General

30 ปี ‘สืบ นาคะเสถียร’ ลาโลก อนุรักษ์ป่าไทย ไปถึงไหนกันแล้ว

ทุกวันที่ 1 กันยายนของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็น “วันสืบ นาคะเสถียร” เพื่อรำลึกถึง “สืบ นาคะเสถียร”อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผู้มีอุดมการณ์อันแน่วแน่ที่จะรักษาผืนป่า และธรรมชาติเอาไว้ จนตัดสินใจที่จะใช้ชีวิตของตนเอง เป็นแรงกระตุ้นเตือนให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญ และตระหนักถึงความสูญเสียที่กำลังเกิดขึ้น

เสียงปืนที่ดังลั่นป่าเพียงนัดเดียว เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2533 สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วทั้งสังคมไทย ผู้คนพากันหันกลับมาให้ความสนใจอีกครั้งว่า กำลังเกิดขึ้นอะไรกับป่าของคนไทย และทำให้ห้วยขาแข้งกลายเป็นผืนป่าที่คนทั้งประเทศรัก และหวงแหน ส่งผลให้การอนุรักษ์สัตว์ป่าและผืนป่าเป็นประเด็นที่สาธารณชนให้ค่า และความสำคัญมากขึ้น

สืบ นาคะเสถียร

นับแต่วันที่ “สืบ นาคะเสถียร” ลาโลกไปนั้น สนถานการณ์ป่าไม้ในประเทศไทยเรียกได้ว่า ค่อนข้างจะดีขึ้น ภาพรวมพื้นที่ป่าของประเทศไทยนับจากปี 2557 สถานการณ์การบุกรุกค่อนข้างนิ่ง พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น หรือลดลงไม่มากนัก

การแปรภาพทางอากาศ ซึ่งกรมป่าไม้มอบหมายให้คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดำเนินการไปเมื่อปี 2561 พบว่ามีพื้นที่ป่า 102.488 ล้านไร่  โดยในภาพรวมนับจากปี 2560 นั้น พื้นที่ป่าของประเทศไทยเพิ่มขึ้นกว่า 300,000 ไร่  จากการใช้มาตรการบุกรุกหยุดยั้งการทำลายป่าอย่างชัดเจน และมีประสิทธิภาพ

สำหรับสถิติคดีป่าไม้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557-2562  นั้น ถือว่าลดลง โดยในส่วนของกรมป่าไม้ ปี 2557 มีคดีบุกรุกป่า 3,187 คดี ผู้ต้องหา 859 คน เนื้อที่ 81,937 ไร่ คดีไม้ 7,309 คดี ผู้ต้องหา 3,271 คน จำนวนไม้ 503,137 ท่อน/แผ่น/เหลี่ยม ปริมารตร 22,336 ลบ.ม.

ส่วนปี 2562 มีคดีบุกรุกป่า 1,372 คดี ผู้ต้องหา 277 คน เนื้อที่ 56,662 ไร่ คดีไม้ 1,420 คดี ผู้ต้องหา 565 คน จำนวนไม้ 94,882 ท่อน/แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 3,519 ลบ.ม.  และในส่วนของกรมอุทยานฯ ปี 2557 มีการดำเนินคดีการบุกรุกป่า จำนวน 2,684 คดี จำนวนผู้ต้องหา 625 คน เนื้อที่ 24,049 ไร่ คดีไม้ 4,210 คดี จำนวนผู้ต้องหา 2,611 คน จำนวนไม้ 88,064 ท่อน/แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตรา 6,640 ไร่ ปี ปี 2562 มีคดีบุกรุกป่า 834 คดี ผู้ต้องหา 146 คน เนื้อที่ 12,968 ไร่ คดีไม้ 387 คดี จำนวนไม้ 10,139 ท่อน/แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 807 ลบ.ม.

สืบ นาคะเสถียร

ความพยายามรักษาผืนป่าของ “สืบ นาคะเสถียร”

  • ปี 2529

สืบ นาคะเสถียร ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานในหน้าที่หัวหน้าโครงการอพยพสัตว์ป่าตกค้าง ในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) บริเวณแก่งน้ำเชี่ยวหลาน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีสัตว์นับพันตัวได้รับความช่วยเหลือ แต่ก็รู้ดีว่ามีสัตว์อีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องตายจากการสร้างเขื่อน ทำให้เขาเริ่มเข้าใจปัญหา และตระหนักว่า งานวิชาการเพียงอย่างเดียวไม่สามารถช่วยเหลือป่า และสัตว์ป่าจากการถูกทำลายได้

เขาจึงเปลี่ยนบทบาทจากนักวิชาการมาเป็นนักอนุรักษ์ ได้เข้าร่วมต่อสู้คัดค้านการสร้างเขื่อนน้ำโจน ในบริเวณทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี โดยยืนยันว่า การสร้างเขื่อนเป็นการทำลายล้างเผ่าพันธุ์แหล่งอาหาร ตลอดจนที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าอย่างรุนแรง กระทั่งความช่วยเหลือจากมนุษย์ไม่สามารถชดเชยได้ โดยการรวมพลังของกลุ่มนักอนุรักษ์ ซึ่งในที่สุดโครงการสร้างเขื่อนน้ำโจนได้ถูกระงับไป

  • ปี 2532

สืบ นาคะเสถียร เข้ามารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง พร้อม ๆ กับปัญหามากมายที่เขาต้องแก้ไขให้ได้ อาทิ ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ของกลุ่มผู้มีอิทธิพล เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าถูกยิงเสียชีวิต ปัญหาความยากจนของชาวบ้านรอบป่า

ด้วยความที่ป่าห้วยขาแข้งเป็นผืนป่าที่อุดมด้วยพรรณไม้และสัตว์ป่ามากมาย ทำให้หลายฝ่ายต่างจ้องบุกรุก เพื่อหาประโยชน์จากผืนป่า สืบ ได้พยายามนำเสนอข้อมูลต่อยูเนสโก เพื่อพิจารณาให้ ผืนป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และห้วยขาแข้ง เป็นมรดกโลก อันจะเป็นเกราะป้องกันผืนป่าแห่งนี้ไว้ให้ได้ เพราะจะทำให้คนหันมาหวงแหนผืนป่านี้มากขึ้น

เขาได้แสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ ที่จะรักษาป่าผืนนี้ไว้อย่างชัดแจ้ง ได้ประกาศให้รู้ทั่วกันว่า “ผมมารับงานที่นี่ โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน”

ปลายปี 2532 เขาเลือกที่จะเดินทางเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง แทนการไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกตามที่ได้รับทุนมา

  • ปี 2533

นที่ 31 สิงหาคม 2533  เขาตัดสินใจผ่าทางตันด้วยการสั่งเสียลูกน้อง คนสนิท และเขียนจดหมายสั่งลา 6 ฉบับ ชำระสะสางภาระ รับผิดชอบและทรัพย์สินส่วนตัวที่คั่งค้าง มอบหมาย เครื่องใช้ และอุปกรณ์ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่า ให้สถานีวิจัย สัตว์ป่าเขานางรำ เพื่อนำไปใช้ตาม วัตถุประสงค์ดังกล่าว ตั้งศาลเพื่อแสดงความคารวะต่อ ดวงวิญญาณของเจ้าหน้าที่ ซึ่งพลีชีพรักษาป่าห้วยขาแข้ง แล้วสวดมนต์ไหว้พระ จนจิตใจสงบ

เช้ามืดวันที่ 1 กันยายน 2533  เสียงปีนที่ดังขึ้นนัดหนึ่งในราวป่าลึกที่ห้วยขาแข้ง ได้จบชีวิตสืบ นาคะเสถียร ลง แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการเริ่มต้นตำนานนักอนุรักษ์ไทย ผู้ที่ทุ่มเทตัวเองให้กับผืนป่า สัตว์ป่า และธรรมชาติ

s11
ภาพ : มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

รำลึก 30 ปี

เนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปี การจากไป ของสืบ นาคะเสถียร มูลนิธิสืบ นาคะเสถียร ได้จัดกิจกรรมให้ประชาชนได้ร่วมรำลึกถึงคุณงามความดี อดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง นักอนุรักษ์ต้นแบบในความทรงจำ ในวันนี้

1. กิจกรรมถ่ายทอดสด  – งานรำลึก 30 ปี สืบนาคะเสถียร “การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยหยุดนิ่ง

สามารถติดตามชมการถ่ายทอดสดงานรำลึก 30 ปี สืบนาคะเสถียร ได้ที่ เพจ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร 

2. กิจกรรมวางดอกไม้และจุดเทียนรำลึกสืบ นาคะเสถียร  

  • เวลา : 17.00 – 21.00 น.
  • สถานที่ : หน้าลาน หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

3. กิจกรรม LIGHT IT UP ฉายเลเซอร์ข้อความรณรงค์สิ่งแวดล้อม

  • เวลา 19.00 – 21.00 น. ข้อความรณรงค์สิ่งแวดล้อมจะถูกฉายพร้อมกัน 5 จุดทั่วกรุงเทพฯ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo