General

เกษตรฯ สั่งการทุกหน่วยงาน ป้องกัน พายุไต้ฝุ่น ‘โมลาเบ’ ถล่มอีสานล่าง

ป้องกัน พายุไต้ฝุ่น โมลาเบ ถล่มอีสานล่าง กระทรวงเกษตรฯ ระดมทุกหน่วยงานเฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง ทั้งการวางแนวทางป้องกันก่อนพายุเข้า และหลังน้ำลด

นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประชุมติดตาม และแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ ด้านการเกษตร เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน พายุไต้ฝุ่น โมลาเบ พายุระดับ 5 ซึ่งจะส่งผลกระทบ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ตั้งแต่วันที่ 28 – 30 ตุลาคม 2563

ป้องกัน พายุไต้ฝุ่น โมลาเบ

ทั้งนี้ ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2563 ระบุว่า พายุไต้ฝุ่น โมลาเบ (พายุระดับ 5) บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง กำลังเคลื่อนตัว ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ค่อนทางเหนือเล็กน้อย ด้วยความเร็วประมาณ 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่ง บริเวณประเทศเวียดนามตอนกลาง ในเช้าวันนี้ (28 ตุลาคม 2563)

หลังจากนั้น จะอ่อนกำลังลง เป็นพายุโซนร้อน (พายุระดับ 3) ก่อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยตอนบน มีฝนเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมาก บางแห่งกับมีลมแรง โดยเฉพาะทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ในช่วงวันที่ 28-29 ตุลาคม 2563

ขณะที่ลมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรง ส่งผลทำให้ภาคใต้ มีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรง

สำหรับจังหวัดที่เสี่ยงฝนตกหนักมาก จากพายุ โมลาเบ มี 9 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด ยโสธร มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

เกษตร

ส่วนจังหวัดที่เสี่ยงภัยฝนตกหนัก มี 21 ได้แก่ จังหวัดเลย ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ สกลนคร นครพนม ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทรบุรี ตราด เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

ทั้งนี้ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย จากพายุ โมลาเบ ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและลมแรง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้

ในส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น โดยบริเวณทะเลอันดามัน และอ่าวไทยตอนบน มีคลื่นสูง 2-3 เมตร อ่าวไทยตอนล่าง คลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง คลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเดินเรือด้วยความระมัดระวัง หลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

พร้อมกันนี้ ยังได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมป้องกันผลกระทบ ที่คาดว่าจะเกิดความเสียหาย ดังนี้

  • กรมชลประทาน ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 138 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 96 เครื่อง รถแบคโฮ 15 คัน รถเครน 1 คัน รถบรรทุก 8 คัน กระสอบทราย 500 ใบ และเครื่องฉีดน้ำปูน (Grout) 1 เครื่อง
  • กรมปศุสัตว์ จัดเตรียมเสบียงอาหารสัตว์ 5,600 ตัน ถุงยังชีพสำหรับสัตว์ 3,000 ถุง คอกสัตว์ สำหรับตั้งจุดอพยพสัตว์ 30 ชุด และทีมสัตวแพทย์เคลื่อนที่ 325 หน่วย ได้ดำเนินการอพยพสัตว์แล้ว 4,082 ตัว
  • แจกจ่ายเสบียง อาหารสัตว์พระราชทาน 39.2 ตัน สร้างเสริมสุขภาพสัตว์ 4,471 ตัว รักษาสัตว์ 19 ตัว และถุงยังชีพสำหรับสัตว์ 102 ถุง
  • สนับสนุนเรือตรวจประมงน้ำจืด จำนวน 3 ลำ ได้แก่ เรือตรวจประมงน้ำจืดลำตะคอง 03 ลำตะคอง 04 และลำตะคอง 13 พร้อมเจ้าหน้าที่ 34 นาย เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
  • หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่เยี่ยมเยียนและประเมินความเสียหายหลังน้ำลด
  • กำชับให้หน่วยงานรายงานสถานการณ์มายังส่วนกลางเพื่อเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo