General

สถิติ ‘ข่าวปลอม’ 10 เดือน เกือบ 100% มาจากโซเชียล เฟคนิวส์สุขภาพพุ่ง

สถิติข่าวปลอม พบเบาะแสข่าวปลอมกว่า 98% เกิดบนโลกโซเชียล ดีอีเอส เผย ในรอบ 10 เดือน พบข่าวต้องคัดกรอง 12,964,044 ข้อความ ส่วนใหญ้เป็นข่าวปลอมเรื่องสุขภาพ

นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัด กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม 10 เดือนที่ผ่านมา (1 พฤศจิกายน 2562 – 31 สิงหาคม 2563) พบว่า สถิติข่าวปลอม จากการรับแจ้งเบาะแส และติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองถึง 12,964,044 ข้อความ

สถิติข่าวปลอม

สำหรับช่องทาง ที่มีการพบเบาะแสมากอันดับ 1 คือ ระบบติดตามการสนทนา บนโลกออนไลน์ (Social Listening Tools) 98.60% หรือ 12,392,431 ข้อความ ตามมาด้วย การแจ้งเบาะแสผ่านบัญชีไลน์ทางการ 1.32% เฟซบุ๊กแฟนเพจ 0.06% และเว็บไซต์ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม 0.02%

จากจำนวนข้างต้น มีข้อความข่าว ที่เข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบ 17,551 ข้อความ โดยจากการคัดกรองพบข้อความข่าว ที่ต้องตรวจสอบ 6,039 เรื่อง แบ่งเป็น หมวดสุขภาพ 54% (3,267 เรื่อง), หมวดนโยบายรัฐ 40% (2,417 เรื่อง), หมวดเศรษฐกิจ 4% (237 เรื่อง) และหมวดภัยพิบัติ 2% (118 เรื่อง)

ปัจจุบันมีข่าวที่ผ่านการตรวจสอบ และได้รับการเผยแพร่แล้ว 932 เรื่อง หมวดหมู่ที่ทำการประชาสัมพันธ์มากสุดตามลำดับ ดังนี้ หมวดสุขภาพ 70% (656 เรื่อง), หมวดนโยบายรัฐ 19% (172 เรื่อง), เศรษฐกิจ 7% (64 เรื่อง) และหมวดภัยพิบัติ 4% (40 เรื่อง)

โซเชียล

“ข่าวปลอมบางข่าว นอกจากสร้างความตื่นตกใจ ให้กับประชาชน หรือผู้เกี่ยวข้องแล้ว ยังสร้างผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจประเทศ เช่น เมื่อเร็วๆ นี้มีการแชร์ข่าวปลอมว่ารัฐบาลถังแตก ไม่มีเงินจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ-คนพิการ ส่งกระทบต่อการลงทุน และความมั่นใจของนักลงทุนต่างประเทศด้วย” นายภุชพงค์กล่าว

ด้าน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงฯ เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย การแก้ไขปัญหาข่าวปลอมอย่างต่อเนื่อง โดยเป็นการทำงานบูรณาการร่วมกันทั้งกับทุกหน่วยงานราชการ 151 แห่ง

สถิติข่าวปลอม
พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์

นอกจากนี้ ยังเปิดรับแจ้งเบาะแสจากประชาชน ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์ (Social Listening)เกี่ยวกับข่าวปลอม อย่างต่อเนื่อง

กระทรวงดิจิทัลฯ ได้รับมอบนโยบายจากรัฐบาลให้ดูแล กลั่นกรอง ตรวจสอบ หรือกำจัดข่าวปลอม เน้นว่าเป็นข่าวที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง และจะมีการสร้างการรับรู้ ความเข้าใจในข่าวที่ถูกต้อง

ปัจจุบันมีข่าวปลอม ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา บนโลกออนไลน์ ผู้เสพสื่อ ต้องรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร มีสติ ใช้วิจารณญาณก่อนแชร์ และขอให้ทุกส่วนราชการ ออกมาช่วยชี้แจง ทำความเข้าใจในข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง แก่ประชาชน ภายในเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพื่อให้ข้อเท็จจริง ปรากฏสู่สาธารณชน อย่างรวดเร็ว

“การระงับ ยับยั้ง การแพร่กระจายของข่าวปลอม เป็นภารกิจสำคัญของทุกหน่วย ที่ต้องร่วมมือกับดีอีเอส เพื่อลดผลกระทบ และความเสียหาย จากข่าวปลอม ที่จะมีต่อประชาชน สังคม และเศรษฐกิจ” นายพุทธิพงษ์กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

 

Avatar photo