General

ตรังอ่วม เจอ ‘โนอึล’ ถล่ม คลื่นสูง 4 เมตร ระทึก! เครื่องบินลงไม่ได้

“โนอึล” ถล่มตรังอ่วม คลื่นสูง 4 เมตร ซัดเรือจมต่อหน้า 2 ลำ เครื่องบินระทึกลงจอดไม่ได้

วันนี้ (18 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรับแจ้งจาก นายอาสาน คนขยัน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 บ้านหลังเขา ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง และ นายเบบ หมาดหลี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 5 แจ้งว่า บริเวณพื้นที่ชายฝั่งบ้านหลังเขา หมู่ 5 ตำบลเกาะลิบง มีพายุฝนกรรโชกแรง คลื่นสูงประมาณ 3-4 เมตร ได้ซัดถล่มเข้าหาริมฝั่ง

traa

ทำให้บ้านเรือนชาวบ้านที่อยู่ติดริมชายฝั่งได้รับความเสียหาย และส่งผลให้เรือประมงพื้นบ้านถูกคลื่นซัดจมหาย 2 ลำ เป็นเรือของ นายธีรเดช หรือบังรอน คุ้มบ้าน และ นายจำรูญ โต๊ะมา แม้ว่าชาวบ้านจะเห็นต่อหน้าต่อตา แต่ก็ไม่สามารถลงไปช่วยกู้เรือได้ เนื่องจากคลื่นลมแรง ประกอบกับฝนตกหนัก

ขณะเดียวกันได้รับรายงานว่า อีกพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลอันดามัน บ้านเกาะหาดยาว บ้านเกาะมุกด์ ตำบลเกาะลิบง และ บ้านมดตะนอย ตำบลนาเกลือ อำเภอกันตัง ได้รับผลกระทบคลื่นซัดบ้านเรือน ร้านอาหาร หลังคาปลิวว่อนได้รับความเสียหายอีกหลายหลัง ทั้งกระแสน้ำยังไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ ต้องเร่งขนสิ่งของไว้ที่สูง

นอกจากนี้ สายการบินไลอ้อนแอร์ ดอนเมือง-ตรัง ไม่สามารถเอาเครื่องลงจอดได้ เนื่องจากฝนตกหนักทัศนวิสัยไม่ดี และได้บินวนบริเวณน่านฟ้าทะเลเกาะลิบง อยู่หลายรอบ

“กรมอุตุนิยมวิทยา” ประกาศเตือน พายุระดับ 3 (โซนร้อน) “โนอึล” (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 20 กันยายน 2563) ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 18 กันยายน 2563

เมื่อเวลา 10.00 น. ของวันนี้ (18 ก.ย. ) พายุระดับ 3 (โซนร้อน) “โนอึล” ปกคลุมบริเวณเมืองสาละวัน ประเทศลาวตอนกลาง โดยมีศูนย์กลางอยู่ห่างประมาณ 200 กิโลเมตร ทางด้านตะวันออกของจังหวัดมุกดาหาร หรือที่ละติจูด 16.3 องศาเหนือ ลองจิจูด 106.8 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 40 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้ได้เคลื่อนขึ้นฝังบริเวณเมืองดานัง ประเทศเวียดนามตอนกลางเมื่อเวลา 07.00 น.ของวันนี้ (18 ก.ย. 2563) คาดว่า จะเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณจังหวัดมุกดาหารในบ่ายวันนี้ (18 ก.ย. 2563) หลังจากนั้นคาดว่าจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุระดับ 2 (ดีเปรสชัน)

ในระยะต่อไป ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมาก กับมีลมแรงบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยบริเวณดังกล่าว ระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ และระวังอันตรายจากลมแรง โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้ง ใต้ต้นไม้ใหญ่และสิ่งปลูกสร้างที่ไม่แข็งแรงไว้ด้วย

คาดว่าพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบ มีดังนี้

ในช่วงวันที่ 18-19 กันยายน 2563 บริเวณที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก

ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย ตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก พิจิตร และเพชรบูรณ์

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี สกลนคร นครพนม ชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ภาคกลาง : จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท นครสวรรค์ ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

ภาคตะวันออก : จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล

2020 09 18 DFTH2 0600

วันที่ 20 กันยายน 2563 บริเวณที่มีฝนตกหนัก

ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย และกำแพงเพชร

ภาคกลาง : จังหวัดราชบุรี กาญจนบุรี อุทัยธานี สุพรรณบุรี และชัยนาท

ภาคตะวันออก : จังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด

ภาคใต้ : จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา ภูเก็ต และกระบี่

สำหรับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น โดยอ่าวไทยตอนบน และทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร อ่าวไทยตอนล่างคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวัง และควรงดการเดินเรือจนถึงวันที่ 20 กันยายน 2563

จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์ กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo