

นอกจากนี้ ผลตรวจสอบใบขนส่งสินค้าขาออก ตามที่จำเลยที่ 1 สั่งการ ก็ไม่ได้ข้อเท็จจริง ยืนยันว่า มีการขนส่งสินค้าออกจริงหรือไม่ กรณีดังกล่าว จึงไม่สามารถอนุมัติคืนภาษีได้ หากไม่มีธนาคารมาค้ำประกัน แต่จำเลยที่ 1 กลับเพิกเฉย ไม่ระงับยับยั้ง

ทั้งยังอาศัยอำนาจของตน ในการบังคับบัญชาข้าราชการของกรมสรรพากรเข้ามาติดตามเร่งรัดพร้อมทั้งมอบแนวทางการปฏิบัติงานแก่เจ้าหน้าที่สรรพากรพื้นที่กรุงเทพมหานคร 22 เพื่อให้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม แก่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งโดยเร็ว

พฤติการณ์ของจำเลยกับพวก จึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ เพื่อให้ข้อเท็จจริงที่ บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งนั้นไม่มีสิทธิขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มอันเป็นการฉ้อฉลนั้น ถูกปกปิด จนที่สุดจำเลยที่ 2 ด้วยความรู้เห็นเป็นใจของจำเลยที่ 1 ได้พิจารณาอนุมัติคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้แก่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งจำนวนหลายครั้ง

ในการนี้นายประสิทธิ์ อัญญโชติ และนายกิติศักดิ์ อัญญโชติ กับพวก ได้มารับเอาเงินจำนวนตามที่ได้มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้แก่บริษัทนิติบุคคลทั้ง 25 แห่งดังกล่าว ไปแบ่งปันกันโดยทุจริต กับจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1ได้นำเงินบางส่วนที่ได้รับแบ่งปันโดยทุจริต ไปซื้อทรัพย์สินเป็นทองคำแท่งไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัว

การกระทำของพวกจำเลยดังกล่าว เป็นการใช้อำนาจของตนไปโดยมิชอบ และทุจริตเบียดบังเงินของรัฐ ที่อยู่ในอำนาจจัดการดูแลเก็บรักษาของตน ไปเป็นของตนเองและบุคคลอื่นโดยทุจริต เป็นเหตุให้กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง และรัฐ ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 3,097,016,533.99 บาท ขอให้ลงโทษตามกฎหมาย

และขอให้ริบของกลางทองคำแท่ง น้ำหนัก 77 กิโลกรัม และทองคำแท่งน้ำหนักรวม 7,000 บาททองคำ กับให้จำเลยร่วมกันชดใช้เงิน ที่เบียดบังเอาไป และยังไม่ได้คืน จำนวน 3,097,016,533.99 บาทแก่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง

อดีตอธิบดีกรมสรรพากร

พิพากษาว่าจำเลยที่ 1,2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147(เดิม), 151(เดิม) และ 157(เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 พรป.ว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1

การกระทำของจำเลยที่ 1 เเละ 2 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทฐาน เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อทำจัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย และฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ ซื้อทำจัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริตอันเป็นการเสียหายแก่รัฐหรือเจ้าของทรัพย์นั้น เป็นบทหนักซึ่งมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อทำจัดการหรือรักษาทรัพย์ใดเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นไปเสีย แต่เพียงบทเดียว

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ตลอดชีวิต จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157(เดิม) 265(เดิม), 268(เดิม), 341(เดิม) ประมวลรัษฎากรมาตรา 90/4(3) (6(เดิม)) (7) ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86

การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษ ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานให้ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งเป็นกฎหมายบท ที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 เป็นเวลา 6 ปี 8 เดือน

ให้จำเลยที่ 1,2 เเละ 3 ร่วมกันชดใช้เงิน 3,097,016,533 บาทแก่กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง นับโทษของจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ฟย. 23/2560 หมายเลขแดงที่ ฟย. 47/2561 ของศาลอาญา

ริบของกลางทองคำแท่งน้ำหนัก 77 กิโลกรัม และทองคำแท่งน้ำหนักรวม 7,000 บาททองคำ ตามคำขอท้ายฟ้อง และทองคำแท่งทุกรายการ ที่ส่งมอบแก่คณะกรรมการจัดการทรัพย์สินเมื่อ 15 พฤษศจิกายน 2562 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จำเลยที่ 1,2 ได้ยื่นคำร้องประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ โดยศาลชั้นต้น มีคำสั่งส่งศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่งต่อไป ส่วนจำเลยที่ 3 ไม่ได้ยื่นประกัน โดยหากครบเวลาราชการเเล้ว ศาลอุทธรณ์ยังไม่มีคำสั่งประกันลงมา เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ก็จะคุมตัวจำเลยไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo