General

กสม. เปิดผลสอบ ‘สารสาสน์ราชพฤกษ์’ จี้เปิดให้ผู้ปกครองร่วมเฝ้าระวัง ‘ทำร้ายเด็ก’

กสม. เปิดผลสอบกรณี “ครูพี่เลี้ยง” ละเมิดสิทธิเด็ก จี้ “สารสาสน์ราชพฤกษ์” ให้ผู้ปกครองร่วมเฝ้าระวัง “ทำร้ายนักเรียน” เข้มคัดกรองบุคลากร

จากกรณีบุคลากรของโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์กระทำความรุนแรงต่อเด็กนักเรียนปฐมวัยดังที่ปรากฏข่าวในสื่อมวลชนเมื่อช่วงปลายเดือนกันยายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นกรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) หยิบยกขึ้นตรวจสอบตามหน้าที่และอำนาจมาตรา 34 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 นั้น

กสม. สารสาสน์ราชพฤกษ์

ล่าสุดนางประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวว่า บุคลากรบางคนของ โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ มีพฤติกรรมกระทำความรุนแรงต่อเด็กนักเรียนซึ่งส่งผลกระทบทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และพัฒนาการของเด็ก อันเป็นการละเมิดสิทธิเด็ก ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กรณีที่เกิดขึ้นจึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

โดยปัจจุบันมีการดำเนินคดีทางอาญากับพี่เลี้ยงที่กระทำการละเมิดในข้อหาทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่ร่างกายและจิตใจ และข้อหากระทำหรือละเว้นการกระทำที่ก่อให้เกิดการทารุณต่อเด็กแล้ว

ขณะที่โรงเรียนฯ ได้ยอมรับในความบกพร่องของการบริหารงาน และอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งในส่วนการปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงระหว่าง โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ กับ กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อดำเนินการชดเชยเยียวยาเป็นตัวเงิน การจัดให้มีนักจิตวิทยาและการติดตั้งกล้องวงจรปิดเพิ่มเติม

S 10969242 e1616045248591

กสม. จี้ “สารสาสน์ราชพฤกษ์” เปิดผู้ปกครองมีส่วนร่วม

ในการนี้ กสม. จึงมีมาตรการหรือแนวทางในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์เพื่อให้ดำเนินการภายใน 60 วันนับจากได้รับรายงานฉบับนี้

โดยกำหนดให้ โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ควรสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองหรือชุมชน เช่น การเปิดพื้นที่ให้มีการจัดตั้งชมรมหรือสมาคมผู้ปกครองเพื่อเป็นส่วนช่วยในการเฝ้าระวังและรายงานปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนซึ่งจะทำให้เกิดการเยียวยาแก้ไขปัญหาได้ทันต่อสถานการณ์ รวมทั้งควรเพิ่มมาตรการคัดกรองบุคลากรทางการศึกษาและตรวจสอบคุณสมบัติให้มีความเหมาะสม โดยอาจกำหนดเป็นแนวปฏิบัติที่มีความชัดเจนและตรวจสอบได้

นายประกายรัตน์ กล่าวต่อไปว่า แม้กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนจะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการแก้ไขปัญหาข้างต้น และได้มีการกำกับดูแล โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องตามกลไกที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งการใช้ระบบสารสนเทศสถานศึกษาเอกชน (PSIS) ในการควบคุมการดำเนินการของโรงเรียนตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว

แต่ปัญหาความรุนแรงดังกล่าวยังคงเกิดขึ้น และมีแนวโน้มว่าปัญหาในลักษณะเดียวกันอาจเกิดขึ้นได้อีกในสถานศึกษาเอกชนอื่น ซึ่งสะท้อนให้เห็นปัญหาเชิงระบบในการกำกับดูแลสถานศึกษาเอกชนในภาพรวม จึงมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

  1. กระทรวงศึกษาธิการ ควรพิจารณาทบทวนโครงสร้างการบริหารงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนที่ก่อให้เกิดปัญหาและอุปสรรคในการกำกับดูแลโรงเรียนเอกชนทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างมีประสิทธิภาพ และพิจารณาเพิ่มอัตรากำลังให้มีความเหมาะสมต่อการทำงานในเชิงรุกและเชิงป้องกัน
  2. คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาเด็กปฐมวัย ควรพัฒนาหลักสูตรอบรมกลางสำหรับผู้ทำหน้าที่ผู้ช่วยครู หรือพี่เลี้ยง ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับคุณสมบัติของบุคลากรที่พึงมีตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาความรุนแรงต่อเด็กจากบุคลากรกลุ่มดังกล่าวอย่างยั่งยืน
  3. คุรุสภาควรส่งเสริมให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา โดยเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพครูมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทหน้าที่การคุ้มครองเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กในทุกกระบวนการของการเข้าสู่วิชาชีพและการประกอบวิชาชีพ โดยอาจกำหนดเพิ่มเติมในมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ หรือกำหนดเป็นเงื่อนไขในการต่อใบอนุญาตวิชาชีพ
  4. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ควรพิจารณาผลักดันให้มหาวิทยาลัยที่ผลิตบุคลากรทางศึกษาจัดทำหลักสูตรสำหรับผู้ที่ทำหน้าที่ผู้ช่วยครู หรือพี่เลี้ยง ให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับคุณสมบัติของบุคลากรที่พึงมีตามมาตรฐานสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยแห่งชาติและหลักวิชาการการศึกษาปฐมวัย และควรสนับสนุนให้มีการบรรจุหลักการตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กไว้ในหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตบุคลากรทางการศึกษาทุกระดับ

สารสาสน์

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ข่าวครูพี่เลี้ยงของโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ทำร้ายเด็กอนุบาลกลายเป็นข่าวดังในปี 2563 เมื่อมีการเผยแพร่คลิปภาพจากกล้องวงจรปิดพบภาพ น.ส.อรอุมา ปลอดโปร่ง (ครูจุ๋ม) ครูพี่เลี้ยงประจำชั้นอนุบาล 1 โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ก่อเหตุมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรง ทำร้ายเด็กอนุบาล ทั้งผลักเด็ก จับหัวดึงผม ใช้ไม้กวาดตีเด็ก โขกหัวเด็ก

เมื่อเปิดกล้องวงจรปิดตรวจสอบเพิ่มเติม ตำรวจพบว่ามีเหตุการณ์ที่เด็กถูกทำร้าย 58 ครั้ง มีครูและพี่เลี้ยงที่กระทำกับเด็กถึง 13 คน นอกจากนี้ ครูหลายคนในโรงเรียนก็ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ

เรื่องดังกล่าว สร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้ปกครองที่ไว้วางใจให้ลูกหลานเข้าเรียนที่โรงเรียนสารสาสน์วิเทศอย่างมาก ทั้งในโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์เอง และโรงเรียนในเครือสารสาสน์ที่มีสาขาเครือข่ายถึง 49 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด มีนักเรียนนักศึกษาในเครือข่ายกว่า 90,000 คน ที่สำคัญคือ เป็นโรงเรียนที่มีค่าเทอมแพงติดอันดับ โดยค่าเทอมในระดับชั้นเนิร์สเซอรีและอนุบาลอยู่ที่เทอมละประมาณ 17,000 บาท ส่วนระดับเกรด 1 – 12 เทอมละ 33,000-34,000 บาท

พิบูลย์ ประธานเครือสารสาสน์

นอกจากนี้ การให้สัมภาษณ์ของนายพิบูลย์ ยงค์กมล ประธานผู้อำนวยการเครือโรงเรียนสารสาสน์ ก็ทำให้สังคมเกิดการวิพากษ์วิจารณ์หลายครั้งถึงความเหมาะสม เช่น นายพิบูลย์ให้สัมภาษณ์กับรายการ ห้องสืบสวน เกี่ยวกับผลกระทบด้านจิตใตต่อเด็กใน โรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ โดยนายพิบูลย์ตั้งคำถามว่าเด็กไม่มีภูมิคุ้มกันอะไรเลยหรือ และให้มองเรื่องที่เกิดขึ้นในแง่บวก ทำให้เด็กมีประสบการณ์ที่ไม่ดีบ้าง

“แล้วจะมาอ้างกระทบจิตใจ ฝ่ายจิตใตฝ่ายอะไรเนี่ย มันพิสูจน์ได้ไหม กระทบขนาดไหน มันไม่มีภูมิคุ้มกันอะไรกันบ้างเลยเหรอ อย่าเอา เอ่อ เกิดมาเป็นเทวดา ใครแตะต้องอะไรไม่ได้เลยเหรอ”

“อันนี้ก็เป็นคิดในแง่บวกว่า เอ่อ อันนี้นะ ให้เด็กมันรู้จักมีประสบการณ์ในแง่ไม่ดีบ้าง แต่ว่าไม่ใช่ไม่รักษา เราก็รักษา ในเมื่อมันเกิดมาแล้ว จะไปแก้ยังไง ก็ต้องคิดในแง่บวกสิ ถึงจะถูก”

“ไม่ใช่เกิดมาแล้ว ไปรื้อฟื้นเอามา ให้ได้ มันย้อนหลังไม่ได้หรอก”

รวมถึงกรณีที่นายพิบูลย์ให้สัมภาษณ์ผ่านวิดีโอคอลในรายการ โหนกระแส ยอมรับ เป็นครูตั้งแต่อายุ 18 ปี ยังไม่เคยมีใบประกอบวิชาชีพ

“ไม่มี เราก็ขอผ่อนผันเอา ระเบียบนี้เพิ่งมา ครูทั่วประเทศก็ไม่มี แม้แต่ผมเอง เป็นครูตั้งแต่อายุ 18 เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีใบประกอบวิชาชีพด้วย”

“จะผิดอะไร ผมไม่ได้เป็นครูแล้ว จะหาเรื่องอะไรอีกล่ะ”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo