General

หมอเหรียญทอง ชงตั้ง ‘ศูนย์สำรองเตียงผู้ป่วยใน’ แก้ปัญหาเตียงผู้ป่วยบัตรทอง

แก้ปัญหาเตียงผู้ป่วยบัตรทอง หมอเหรียญทอง เดินหน้าขอประชาพิจารณ์ ชงตั้ง ศูนย์สำรองเตียงผู้ป่วยใน เตรียมเสนอ คณะกรรมการฯ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเขตที่ 13

พลตรี เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์เพจเฟซบุ๊ก “เหรียญทอง แน่นหนา” เปิดทำประชาพิจารณ์ ตั้ง ศูนย์สำรองเตียงผู้ป่วยใน ก่อนเสนอ ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบทุติยภูมิ และตติยภูมิ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเขตที่ 13 วันที่ 9 ตุลาคมนี้ เพื่อ แก้ปัญหาเตียงผู้ป่วยบัตรทอง โดยระบุว่า

แก้ปัญหาเตียงผู้ป่วยบัตรทอง

“ผมขอประชาพิจารณ์ เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ต่อแนวทางการแก้ปัญหาเร่งด่วน จากการขาดแคลนจำนวนเตียงรับผู้ป่วยใน (In-Patient , IP) สำหรับผู้ป่วยบัตรทองในเขตกรุงเทพฯ หรือเขตสุขภาพที่ 13 จากการยกเลิก รพ.คู่สัญญา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่ง รพ.เหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นหน่วยบริการในระดับทุติยภูมิ

ทั้งนี้ ผมมีแนวทางการแก้ปัญหาเร่งด่วนสรุปสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

1. สปสช. ต้องเสนอกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแก้ไข หรือผ่อนปรน กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการ สถานพยาบาล ด้วยการให้มี “ศูนย์สำรองเตียงผู้ป่วยใน” (ในลักษณะเทียบเคียงกัน กับการแก้ปัญหาความต้องการเตียงผู้ป่วยในสถานการณ์โควิด-19 ที่ใช้โรงแรมเป็นสถานที่)

ทั้งนี้ เพื่อให้โรงพยาบาลที่เป็นหน่วยบริการหลัก หรือหน่วยบริการประจำ ในระบบทุติยภูมิ ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่เหลืออยู่ในระบบ ณ สถานการณ์ปัจจุบัน สามารถมีอาคาร สถานที่ หรือพื้นที่ใช้สอย เพื่อรองรับผู้ป่วยบัตรทอง ที่จำเป็นต้องรับตัวเข้านอนรักษาตัว “นอกที่ตั้ง” โรงพยาบาล

2. “ศูนย์สำรองเตียงผู้ป่วยใน” สามารถใช้ อาคารสถานพักฟื้นผู้สูงอายุ คนพิการ (เนอร์สซี่งโฮม) หรือโรงแรม อาคารที่พักอาศัย ที่ได้รับการรับรอง ให้เป็นสถานกักกันโรคทางเลือก(Alternative State Quarantine , ASQ) ซึ่งเป็นอาคารอิสระ ไม่ปะปนกับประชาชนผู้พักอาศัยทั่วไป

11 1

แต่ “ศูนย์สำรองเตียงผู้ป่วยใน” จะต้องมีแพทย์ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ เครื่องมือ อุปกรณ์ ระบบทางการแพทย์ ตลอดจนระบบส่งต่อผู้ป่วย ที่มีขีดความสามารถ และมาตรฐานทางการแพทย์ ในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน (In-Patient) เช่นเดียวกับหอผู้ป่วยใน (In-Patient ward) ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ รพ.สามารถจัดการได้ (เพียงแต่จะต้องเพิ่มอัตรากำลังพลและสิ่งอุปกรณ์ทางการแพทย์และพยาบาลเพื่อประจำ ณ “ศูนย์สำรองเตียงผู้ป่วยใน”)

3. โรงพยาบาลที่เป็นหน่วยบริการในระบบทุติยภูมิ ของ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะต้องมีหน้าที่ และรับผิดชอบ ทั้งทางกฎหมายและการดำเนินการเพื่อให้ “ศูนย์สำรองเตียงผู้ป่วยใน” เป็นไปตาม กฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล และการประกอบวิชาชีพ (พ.ร.บ.สถานพยาบาลฯ และ พ.ร.บ.การประกอบวิชาชีพต่างๆ)

หากท่านทั้งหลาย เห็นด้วยกับแนวทางข้างต้น ผมจะนำเสนอต่อ ที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบทุติยภูมิและตติยภูมิ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เขตที่ 13 ในเช้าวันศุกร์ที่ 9 ต.ค.63 ที่จะถึงนี้

แนวทาง “ศูนย์สำรองเตียงผู้ป่วยใน” จะสามารถแก้ไขปัญหาเร่งด่วน จากการขาดแคลน จำนวนเตียงรับผู้ป่วยใน (In-Patient , IP) ให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วยบัตรทอง ในเขตกรุงเทพฯ หรือเขตสุขภาพที่ 13 ได้อย่างรวดเร็ว

หากที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนา ระบบทุติยภูมิและตติยภูมิ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เขตที่ 13 มีมติเห็นชอบ ก็จะได้รีบนำเสนอ สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนแนวทางนี้ ให้เกิดเป็นโครงการนำร่อง

ผมเชื่อมั่นว่า จะสามารถแก้ไขปัญหาให้แก่ ผู้ป่วยบัตรทองในเขตกรุงเทพมหานคร ได้อย่างรวดเร็ว และเห็นผลเป็นรูปธรรม ภายในไม่เกิน 6 เดือน

หากโครงการนำร่องนี้ ประสบผลสำเร็จในเขตกรุงเทพฯ หรือเขตสุขภาพที่ 13 แล้ว รัฐบาล โดย กระทรวงสาธารณสุข สามารถขยายผลไปยังเขตสุขภาพอื่น ๆ ทั่วราชอาณาจักร เพื่อเป็นแนวทาง ในการแก้ไขปัญหา การขาดแคลนจำนวนเตียงรับผู้ป่วยใน (In-Patient , IP) ให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ สำหรับผู้ป่วยบัตรทองต่อไป

ด้วยความปรารถนาดี

พลตรี เหรียญทอง แน่นหนา

ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo