General

1 พฤษภาคม ‘วันแรงงาน’ กับ ‘สิทธิ’ ที่แรงงานพึงรู้

วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี คือ วันที่ทุกคนรู้กันว่าเป็น “วันแรงงาน” แต่กว่าจะมาเป็นอย่างทุกวันนี้ ก็มีประวัติ และพัฒนาการ มาอย่างยาวนาน

แต่เดิมนั้น ประเทศในแถบยุโรปจะนับว่า วันเมย์ เดย์ (May Day) คือวันแรกของเดือนพฤษภาคม เป็นวันเริ่มต้นฤดูใหม่ในหน้าเกษตรกรรม จึงได้จัดให้มีพิธีเฉลิมฉลองและทำการบวงสรวง เพื่อขอให้เทพเจ้าช่วยดลบันดาลให้การปลูกพืชเป็นไปด้วยดี อีกทั้งยังขอให้ประชาชนอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบ มีความร่มเย็นเป็นสุข

ทางภาคเหนือของยุโรป ยังมีการจัดงานรอบกองไฟในวันเมย์ เดย์นี้ด้วย ซึ่งประเพณีนี้ในประเทศอังกฤษก็ยังคงปฏิบัติกันสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ในตอนแรกนั้น วันเมย์ เดย์ ถือเป็นเพียงแค่วันหยุดพักผ่อนประจำปี แต่ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมหลาย ๆ แห่ง ได้ถือว่าวันนี้เป็นวันหยุดตามประเพณี โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ประชาชนตระหนัก ถึงความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่ได้ทำประโยชน์ต่าง ๆ ต่อเศรษฐกิจของประเทศ

ความหมายของวันเมย์เดย์จึงเปลี่ยนไปจากเดิม จนเมื่อปี 2433 ได้มีการออกมาเรียกร้องในหลายประเทศทางแถบตะวันตกให้ถือเอาวันที่ 1 พฤษภาคม เป็น วันแรงงานสากล ทำให้ในหลายประเทศได้เริ่มมีการจัดงานเฉลิมฉลองวันแรงงานเป็นขึ้นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2433 และสืบทอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

วันแรงงาน

วันแรงงาน ในไทย

การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย ที่ทำให้อุตสาหกรรมต่างๆ ขยายตัวมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้แรงงานต่างก็มีปัญหาที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งปัญหาแรงงานบางอย่าง ก็ซับซ้อนยากที่จะแก้ไขได้ ทำให้ในปี 2475  ประเทศไทยได้เริ่มมีการจัดการบริหารแรงงาน โดยเป็นการจัดสรรและพัฒนาแรงงาน ตลอดจนคุ้มครอง และดูแลสภาพการทำงานของแรงงาน เพื่อสร้างรากฐาน และส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้างให้ดีขึ้น

วันที่ 20 เมษายน 2499 คณะกรรมการจัดงานที่ระลึกแรงงานได้จัดประชุมขึ้น โดยมีความเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคม ให้เป็นวันที่ระลึกถึงแรงงานไทย จึงได้มีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ถึงนายกรัฐมนตรี ทำให้นับแต่นั้นมา วันที่ 1 พฤษภาคม จึงกลายเป็น วันกรรมกรแห่งชาติ ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะเปลี่ยนชื่อเป็น วันแรงงานแห่งชาติ

ในปี 2500 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน ที่กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิ์หยุดงานในวันแรงงานแห่งชาติได้ แต่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีอายุได้เพียง 18 เดือนก็ถูกยกเลิกไป โดยมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 มาแทนที่ และให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกำหนดเรื่องการคุ้มครองแรงงาน อีกทั้งยังกำหนดให้วันกรรมกรเป็นวันหยุดตามประเพณี

แต่เนื่องด้วยสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นมีความไม่แน่นอน จึงมีคำชี้แจงออกมาในแต่ละปีเพื่อเป็นการเตือนนายจ้างให้ลูกจ้างหยุดงานในวันที่ 1 พฤษภาคม โดยในบางมีก็ได้มีการขอร้องไม่ให้มีการเฉลิมฉลองเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

จนกระทั่งมาถึงปี 2517 ได้เปิดโอกาสให้มีการเฉลิมฉลองตามสมควร โดยได้มอบหมายให้กรมแรงงาน ที่ขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทยจัดงานฉลองวันแรงงานแห่งชาติขึ้นที่สวนลุมพินี ภายในงานได้มีการจัดให้ทำบุญตักบาตร มีนิทรรศการแแสดงความรู้ ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย

วันแรงงานแห่งชาติ ไม่ถือว่าเป็นวันหยุดราชการ หน่วยงานราชการก็ยังคงเปิดทำงาน และให้บริการตามปกติ ส่วนที่มีการหยุดงานจะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชนเท่านั้น

วันแรงงาน

สิทธิแรงงาน

ขอบเขตของ “สิทธิแรงงาน” ครอบคลุมไปอย่างกว้างขวางมาก ทั้งในความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างกับนายจ้าง ทั้งสิทธิทางกฎหมาย และสิทธิมนุษยชน เช่น อัตราค่าจ้าง  จำนวนชั่วโมงการทำงาน สภาพแวดล้อม และความปลอดภัยในที่ทำงาน หรือ สิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน

สิทธิแรงงานมักจะได้รับการรับรองโดยการออกฎหมายว่าด้วยสิทธิแรงงาน การจำกัดชั่วโมงการทำงาน และการกำหนดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ โดย สิทธิแรงงานได้รับความสำคัญมากยิ่งขึ้น ในช่วงหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งเปลี่ยนแรงงานทางการเกษตร เป็นแรงงานในโรงงานอุตสาหกรรม และแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการอุตสาหกรรม เช่น เหมืองแร่ต่าง ๆ

โดยมีการออกกฎหมายแรงงานในอังกฤษเมื่อปี 2376 ซึ่งมีเนื้อหาในการห้ามการใช้แรงงานเด็ก กำหนดค่าแรงขั้นต่ำ และจำกัดชั่วโมงการทำงานต่อวัน โดยห้ามการใช้แรงงานเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 9 ปี เด็กที่มีอายุ 9-13 ปีทำงานได้ไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง และเด็กอายุ14-18 ปีทำงานได้ไม่เกินวันละ 12 ชั่วโมง

กระบวนการปฏิวัติอุตสาหกรรมยังได้เพิ่มแนวคิด เกี่ยวกับสิทธิแรงงานเข้าไปในสิทธิมนุษยชน โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อว่า แรงงานก็เป็นมนุษย์ ควรได้รับการปฏิบัติในฐานะมนุษย์ มิใช่ทาสในระบบแรงงานทาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นครั้งแรก รวมถึงกระแสลัทธิสังคมนิยมของ “คาร์ล มาร์กซ์” ที่วิพากษ์ระบบทุนนิยม ซึ่งกดขี่ชนชั้นกรรมาชีพในโรงงานอุตสาหกรรมว่า ไม่เป็นธรรมอย่างร้ายกาจ

วันแรงงาน

สิทธิแรงงานในไทย 

นโยบายด้านการคุ้มครอง และดูแลแรงงานของไทย เริ่มต้นในสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปี 2475 โดยการจัดการให้ราษฎรมีงานทำนั้น เป็นหนึ่งในหลัก 6 ประการที่ประกาศโดยคณะราษฎรอยู่แล้ว

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่กี่เดือน ในเดือนสิงหาคมได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักจัดหางาน พ.ศ. 2475 ให้เอกชนเปิดสำนักจัดหางาน และเรียกเก็บค่าบริการจากประชาชนได้ ต่อมาในเดือนตุลาคมจึงมีการออกพระราชบัญญัติสำนักจัดหางานประจำท้องถิ่น พ.ศ. 2475 โดยรัฐเปิดสำนักงานจัดหางานให้ประชาชนเข้าใช้บริการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

กรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ได้รับการโอนไปจัดตั้งเป็น “กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม” ในปี 2536 และเปลี่ยนชื่อเป็น “กระทรวงแรงงาน” ในปี 2545

นโยบายขององค์การการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งรวมมาตรฐานสิทธิแรงงาน และสิทธิมนุษยชนเข้าไปในระเบียบการค้า และตลาดสำคัญ ของไทย อย่าง สหภาพยุโรป ที่หันมากีดกันการค้า ด้วยนโยบายเกี่ยวกับแรงงาน สิทธิมนุษยช นแทนกำแพงภาษี ทำให้ระบบกฎหมายแรงงานของไทย ต้องปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานสิทธิแรงงานโลก

สำหรับสิทธิแรงงานในปัจจุบันของไทย มีการออกกฎหมายเพื่อให้บริการจัดหางาน และการชดเชยสำหรับผู้ว่างงาน การให้การคุ้มครองและสวัสดิการแรงงาน และการคุ้มครองในกรณีถูกเลิกจ้าง

รวมถึงกฎหมายสำหรับแรงงานเด็ก แรงงานสตรี แรงงานคนพิการ การส่งเสริมและพัฒนาทักษะวิชาชีพประเภทต่างๆ เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสิทธิแรงงานนั้น เน้นไปที่การคุ้มครองแรงงาน และสวัสดิการแรงงาน

วันแรงงาน

การคุ้มครองแรงงาน ประกอบไปด้วย

  • จำกัดชั่วโมงทำงานต่อวัน (ไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง หรือตามที่ตกลงกัน ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างสำหรับงานทั่วไป และไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์สำหรับงานที่มีอันตราย)
  • สิทธิในการหยุดพักระหว่างทำงาน (ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง หลังจากทำงานมาแล้ว 5 ชั่วโมง)
  • วันหยุดประจำสัปดาห์ (ไม่น้อยกว่า 1 วัน) ตามเทศกาลประเพณี (ไม่น้อยกว่า 13 วันต่อปี) และวันหยุดพักผ่อนประจำปี
  • จำกัดชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา (ไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์)
  • การลาหยุด และลากิจ ประเภทต่าง ๆ
  • การชดเชยในกรณีเลิกจ้าง
  • การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ
  • การคุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี ที่มีการคุ้มครองแรงงานเด็ก (ที่มีอายุระหว่าง 15-18 ปี) และสตรี ว่า ไม่สามารถกระทำงานประเภทใดได้บ้าง

สวัสดิการแรงงานที่นายจ้างต้องจัดให้นั้น มีตั้งแต่การจัดการสถานที่ทำงาน การจัดเตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาล และสวัสดิการเพื่อความเป็นอยู่ของลูกจ้าง เช่น จัดทำประกันสังคม สหกรณ์ออมทรัพย์ ระบบบำเหน็จบำนาญ โครงการฝึกอบรมวิชาชีพ การให้การศึกษา และจัดกิจกรรมนันทนาการเพื่อสุขภาพ เป็นต้น

34984703 398193463923289 1087511325942218752 n

ช่องทางร้องเรียน เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรม

หากแรงงาน หรือลูกจ้าง ได้รับความไม่เป็นธรรม ถูกนายจ้างเอารัดเอาเปรียบ ทำผิดกฎหมายแรงงาน สามารถดำเนินการได้ ดังนี้

ร้องทุกข์ (ร้องเรียน) ต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด หรือเขตพื้นที่ 1 – 10 แล้วแต่กรณี (ชื่อผู้ร้องเรียนเป็นความลับตามกฎหมาย และไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น) , สายด่วน 1546 , เว็บไซต์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ฟ้องร้องต่อศาลแรงงานกลาง หรือศาลแรงงานภาค 1 – 9 แล้วแต่กรณี  ไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่จำเป็นต้องจ้างทนายความ สามารถฟ้องปากเปล่าเองได้ ซึ่งจะมีนิติกรคอยให้ความช่วยเหลือร่างฟ้องให้

ทั้งนี้ ลูกจ้างจะต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่ง ได้เพียงทางเดียว จะใช้สิทธิพร้อมกันทั้ง 2 ทางไม่ได้

34818234 398193490589953 8669897520022814720 n

34836765 398193520589950 5239274555343634432 n

34841709 398193560589946 4339473306194280448 n

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo