General

‘6 องค์กรสื่อ’ ร้องนายกฯ ยกเลิกข้อกำหนด พรก.ฉุกเฉิน ‘ข้อ 11 ฉบับที่ 27-ฉบับที่ 29’

6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้ยกเลิกข้อความในข้อที่ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) และข้อกำหนดในฉบับที่ 29

วันนี้ (30 ก.ค.) นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ นายจีระพงศ์ ประเสริฐพลกรัง อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และเลขาธิการสมาคมฯ และนายสุปัน รักเชื้อ รักษาการเลขาธิการสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เป็นตัวแทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านทางนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี

นายชวรงค์ เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ในการยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ เนื่องจากองค์กรวิชาชีพสื่อ มีข้อห่วงใย และกังวล ในการที่ภาครัฐได้มีการออกประกาศข้อกำหนดฉบับที่  27 และข้อกำหนดฉบับที่ 29

2089799

ที่ผ่านมา องค์กรสื่อ ได้มีแถลงการณ์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขอให้รัฐบาลยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพประชาชน และสื่อมวลชนตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ  โดยเฉพาะข้อกำหนดฉบับที่ 29 ได้มีการปรับเนื้อหา ซึ่งองค์การสื่อ มองว่า หน่วยบังคับใช้กฎหมายอาจใช้เป็นโอกาส ในการตีความเจตนารมณ์นำไปสู่การปิดกั้น การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน หรือการแสดงความเห็นของประชาชน จึงตัดสินใจยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ยกเลิกประกาศดังกล่าว

ที่ผ่านมาองค์การสื่อได้ทำงานร่วมกับภาครัฐมาโดยตลอด ทั้งกรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้ง ศปก. ศบค. อย่างใกล้ชิด ผ่านช่องทางไลน์อยู่แล้ว ขอยืนยันว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเห็นด้วยกับรัฐบาล ที่สกัดกั้นข่าวปลอม ไม่ให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง

ทางด้านนายอนุชา ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพ โดยประชาชนและสื่อมวลชนสามารถวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลได้ เพียงขอให้เสนอข้อมูลบนพื้นฐานข้อเท็จจริง ไม่สร้างความหวาดระแวง หรือความกังวลในสังคม

อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณและยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยกับผู้แทน 6 องค์กรวิชาชีพสื่อซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารที่ดีที่สุดในการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน รวมทั้งการแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันในวันนี้ และจะสื่อสารไปยังนายกรัฐมนตรีต่อไป

ทั้งนี้ 6 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย

เนื้อหาจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี

ตามที่ท่านได้ออกข้อกำหนดตามมาตรา 9 (3) แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 27 ข้อ 11 เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 และฉบับที่ 29 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ระบุข้อความว่า ในลักษณะเดียวกันว่า “การเสนอข่าวหรือการทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว  หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั่วราชอาณาจักร” ตามความทราบแล้วนั้น

2089798

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร ดังมีรายชื่อท้ายจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ได้ปรึกษาหารือกันจนมีข้อสรุปว่า ถ้อยคำตามข้อกำหนดดังกล่าว สุ่มเสี่ยงที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือคุกคามเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ซึ่งได้รับการรับรองไว้ในมาตรา 34 และมาตรา 35 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. ข้อกำหนดดังกล่าว ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการเอาผิดแม้เพียงแค่ “ข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” โดยปราศจากหลักเกณฑ์หรือขอบเขตของการใช้อำนาจที่ชัดเจน ดังนั้น แม้ประชาชนและสื่อมวลชนที่เผยแพร่ข้อเท็จจริงหรือความจริงก็อาจถูกดำเนินคดีหรือคุกคามจากหน่วยงานของรัฐได้ เพียงเพราะใช้วิจารณญานว่าเป็นการทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว

2. ข้อกำหนดทั้ง 2 ฉบับนี้ มีเนื้อหาแตกต่างจากข้อกำหนดในลักษณะเดียวกัน ที่เคยมีการประกาศก่อนหน้านี้ในข้อกําหนดฉบับที่ 1 ลงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ข้อ 6 ซึ่งระบุไว้ความชัดเจนว่า จะห้ามเสนอข่าวได้ ต้องเป็นข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และต้องเป็นการเสนอข่าว หรือทำให้เผยแพร่ข้อความ อันไม่เป็นความจริง รวมทั้งระบุให้เจ้าหน้าที่ ต้องเตือนให้ระงับ หรือสั่งให้แก้ไขข่าวเสียก่อน

 

3. ตลอดระยะเวลา 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนได้ออกแถลงการณ์ แสดงความกังวล พร้อมทั้งขอให้รัฐบาลทบทวนการออกข้อกำหนดข้างต้น  หรือจัดทำแนวปฏิบัติจากข้อกำหนด และแถลงถึงเจตนารมณ์ในการบังคับใช้ให้เกิดความชัดเจน

เพื่อมิให้มีการนำข้อกำหนดดังกล่าว ไปเป็นเครื่องมือในการปิดกั้นการทำหน้าที่เสนอข่าวสาร ของสื่อมวลชน และการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตของประชาชน จนกระทบต่อสิทธิการรับรู้ข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน แต่กลับถูกเพิกเฉย อีกทั้งได้มีการออกข้อกำหนดฉบับที่ 29 ซ้ำอีกครั้ง โดยมีการขยายขอบเขตการใช้อำนาจในการจำกัดเสรีภาพการแสดงความเห็นของประชาชนและสื่อมวลชนให้กว้างขวางออกไปอีก

2089796 side12

ด้วยเหตุผลที่ระบุมาข้างต้น องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร จึงขอเรียกร้องให้มีการยกเลิกข้อความในข้อที่ 11 ของข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) รวมทั้งข้อกำหนดฉบับที่ 29 (ทั้งฉบับ) โดยทันที  เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน มากไปกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ ซึ่งจะให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เลวร้ายลงไปอีก

ทั้งนี้ หาก ฯพณฯ นายกรัฐมนตรียังคงเพิกเฉย ต่อข้อเรียกร้องตามจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้ง 6 องค์กร จะเพิ่มมาตรการในการกดดันให้รัฐบาล ต้องพิจารณายกเลิกข้อกำหนดดังกล่าว ทั้งมาตรการทางด้านกฎหมาย และมาตรการทางสังคมต่อไปจนถึงที่สุด

ขอแสดงความนับถือ

  • สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ
  • สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
  • สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
  • สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย
  • สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
  • สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo