General

คุมเข้ม ขาย-โฆษณา อายุไม่ถึง 20 ปี ห้ามซื้อ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดอุบัติเหตุปีใหม่

คุมเข้ม ขาย-โฆษณา อายุไม่ถึง 20 ปี ห้ามซื้อ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมกำชับห้ามขายออนไลน์ ขับรถห้ามดื่มก่อนขับ มุ่งลดอุบัติเหตุทางถนนปีใหม่ 2564

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ครั้งที่ 3/ 2563 ได้เน้นย้ำการ คุมเข้ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยขอให้เข้มงวดใน 3 เรื่อง คือ การห้ามขายให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์, ห้ามขายลักษณะการลด แลก แจก แถม เสนอสิทธิการชิงโชค รับชมการแสดง และชิงรางวัล และการห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสดงชื่อ หรือเครื่องหมายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่เป็นการอวดอ้างสรรพคุณ หรือชักจูงใจให้ดื่ม

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นอกจากนี้ ยังขอให้กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด ของผู้ขับขี่ ที่เกิดอุบัติเหตุทุกราย ให้กระทรวงมหาดไทยจัดทีมเชิงรุกป้องกัน แยกผู้ดื่มในชุมชนไม่ให้ขับขี่พาหนะ และกรมคุมประพฤติ คัดกรอง ส่งต่อผู้กระทำความผิดและศาลสั่งคุมประพฤติทุกราย ที่ยินยอมเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา

ในกรณีผู้บาดเจ็บอายุต่ำกว่า 20 ปีและพบว่าดื่มสุรา ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ร่วมกับฝ่ายปกครอง สอบหาสถานที่และผู้ที่จำหน่ายหรือให้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เด็กและเยาวชน ดำเนินการตามกฎหมาย และให้ผู้ปกครองร่วมรับผิดชอบด้วย

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนแนวทาง ลดอุบัติเหตุทางถนน ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ภายใต้แนวคิด “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัย ขับไม่ดื่ม ดื่มไม่ขับ ไร้อุบัติเหตุ” เน้นสื่อสารขับไม่ดื่ม โดยผู้ต้องขับขี่รถ ให้งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า 6 ชั่วโมง

ส่วนผู้ประกอบการ ร้านค้า และผู้จัดกิจกรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ทุกราย ห้ามจัดจำหน่าย โดยมีโปรโมชั่นและการโฆษณาในสื่อทุกประเภท, ผู้ที่มีอำนาจในการอนุญาตให้จัดงาน การแสดงอื่นใดที่มีคนร่วมงานจำนวนมาก ต้องกำหนดให้ผู้จัดงานมีมาตรการที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ทั้งการคัดกรอง วัดอุณหภูมิ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง และการติดตามตัวผ่านแอปพลิเคชัน

อนุทิน 6
อนุทิน ชาญวีรกูล

นอกจากนี้ คณะกรรมการได้เห็นชอบ ร่าง แผนปฏิบัติการด้าน ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ระดับชาติ ระยะที่ 2 พ.ศ. 2564 – 2570 โดยมีเป้าหมาย ป้องกันและควบคุมปัญหา จากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใช้กลยุทธ์ตาม SAFER ของ WHO คือ

1. ควบคุมและจำกัดการเข้าถึง

2. ควบคุมพฤติกรรมการขับขี่หลังการดื่ม

3. คัดกรองและบำบัดรักษาผู้มีปัญหาจากสุรา

4. ควบคุมการโฆษณาส่งเสริมการขาย และการให้ทุนอุปถัมภ์

5. ขึ้นราคาผ่านระบบภาษี

6. สร้างค่านิยมเพื่อลดการดื่ม เพื่อนำเสนอภาพลักษณ์ของสินค้าแอลกอฮอล์ เป็นสินค้าเสพติด ทำลายสุขภาพ ทำร้ายสังคม และ

7. พัฒนากลไกการขับเคลื่อนนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกระดับ และการบริหารจัดการที่ดี เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้มีความเข้มแข็ง สามารถจัดการปัญหาแอลกอฮอล์และขยายผลได้

แอลกอฮอล์

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ยังรับทราบการจัดทำร่างแนวทางการปฏิบัติตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยวิธีการในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นการห้ามขาย โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่อผู้บริโภคโดยตรง เพื่อป้องกันไม่ให้เยาวชนสามารถเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น ปัจจุบันมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก และสุราเถื่อนมักขายตามช่องทางออนไลน์เหล่านี้

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังไม่สามารถเอาผิดตามกฎหมายได้ เนื่องจากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยวิธีการในลักษณะการขายทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ซึ่งประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 และจะมีผลบังคับวันที่ 7 ธันวาคม 2563 จึงต้องเร่งรัดจัดทำร่างแนวทางปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว เพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายในอนาคตต่อไป

อาสา

ขณะเดียวกัน ในที่ประชุมฯ ได้มอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ระดับจังหวัด ที่ขับเคลื่อนการดำเนินงาน “เชิญ ชวน เชียร์ ลด ละ เลิกเหล้า เข้าสู่ระบบบำบัดรักษาสูงสุด” ในช่วงเข้าพรรษา ที่ชวนประชาชนร่วมโครงการได้สูงสุด 10 จังหวัด โดยทั่วประเทศมีผู้ลงนามผ่านแอปพลิเคชัน Smart อสม. รวม 37,877 คน และนำผู้มีปัญหาจากการดื่มสุราเข้าสู่ระบบบำบัดรักษา 6,725 คน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo