General

เตือนภัยด่วน! ยาเสพติด รูปแบบใหม่ ‘กระท่อมผสมยาเค’ ระบาดในวัยรุ่น

ยาเสพติด รูปแบบใหม่ น้ำกระท่อมผสมยาเค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เฝ้าระวังด่วน ระบาดในกลุ่มวัยรุ่น เพิ่งพบครั้งแรกในประเทศไทย

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากผลตรวจพิสูจน์ยาเสพติดในของกลาง น้ำต้มพืชกระท่อม ปีงบประมาณ 2563 (1 ตุลาคม 2562 ถึง 30 กันยายน 2563) รวมทั้งสิ้น 196 คดี จำนวน 546 ตัวอย่าง พบตัวอย่าง ได้รับจากเขตพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล มีการใช้ น้ำพืชกระท่อมผสมยาเค จำนวน 4 ตัวอย่าง น้ำหนักรวมกว่า 10 ลิตร ซึ่งถือว่าเป็น ยาเสพติด รูปแบบใหม่

ยาเสพติด รูปแบบใหม่

ทั้งนี้ นับเป็นการตรวจพบการใช้ ยาเสพติด ร่วมกัน รูปแบบใหม่ ที่ไม่เคยพบมาก่อน ซึ่งข้อมูลนี้ จะเป็นประโยชน์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้ติดตามป้องกัน ปราบปราม และควบคุมสถานการณ์ยาเสพติดของประเทศ

สำหรับพืชกระท่อม จัดเป็น ยาเสพติด ให้โทษในประเภท 5 ลำดับที่ 2 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2561 ซึ่งปัจจุบันพบว่า มีการนำพืชกระท่อมมาต้มเป็นน้ำต้มพืชกระท่อม และมีการนำใช้ในทางที่ผิดในหมู่วัยรุ่น เพื่อความสนุกสนาน คึกคะนอง ผสมกับสารอื่น ๆ ซึ่งรู้จักในชื่อ “สี่คูณร้อย”

ปัจจุบันพบว่า ส่วนใหญ่มีการใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบัน เช่น ยาแก้แพ้ ทำให้ง่วงซึม เช่น ไดเฟนไฮดรามีน และคลอร์เฟนิรามีน ยาแก้ปวด ทำให้เกิดอาการหลอน เช่น ทรามาดอล หรือวัตถุออกฤทธิ์ เช่น อัลปราโซแลม และโคลนาซีแพม ซึ่งเมื่อผสมเข้าด้วยกันแล้ว จะออกฤทธิ์ ทำให้เป็นอันตรายต่อร่างกายในระยะยาว ซึ่งจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุม โดยใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์

ขณะที่  คีตามีน (Ketamine) หรือที่รู้จักกันในหมู่ผู้ใช้ยาเสพติดว่า “ยาเค” จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ ในประเภท 2 ลำดับที่ 16 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 พ.ศ.2561 เป็นยาที่ใช้ในทางการแพทย์ เพื่อใช้เป็นยาสลบ หรือระงับปวด เป็นยาจำเป็น ขั้นพื้นฐาน สำหรับสถานพยาบาล และอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติในประเทศไทย

การใช้คีตามีน จะทำให้สูญเสียความทรงจำ มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงาน ของระบบไหลเวียนโลหิต และประสาทหลอนได้ มักพบการใช้คีตามีนในทางที่ผิด ในสถานบันเทิงร่วมกับยาอี เพื่อหวังฤทธิ์การหลอนประสาท  เมื่อนำมาผสมกับน้ำต้มพืชกระท่อม และรับประทานติดต่อกัน เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการทางจิต และเสพติด การใช้คีตามีนในขนาดที่สูง จะทำให้เกิดการอาเจียน ชัก สมองและกล้ามเนื้อขาดออกซิเจน และเสียชีวิตได้

ขณะที่ การตรวจพบ การใช้น้ำต้มพืชกระท่อม ร่วมกับ คีตามีน ในตัวอย่างของกลาง ที่ส่งมาตรวจยัง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แสดงให้เห็นถึง แนวโน้มสถานการณ์ การใช้ ยาเสพติด ร่วมกันรูปแบบใหม่ ที่ไม่เคยพบมาก่อนในประเทศ

ยาเสพติด1

ข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทราบ และใช้ติดตามป้องกัน ปราบปราม และควบคุมสถานการณ์ ยาเสพติด ของประเทศต่อไป

นายแพทย์ศุภกิจ กล่าวว่า สำนักยาและวัตถุเสพติด กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิง ด้านวัตถุเสพติดของประเทศ ได้ให้การสนับสนุน การป้องกันและแก้ไข ปัญหายาเสพติด แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน กรมราชทัณฑ์ และ หน่วยงานเอกชนทั่วประเทศ

การดำเนินงาน จะเป็นการตรวจ ยาเสพติด ในตัวอย่างของกลาง และสารเสพติดในปัสสาวะ เพื่อหาชนิดและปริมาณ ยาเสพติด แล้วนำผลการวิเคราะห์ ประกอบการพิจารณา ทางอรรถคดี รวมถึงดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันการแพร่ระบาด ของสารเสพติดชนิดใหม่ สารทดแทน หรือจากการนำยา ที่ใช้ในทางการแพทย์ ไปใช้ในทางที่ผิด  เพื่อช่วยแก้ไข ปัญหายาเสพติดของประเทศ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo