General

มิ.ย.นี้ ทดลอง ‘จุฬาคอฟ19’ กับคน! ‘หมอเกียรติ’ เปิดใจ ‘เงินทุน’ อุปสรรคใหญ่สุด

เปิดบทสัมภาษณ์ “ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม” ผู้นำพัฒนาวัคซีนโควิด-19 “จุฬาคอฟ19” ด้วยเทคโนโลยี และคุณภาพระดับโลก เทียบชั้น “ไฟเซอร์-โมเดอร์นา” แต่ราคาถูกกว่ามาก  กำหนดทดลองกับคน เดือน มิ.ย.นี้  ระบุอุปสรรคใหญ่สุด คือ “เงินทุน”

นิตยสาร “เนเจอร์” (Nature) เผยแพร่บทสัมภาษณ์ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19  “จุฬาคอฟ19” (ChulaCov19) ที่พัฒนาเองขึ้นมาโดยใช้เทคโนโลยี mRNA เช่นเดียวกับ ไฟเซอร์ (Pfizer) และ “โมเดอร์นา” (Moderna)  และเป็นวัคซีนที่ต่อยอดขึ้นมาเพื่อรับมือกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกา (B.1.351) และ สายพันธุ์อังกฤษ (B.1.1.7) รวมถึงยังอาจพัฒนาให้รับมือกับสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617) ได้อีกด้วย โดยระบุว่า

จุฬาคอฟ19

ไทยกำลังจะเริ่มต้นดำเนินการทดลองวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบ mRNA ในมนุษย์ ตัวแรกของประเทศ ซึ่งหากประสบความสำเร็จ อาจทำให้ไทย ผงาดขึ้นมาเป็นซัพพลายเออร์ที่สำคัญของวัคซีน mRNA ในเอเชีย และกลายเป็นผู้เล่นรายเล็ก แต่มีความสำคัญในการนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้

เมื่อปีที่แล้ว มีการเปิดตัววัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA เป็นครั้งแรก โดยตัวแรกนั้น เกิดจากการพัฒนาภายใต้ความร่วมมือระหว่าง ไฟเซอร์ กับไบโอเอนเทค ส่วนอีกตัวนั้น เป็นฝีมือการพัฒนาของโมเดอร์นา ซึ่งวัคซีนเหล่านี้มีประสิทธิภาพสูง ในการป้องกันไวรัสโควิด-19 และจนถึงขณะนี้ ได้ฉีดให้กับผู้คนไปแล้วหลายร้อยล้านคนทั่วโลก

ส่วนในเอเชียนั้น จีน อินเดีย และญี่ปุ่น อยู่ระหว่างการทดลองวัคซีนแบบ mRNA แล้ว ส่วนไทยนั้น แม้จะเพิ่งมาใหม่ แต่ก็มีความพยายามเพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านทั่วทั้งเอเชียใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต่างเจอปัญหาทั้งเรื่องการขาดแคลนวัคซีน และโควิดระบาดระลอกใหม่

เนเจอร์ ได้พูดคุยกับ ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม นักภูมิคุ้มกันวิทยา ผู้ก่อตั้งศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ที่ใช้ชื่อว่า จุฬาคอฟ19 (ChulaCov19)

จุฬาคอฟ19

แรงบันดาลใจ ที่ทำให้พัฒนาวัคซีนขึ้นมาเอง

ในช่วงปี 2552-2553 ที่เกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์ H1N1 ไทยต้องรอนานกว่า 1 ปี ถึงจะได้วัคซีนมา เราอยากพัฒนา และผลิตวัคซีนของเราเอง เพื่อที่เวลาเกิดการระบาดครั้งใหม่ เราจะได้ไม่ต้องรอ

เราอาจจะช้าเกินไป ที่จะเติมเต็มช่องว่างในตลาดไทย กับวัคซีนโควิด-19 รุ่นแรกของของเรา แต่เราก็มีโอกาสที่จะแข่งขันกับวัคซียนรุ่นที่ 2 และรุ่นที่ 3 สำหรับไวรัสกลายพันธุ์ที่เกิดขึ้นมาใหม่ เป้าหมายของเรา คือ การผลิตวัคซีนให้เพียงพอสำหรับประเทศไทย และอาจจะรวมถึงบรรดาประเทศเพื่อบ้านด้วย ในราคาที่ย่อมเยา

แรงบันดาลใจที่เปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี mRNA

ผมก่อตั้งห้องปฏิบัติการวิจัยวัคซีนมานานกว่า 10 ปีแล้ว และเราได้พัฒนาวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก โรคฉี่หนู และโรคมะเร็ง โดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ มากมาย
ในปี 2560 เราได้เชิญ ดรูว์ ไวส์แมน ผู้บุกเบิกเทคโนโลยี mRNA จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ในฟิลาเดลเฟีย มาพูดในการสัมมนาประจำปี จากนั้นเราก็เริ่มทำงานกับไวส์แมน ในเรื่องวัคซีน mRNA สำหรับโรคภูมิแพ้ แต่เมื่อเกิดการระบาดใหญ่ขึ้นมา เราก็ตัดสินใจที่จะพุ่งเป้าไปยังการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 แทน

ความสวยงามของวัคซีน mRNA อยู่ที่ การผลิตได้เร็วกว่า และสามารถผลิตได้ในปริมาณมาก ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในระยะยาว

วัคซีนเหล่านี้ใช้สารพันธุกรรมชิ้นเล็ก ๆ หรือ mRNA เพื่อบอกให้เซลล์ สร้างโปรตีนของไวรัสที่เฉพาะเจาะจงขึ้นมา เช่น โปรตีนตรงส่วนหนาม (spike protein) ที่ไวรัส SARS-CoV-2 ใช้ เพื่อเข้าสู่เซลล์เจ้าบ้าน ทั้งยังสามารถพัฒนาไปได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้ข้อมูลเกี่ยวกับลำดับจีโนมของไวรัส ซึ่งหมายความว่า เราไม่จำเป็นต้องรอจนกว่าสายพันธุ์ใหม่ ๆ จะเข้ามาในประเทศไทย เพื่อเริ่มพัฒนาวัคซีนป้องกันสายพันธ์ใหม่เหล่านี้

จุฬาคอฟ19

ความคืบหน้าล่าสุดของโครงการ

จุฬาคอฟ19 แสดงให้เห็นผลลัพธ์ที่น่าพึงพอใจ ในการศึกษาขั้นก่อนคลินิก เป็นการทดลองในหนู และผ่านทางแบบจำลองสัตว์ในกลุ่มไพรเมต (Primate)

เราวางแผนที่จะเริ่มการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 กับคน ในเดือนมิถุนายนนี้ และกำลังพัฒนาวัคซีนรุ่นต่อไปสำหรับไวรัสสายพันธุ์ B.1.351 และ B.1.1.7 ไปแล้ว

นอกจากนี้ เรายังติดตามไวรัสสายพันธุ์ B.1.617 ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในอินเดีย เราดีใจที่มาได้ไกลถึงขนาดนี้ แต่ก็ต้องใช้เวลามากกว่าหนึ่งปี กว่าจะเข้าสู่การทดลองทางคลินิกในมนุษย์ได้ เป็นเวลาเกือบหนึ่งปี ที่ทำให้เราอยู้ล้าหลังบริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่ ๆ ของโลก

แผนการสำหรับการทดลองทางคลินิก

ระยะเริ่มต้นในการทดลองของผมนั้น จะมีคนอยู่ราว 100 คนเพื่อหาปริมาณที่เหมาะสม สำหรับการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา

แม้บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพในสหรัฐ อาจจะเป็นผู้ผลิตล็อตแรก แต่ภายในเดือนกันยายนนี้ เราวางแผนที่จะได้วัคซีน ซึ่งผลิตโดยไบโอเน็ต-เอเชีย ในกรุงเทพมหานคน
ถ้าหากคุณภาพ และผลลัพธ์เทียบเคียงกันได้ ก็หวังว่าจะวัคซีนที่ผลิตในประเทศของเราจะได้รับความไว้วางใจจากรัฐบาล และนักลงทุน

เมื่อเราผ่านขั้นตอนสำคัญนี้ เราวางแผนที่จะดำเนินการทดลองคลินิกในระยะ 2 ต่อไป เป็นการทดสอบการตอบสนอง ของกลุ่มอาสาสมัครจำนวนไม่กี่ร้อยคน

จากนั้นก็จะเป็นการประเมินความปลอดภัยของวัคซีน ในบุคคลทดลอง 5,000 คน ซึ่งการที่จะทดสอบประสิทธิภาพนี้ เราจะต้องดำเนินการทดลองระดับคลินิก ระยะที่ 3 กับกลุ่มประชากรหลายหมื่นคน

จะได้รับการอนุมัติวัคซีน โดยไม่ต้องทดลองในระยะสุดท้ายได้อย่างไร

องค์การอนามัยโลก สถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา และองค์กรอื่น ๆ อีกหลายแห่งทั่วโลก กำลังดำเนินการเพื่อกำหนดค่ากลาง ของระดับแอนติบอดี ที่วัคซีนควรกระตุ้น เพื่อให้เกิดการป้องกันที่เพียงพอ

“ความสัมพันธ์ของการป้องกัน” นี้ สามารถนำไปใช้เพื่อประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนได้ โดยไม่ต้องทำการทดลองระยะสุดท้ายเช่นเดียวกับที่ทำกันทั่วไป สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่

ทางศูนย์วิจัย ยังขอให้เพื่อนในสิงคโปร์ และมาเลเซีย ส่งตัวอย่างเลือดของผู้ที่ฉีดวัคซีนไฟเซอร์-ไบโอเอนเทค และเราจะเก็บตัวอย่างเลือด จากคนในประเทศไทย ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ( AstraZeneca) และ ซิโนแวค (Sinovac) ไปแล้ว

ถ้าหากวัคซีนของเรา สร้างภูมิคุ้มกันได้เท่ากัน หรือดีกว่า ภูมิคุ้มกันของผู้ที่ได้รับวัคซีนของผู้ผลิตรายอื่น ๆ หน่วยงานกำกับดูแลของไทย อาจพิจารณาอนุมัติ จุฬาคอฟ19 สำหรับการใช้งานในกรณีฉุกเฉิน โดยไม่ต้องมีผลการทดลองระยะที่ 3

จุฬาคอฟ19

อุปสรรคใหญ่สุดสำหรับการพัฒนาวัคซีน

เงินทุน เป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะการที่เราเป็นศูนย์การศึกษา ทำให้การสนับสนุนหลักมาจากรัฐบาล เรามีผลการทดลองทางคลินิกที่น่าสนใจ มาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2563 แต่ต้องใช้เวลาเกือบ 6 เดือน กว่าจะได้รับเงินทุน สำหรับทำการทดลองในมนุษย์

นอกจากนี้ยังต้องใช้เวลา ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการผลิตวัคซีน mRNA ให้กับผู้ผลิตในประเทศไทย

ศูนย์วิจัย จะได้รับประโยชน์จากการยกเว้นสิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19 หรือไม่

ข้อตกลงในการยกเว้นการคุ้มครองสิทธิบัตร สำหรับวัคซีนโควิด-19 ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ และปานกลาง จะเป็นสิ่งที่ยอดเยี่ยมอย่างมาก จะช่วยให้เราสามารถใช้เทคโนโลยี ที่ปัจจุบันมีราคาแพง หรือไม่สามารถเข้าถึงได้ เพื่อที่ทำให้การพัฒนาวัคซีนของเราดีขึ้นกว่าเดิม และมีราคาถูกลง

แต่การยกเว้นสิทธิบัตรนั้น ถือเป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น คุณต้องมีเงินทุน มีความสามารถทางการผลิตในประเทศ และเข้าถึงวัตถุดิบที่สำคัญได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo