General

ดัชนีการรับรู้การทุจริต ไทยหล่น 3 อันดับ อยู่ที่ 104 จาก 180 ประเทศทั่วโลก

ดัชนีการรับรู้การทุจริต จากผลสำรวจ 180 ประเทศ ไทยอยู่อันดับ 104 หล่นจาก 101 ในปี 2562 โดยนิวซีแลนด์-ราชอาณาจักรเดนมาร์ก สูงสุด 88 คะแนน

วันนี้ (2 มี.ค. 2564) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี รับทราบรายงานผลการวิเคราะห์ ดัชนีการรับรู้การทุจริต  (Corruption Perceptions Index : CPI) ประจำปี 2563 ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.)รายงาน โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

ดัชนีการรับรู้การทุจริต
View on pieces of paper with words CORRUPTION through magnifier glass on black background

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้ประกาศผลคะแนนดัชนี ชี้วัดการรับรู้การทุจริต ประจำปี 2563 เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2564 โดยในครั้งนี้ มีประเทศที่เข้าร่วมการประเมินทั้งหมด 180 ประเทศ สำรวจโดยอาศัยการประเมินจาก 13 แหล่งดัชนี พบว่า 2 ใน 3 ของประเทศที่เข้ารับการประเมิน มีระดับคะแนนที่ต่ำกว่า 50 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน และเฉลี่ยระดับคะแนนอยู่ที่ 43 คะแนน

สำหรับประเทศที่ได้รับคะแนนสูงที่สุด 88 คะแนน คือ นิวซีแลนด์ และราชอาณาจักรเดนมาร์ก รองลงมามีคะแนน 85 คะแนน คือ สาธารณรัฐฟินแลนด์ สมาพันธรัฐสวิส สาธารณรัฐสิงคโปร์ และราชอาณาจักรสวีเดน

ส่วนประเทศที่ได้รับคะแนนน้อยที่สุดคือ สาธารณรัฐเซาท์ซูดาน กับสหพันธ์สาธารณรัฐโซมาเลีย ได้รับคะแนนเพียง 12 คะแนน เท่านั้น

ในส่วนของประเทศไทย ได้รับคะแนน 36 คะแนน อยู่ในลำดับที่ 104 จากประเทศที่เข้าร่วมประเมินทั้งหมด180 ประเทศ โดยได้คะแนนเท่ากับปี 2562 แต่ลำดับลดลง 3 อันดับ จากลำดับเดิม 101 ไปอยู่ในลำดับที่ 104

นอกจากนี้ ยังพบว่า ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 5 ของประเทศสมาชิกอาเซียน รองจาก สาธารณรัฐสิงคโปร์ 85 คะแนน เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ตามด้วยอันดับ 2 บรูไน อันดับ 3 มาเลเซีย ได้ 51 คะแนน เท่ากัน อันดับ 4  อินโดนีเซีย 37 คะแนน โดยไทยมีคะแนนเท่ากับสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ที่ 36 คะแนน

corruption ๒๑๐๓๐๒

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมคะแนนของไทย ไม่มีการเปลี่ยนแปลง และเมื่อเปรียบเทียบ คะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริตของไทย กับประเทศในภูมิภาคอาเซียน พบว่า ในหลายประเทศ มีผลคะแนนลดลง ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา

คะแนนที่ได้ดังกล่าว จึงเป็นเครื่องสะท้อนว่า ไทยยังคงรักษาสถานะในการแข่งขันระดับนานาชาติไว้ได้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19)

ขณะที่ การประเมินจากที่อื่น ๆ 8 แห่งพบว่า ส่วนใหญ่ ไทยมีคะแนนเท่าเดิม โดยมีคะแนนลดลงเพียง 1 แห่ง คือ IMD World Competitiveness Center World Competitiveness Yearbook Executive Opinion Survey 2020 ซึ่งเป็นแหล่งที่มีการประเมินคำถาม เกี่ยวกับการให้สินบน และการทุจริตคอร์รัปชัน ยังคงมีอยู่หรือไม่ โดยสำรวจจากนักธุรกิจ จำนวน 4,300 คนทั่วโลก

ดังนั้น ไทยยังคงต้องมีการขับคลื่อนการดำเนินการ เพื่อลดการให้สินบน และขจัดอุปสรรค ในการดำเนินธุรกิจ สร้างความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน ของเจ้าหน้าที่รัฐเพิ่มขึ้น

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้มีข้อเสนอแนะ ในสถานการณ์โควิด-19 ดังนี้

  • สร้างความเข้มแข็งในการจัดการสถานการณ์  ในหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการละเลยการป้องกันการทุจริตที่ดี ไม่มีการส่งเสริมการสร้างความโปร่งใส ในการจัดการกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีเพียงพอ
  • เพิ่มความโปร่งใส ในการจัดซื้อจัดจ้าง เนื่องจากหลายประเทศ มีการผ่อนคลายกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ในการดำเนินการป้องกัน และบริหารสถานการณ์โควิด-19 จึงอาจจะทำให้เกิดปัญหาทุจริต ในกระบวนการการจัดซื้อจัดจ้างได้
  • ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ โดยควรเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วม ของภาคส่วนต่าง ๆ ในการกำหนดกลไกการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ทั้งภาคการเมือง ภาคประชาสังคม และสื่อสารมวลชน
  • เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับความรุนแรงของสถานการณ์ และการรับมือของรัฐบาล ให้ประชาชนรับรู้ และสามารถเข้าถึงได้ง่าย

สำนักงาน ป.ป.ท. เห็นควรกำหนดมาตรการ ในการยกระดับ ค่าดัชนีการรับรู้การทุจริต 5 มาตรการ ดังนี้

1. การจัดการเพื่อไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตน กับผลประโยชน์สาธารณะในระบบราชการ เช่น พัฒนาการประเมินความเสี่ยง ด้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้มีประสิทธิภาพ กำหนดให้มีการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย และพัฒนากรอบการแสดงบัญชีทรัพย์สิน สถานะทางการเงิน และผลประโยชน์อื่นใดของเจ้าหน้าที่รัฐ

2. การกำกับการวิ่งเต้น เพื่อลดการชี้นำการตัดสินใจ ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ เช่น พัฒนาแนวทางการดำเนินการข้อตกลงสัญญาคุณธรรม ส่งเสริมและรณรงค์ไม่ให้ข้าราชการรับของขวัญ ของกำนัล จากการปฏิบัติหน้าที่

3. การจัดการกับระบบพวกพ้อง เพื่อให้การดำเนินการของหน่วยงานภาครัฐ เป็นไปด้วยความเสมอภาค เช่น จัดทำกลไก หรือระบบการประเมินผล การให้บริการสาธารณะ และการจัดสรรทรัพยากรภาครัฐ โดยให้ประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีส่วนร่วม และลดความเสี่ยง ในการใช้อิทธิพลในกระบวนการจัดทำนโยบายสาธารณะ

4. การส่งเสริมสิทธิพลมือง เพื่อส่งเสริมให้ภาคประชาชน มีส่วนร่วมในการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต เช่น พัฒนาอาสาสมัครภาครัฐ ให้เป็นกลไกติดตามเฝ้าระวังความเสี่ยงการทุจริต สนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคมในการต่อต้านการทุจริต เปิดเผยข้อมูล และสร้างการรับรู้ทุกมิติ

5. การส่งเสริมการตรวจสอบถ่วงดุล เพื่อบังคับใช้กฎหมาย ในการนำตัวผู้กระทำความผิด มาลงโทษอย่างรวดเร็ว เป็นธรรม มีประสิทธิภาพ เช่น ยกระดับการบังคับใช้ มาตรการทางการบริหาร (วินัย/ปกครอง/อาญา)

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo