General

ครม.เคาะ เลื่อนแผน ขยายอายุเกษียณราชการ จาก 60 เป็น 63 ปี

ครม. ไฟเขียวชะลอ ขยายอายุเกษียณราชการ จาก 60 เป็น 63 ปี ต้องพิจารณาการใช้งบประมาณบรรเทาผลกระทบโควิด ช่วยกลุ่มเปราะบาง

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ข้าราชการพลเรือน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (สำนักงาน ก.พ.) เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารบุคลากรภาครัฐ ได้ดำเนินการศึกษาแนวทางการ ขยายอายุเกษียณราชการ ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคมมาระยะหนึ่งแล้ว โดยกำหนดสาระสำคัญ ให้การขยายอายุเกษียณราชการ เป็นมาตรการเพื่อรองรับ สังคมสูงวัย

เกษียณอายุราชการ

ตามที่ประเทศไทย เข้าสู่ สังคมสูงวัย อย่างสมบูรณ์ในปี 2564 มีสัดส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป คิดเป็น 20% ของประชากรทั้งประเทศ และจะเพิ่มขึ้นเป็น 30% ภายในปี 2573 ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงต้องมีแผนรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัย

นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนให้บุคลากรภาครัฐ มีงานทำหลังเกษียณ รวมถึงการบริหารกำลังคนภาครัฐ ในช่วงวัยต่าง ๆ อย่างเหมาะสม

หนึ่งในแนวทางที่นำเสนอคือ การศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี โดยไม่ครอบคลุมหน่วยงาน ที่ต้องใช้ศักยภาพทางร่างกาย

อย่างไรก็ดี สำนักงาน ก.พ.ได้รับรายงานและข้อเสนอแนะ เรื่อง การจ้างข้าราชการภายหลังเกษียณอายุ 60 ปี เพื่อรองรับ สังคมสูงวัย ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา โดยสำนักงาน ก.พ. จัดให้มีการประชุมพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  มีข้อสรุปดังนี้

ขยายอายุเกษียณราชการ

1. เห็นด้วยกับการชะลอการขยายเกษียณอายุราชการ ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม (จากเกษียณอายุ 60 ปี เป็น 63 ปี) เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงระบบการคลังและงบประมาณของรัฐบาล ซึ่งควรใช้จ่ายงบประมาณที่มีจำกัด เพื่อให้เกิดการจ้างงานกลุ่มเปราะบางก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้น เมื่อสามารถจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้แล้ว จึงนำกลับมาพิจารณาใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป

2. เห็นด้วยกับการจ้างงาน เพื่อใช้ศักยภาพข้าราชการเกษียณ ที่เสนอให้มีการกำหนดทางเลือกที่หลากหลาย ในการจ้างงาน ข้าราชการที่เกษียณอายุราชการ ควบคู่ไปกับมาตรการขยายอายุเกษียณ

ทั้งนี้ ให้พิจารณาตามความจำเป็น และความต้องการบุคลากร ในแต่ละตำแหน่งสาขา เช่น ตำแหน่งที่ขาดแคลนกำลังคน ตำแหน่งที่ต้องการบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และให้พิจารณาจ้างข้าราชการเกษียณอายุในรูปแบบอื่น ๆ เช่น การจ้างเหมาบริการ การรับงานไปทำที่บ้าน เป็นต้น

3. เห็นด้วยกับการศึกษา เพื่อปฏิรูประบบบำเหน็จบำนาญ ของข้าราชการส่วนท้องถิ่น โดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบเรื่องดังกล่าว ได้มีการเตรียมความพร้อม และวิเคราะห์ข้อมูล ในส่วนที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง และจะได้มีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูล และแนวทางการดำเนินการ ที่เป็นรูปธรรม รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดรับกันต่อไป

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้เน้นย้ำความสำคัญ ของการบริหารบุคลากรภาครัฐในภาพรวม ซึ่งต้องพิจารณาดำเนินการในหลายมิติ ควบคู่กันไป ทั้งการลดกำลังคน การส่งเสริมบุคลากรคนรุ่นใหม่ การจ้างงานข้าราชการเกษียณที่มีศักยภาพในตำแหน่งขาดแคลน และการเตรียมรับ สังคมสูงวัย

ก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมาธิการติดตามการปฎิรูปด้านสังคมกิจการผู้สูงอายุและสังคมสูงวัย ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ของวุฒิสภา ได้ให้ความเห็นว่า ควรจะต้องทบทวน ชะลอ การขยายเกษียณอายุราชการ ออกไปก่อน

สำหรับแผนการขยายเกษียณอายุราชการ เป็นไปตามแผนปฎิรูปประเทศด้านสังคม ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2561 ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ ที่ได้กำหนดกรอบการเสริมสร้างศักยภาพผู้สูงอายุ ในการทำงาน เกี่ยวกับการขยายอายุเกษียณราชการจาก 60 ปี เป็น 63 ปี เพื่อรองรับการเข้าสู่ สังคมสูงวัย อย่างสมบูรณ์ ในปี 2564

ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่า ผู้สูงวัย ยังเป็นพลังงานสำคัญ ในการทำงาน และเพื่อให้ผู้สูงวัยมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ ประกอบกับ ผลสำรวจของสำนักงาน ก.พ. พบว่าในระยะ 3 ปี (ปี 2563 -2565 ) ส่วนราชการ 20 กระทรวง/หน่วย มีความต้องการจ้างงานผู้สูงอายุ มากถึง 2,199 คนหรือคือเป็น ร้อยละ 4.1 ของข้าราชการที่เกษียณในช่วงเวลาดังกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo