ครม. ไฟเขียว “ต้มยำกุ้ง” เป็นตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ชง ยูเนสโก พิจารณาขึ้นทะเบียน
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้กระทรวงวัฒนธรรม เสนอ “ต้มยำกุ้ง” (Tomyum Kung) เป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อยูเนสโก ในปี 2564 นี้ ต่อจาก “โนรา” และ “สงกรานต์ในประเทศไทย” ที่เสนอไปแล้ว และอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของยูเนสโก
ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีมรดกภูมิปัญญาฯ ได้รับการขึ้นทะเบียนของยูเนสโกแล้ว 2 รายการ คือ โขนและนวดไทย เมื่อปี 2561 และ ปี 2562 ตามลำดับ
ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เห็นความสำคัญของ “ต้มยำกุ้ง” อาหารประจำชาติที่ขึ้นชื่อและเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก ด้วยเป็นอาหารที่มีคุณค่าสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชุมชนเกษตรกรรมริมแม่น้ำลำคลองในภาคกลางของไทย ที่มีวัฒนธรรมการบริโภคอาหารอย่างเรียบง่าย พึ่งพิงธรรมชาติและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ มีการสืบทอดการทำต้มยำกุ้งในครัวเรือนอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบวิชาชีพด้านอาหาร ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ บุคคล หน่วยงานต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าขององค์ความรู้ ซึ่งภูมิปัญญาการทำต้มยำกุ้ง นอกจากจะมีการสืบทอดอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังแพร่กระจายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์สูตรต้มยำกุ้งที่แปลกใหม่มากมาย ที่ตอบสนองต่อสภาพทางภูมิศาสตร์ วิถีชีวิตและรสนิยมทางอาหารที่แตกต่างกันไป ของคนกลุ่มต่าง ๆ
สำหรับการเสนอ “ต้มยำกุ้ง” เพื่อขึ้นทะเบียนมรดกวัฒนธรรมฯ ของมนุษยชาติกับยูเนสโก นอกจากจะสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนไทยแล้ว ยังกระตุ้นให้ตระหนักถึงความสำคัญและเห็นคุณค่าในมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของตน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเรียนรู้ในความหลากหลายของอาหารไทย สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่ออาหารของไทยในระดับนานาชาติ ทั้งยังสร้างโอกาสทางการตลาดให้ธุรกิจอาหารไทย
นอกจากนี้ ยังเกิดการสร้างงานและรายได้ให้แก่ผู้ผลิตวัตถุดิบ อันได้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง เกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร ผู้ส่งออก และผู้ประกอบการร้านอาหารไทย ทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย
สิ่งที่ประเทศไทยต้องดำเนินการหาก “ต้มยำกุ้ง” ได้รับการขึ้นทะเบียน คือ การจัดทำรายงานสถานะปัจจุบันของมรดกวัฒนธรรมฯ ที่แสดงถึงผลสำเร็จ ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการสงวนรักษา และดำเนินการตามมาตรการการสงวนรักษา “ต้มยำกุ้ง” อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน และความมั่นคงด้านอาหาร และส่งเสริมการศึกษาวิจัยการพัฒนานวัตกรรมอันเกี่ยวกับภูมิปัญญาด้านอาหาร ทั้งการศึกษาในระบบและนอกระบบ เช่น เทคโนโลยีและนวัตกรรมเกี่ยวกับการถนอมอาหาร คุณภาพของวัตถุดิบ และการรักษาความสดใหม่ และคุณค่าทางโภชนาการ
พร้อมกันนี้ จะให้การส่งเสริมการตลาด เพื่อเพิ่มความต้องการการบริโภคอาหารไทยให้ได้รับความนิยม ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง อันจะส่งผลดีอุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘ยูเนสโก’ รับเรื่องแล้ว ‘กะเหรี่ยงบางกลอย’ ขอชะลอ ‘แก่งกระจาน’ ขึ้นทะเบียนมรดกโลก
- ไทยเสนอ ‘สงกรานต์’ ยูเนสโกปีหน้า เป็น ‘มรดกวัฒนธรรมจับต้องไม่ได้’
- อาหารไทย พลิกวิกฤติโควิด สร้างโอกาส ส่งออกตลาดโลก