General

‘วันพยาบาลสากล’ 12 พฤษภาคม ‘เสียงแห่งพลัง นำวิสัยทัศน์สู่การดูแลสุขภาพในอนาคต’

วันที่ 12 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันที่ “สภาพยาบาลระหว่างประเทศ” (International of Nurses, ICN) กำหนดให้เป็น “วันพยาบาลสากล” เพื่อรำลึกถึง “ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล” ผู้ก่อกำเนิดวิชาชีพการพยาบาล ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ปฐมบูรพาจารย์” วิชาการพยาบาลของโลก 

สภาพยาบาลระหว่างประเทศ กำหนด วันพยาบาลสากล ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2514 โดยการเชิญชวนองค์กรสมาชิกจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ พร้อมให้ข้อมูลแก่องค์กรสมาชิก เกี่ยวกับปัญหาสุขภาพที่มีผลกระทบต่อมวลมนุษย์ และกำหนดแนวทาง เพื่อให้พยาบาลทั่วโลกรณรงค์แก้ไขปัญหาสุขภาพดังกล่าวในแต่ละปี

วันพยาบาลสากล

จุดประสงค์การกำหนด “วันพยาบาลสากล’

วันพยาบาลสากลถูกกำหนดขึ้น เพื่อสดุดีคุณงามความดีของ “ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล” ที่ทำประโยชน์ อย่างมากมาย ให้แก่มวลมนุษยชาติ รวมทั้ง เพื่อเป็นการยกย่อง ให้เกียรติ และให้คนยึดถือเอาเป็นแบบอย่าง

อีกทั้ง ยังมีจุดมุ่งหมาย ให้พยาบาลทั่วโลก ร่วมมือจัดกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ แก่สาธารณชน และกำหนดแนวทาง เพื่อให้พยาบาลทั่วโลก รณรงค์แก้ไขปัญหาสุขภาพในแต่ละปี โดยสำหรับในปี 2564 นี้ สภาพยาบาลระหว่างประเทศ ได้กำหนดแนวคิดไว้ว่า “เสียงแห่งพลัง นำวิสัยทัศน์ สู่การดูแลสุขภาพ ในอนาคต”

วันพยาบาลสากล

ทำความรู้จัก “ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล”

ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล เป็นชาวอังกฤษ เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ปี 2363 ที่เมืองฟลอเรนซ์ ประเทศอิตาลี ครอบครัวของไนติงเกล จัดว่ามีฐานะ จึงทำให้เธอ ได้รับการศึกษาอย่างดี เธอมีความตั้งใจที่จะเป็นพยาบาล และเมื่ออายุ 20 ปี ได้ขอบิดามารดาเรียนพยาบาล แต่ไม่ได้รับการอนุญาต เนื่องจากในสมัยนั้น งานพยาบาลไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร

แต่เธอก็ยังมุ่งมั่นที่จะทำงานเสียสละเพื่อดูแลผู้เจ็บป่วย จนหาโอกาสได้ไปเยี่ยม และดูงานตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ในทวีปยุโรป จนสุดท้ายไนติงเกล ก็ได้เข้าศึกษาอบรมวิชาพยาบาลที่ประเทศเยอรมนี

ต่อมาในปี 2400 เกิดสงครามไครเมียขึ้น ไนติงเกล ได้อาสาสมัครไปช่วยดูแลทหารที่ได้รับบาดเจ็บจากสงคราม เธอเสียสละทรัพย์สิน และขอเรี่ยไร จัดหาเครื่องเวชภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือทหาร อีกทั้งยังได้ออกตระเวนตรวจเยี่ยม เพื่อรักษาและให้กำลังใจทหารแม้ในเวลาค่ำคืน จนได้รับสมญานามว่า “สุภาพสตรีแห่งดวงประทีป” (The lady of the lamp)

ไนติงเกล ยังเป็นผู้ที่ริเริ่มเสนอแนวคิดเรื่องการรักษาความสะอาดในสถานพยาบาล เนื่องจากในสมัยนั้น ยังไม่มีคนรู้จักสิ่งที่เรียกว่า เชื้อโรค มากนัก เธอ คือผู้ที่สังเกตเห็นว่า ทหารที่มีบาดแผลสกปรก จนเกิดการอักเสบ จะมีอัตราการเสียชีวิตสูง และเรียกร้องให้มีการรักษาความสะอาดในสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด

วันพยาบาลสากล

หลังสงครามสิ้นสุดลง ไนติงเกล เดินทางกลับสหราชอาณาจักรในฐานะวีรสตรี และได้เข้าเฝ้า พระนางเจ้าวิคตอเรีย แห่งสหราชอาณาจักร  อย่างไรก็ตาม เธอถูกรุมเร้าด้วยพิษไข้มาโดยตลอด เป็นไปได้มากว่าเกี่ยวกับอาการเรื้อรังของ บรุคเซลโลซิส (Brucellosis) หรือ “ไข้ไครเมีย” (chronic fatigue syndrome) ซึ่งเธอติดมาตั้งแต่ช่วงสงครามไครเมีย และอาจเป็นไปได้ว่าเกิดร่วมกับ กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง

เธอจำต้องกันแม่และพี่สาวจากห้องของเธอ และนาน ๆ จึงจะออกจากห้องสักครั้ง เธอย้ายจากบ้านของครอบครัวในมิดเดิล เตลย์ดอน บัคกิงแฮมเชียร์ ไปอยู่ที่โรงแรมเบอร์ลิงตัน ในพิคคาดิลลี

เธอได้พัฒนากิจการพยาบาลให้ก้าวหน้าขึ้น จนในที่สุดได้มีผู้ร่วมกันก่อตั้งกองทุนการศึกษาสำหรับพยาบาล “ไนติงเกล” เพื่อเป็นเกียรติแก่เธอ

จากนั้น ไนติงเกล ก็ได้รับการยอมรับให้เป็นผู้จัดระเบียบด้านสุขภาพในกองทัพประเทศอังกฤษ และวางแผนงานด้านสุขาภิบาลในอินเดีย จนก่อตั้งโรงเรียนพยาบาลที่เป็นต้นแบบ ของโรงเรียนพยาบาลทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังได้รับการยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ในฐานะผู้บุกเบิกวิชาชีพการพยาบาลอีกด้วย

วันพยาบาลสากลในประเทศไทย

สำหรับในประเทศไทยนั้น สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ได้เข้าเป็นองค์กรสมาชิกของสภาพยาบาลระหว่างประเทศ เมื่อปี 2504 และได้จัดกิจกรรมวันพยาบาลสากลเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2529  โดยรองศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร ทวีลาภ นายกสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยในขณะนั้น ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และองค์การยูนิเซฟ จัดกิจกรรมวันพยาบาลสากลขึ้นมา

ในปีต่อ ๆ มาก็มีการจัดกิจกรรมเนื่องในวันพยาบาลสากลมาโดยตลอด ซึ่งเป้าหมายในการจัดกิจกรรมนี้ รวมถึง การเผยแพร่บทบาทของพยาบาลต่อสุขภาพของประชาชน

วันพยาบาลสากล

กิจกรรมในวันพยาบาลสากล มักจัดขึ้นในสถานพยาบาล โดยหน่วยงานทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง จะร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวข้องกับการพยาบาล เช่น

  • จัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้
  • นิทรรศการเกี่ยวกับสุขภาพ
  • จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ
  • ตรวจสุขภาพ และคัดกรองโรค
  • รณรงค์ให้มีการดูแลสุขภาพในครอบครัว
  • จัดประชุมวิชาการเกี่ยวกับการแพทย์ และการพยาบาล
  • ให้คำปรึกษาด้านการสุขภาพแก่ประชาชน
  • ให้การบริการพยาบาลแก่ประชาชน และรับบริจาคโลหิต

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo