ดีอีเอส ยืนยัน ไม่เลือกปฏิบัติ แจ้งเตือนโซเชียล ออนไลน์ ปิดกั้นเนื้อหาผิดกฏหมายอีก 1,024 ยูอาร์แอล หลังได้รับความร่วมมือลบแล้ว 1,276 ยูอาร์แอล
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ดีอีเอส ยืนยัน ไม่เลือกปฏิบัติ โดยจะมีหนังสือแจ้งเตือนการติดตามการปิดกั้นตามคำสั่งศาลอีก จำนวน 1,024 รายการ (ยูอาร์แอล) ไปยังสื่อสังคมออนไลน์ เว็บไซต์ต่างๆ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก จำนวน 661 รายการ, ยูทูบ 289 รายการ, ทวิตเตอร์ 69 รายการ และเว็บอื่นๆ จำนวน 5 รายการ
ทั้งนี้ ยืนยันว่า ดีอีเอส มีการติดตามให้ทุกแพลตฟอร์ม ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาล โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด
ที่ผ่านมา กระทรวงฯ มีการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ได้ส่งหนังสือแจ้งเตือนผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการบนแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ เป็นจำนวน 1,276 ยูอาร์แอล
จากการติดตามความคืบหน้าเมื่อครบกำหนด 15 วัน เมื่อวานนี้ (25 สิงหาคม 2563) พบว่าทุกรายรวมถึงเฟซบุ๊ก ยูทูบ และ TikTok ให้ความร่วมมือดำเนินการลบยูอาร์แอลผิดกฎหมายตามคำสั่งศาลครบทั้ง 100% โดยในจำนวนนี้เป็นรายการที่อยู่บนเฟซบุ๊ก จำนวน 1,129 ยูอาร์แอล
“ขอย้ำว่าการดำเนินการในครั้งนี้ เป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และมีคำสั่งศาลอย่างถูกต้อง มิได้เป็นการข่มขู่ใดหรือกลั่นแกล้งอย่างใด” นายพุทธิพงษ์กล่าว
ในส่วนของ เพจรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส ซึ่งเฟซบุ๊กสั่งปิดไปตามคำสั่งศาล ตามกฎหมายประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในจำนวนดังกล่าว และยืนยันว่าการดำเนินการในเรื่องนี้ไม่ได้จำกัดเฉพาะประเด็นทางการเมือง แต่ในอีกหลายยูอาร์แอล ที่มีคำสั่งศาลออกมา ยังครอบคลุมถึงด้านอื่น ๆ ที่ผ่านการตรวจสอบแล้วว่า เข้าข่ายการกระทำความผิด ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560
“กระทรวงฯ ไม่ได้คิดเอง หรือจะไปรังแกใคร เราทำตามกฎหมายประเทศไทย ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไป อธิปไตยของแต่ละประเทศไม่ได้จำกัดอยู่แค่พื้นที่เขตแดนอีกต่อไป เราต้องพูดถึงอธิปไตยไซเบอร์ เพราะไซเบอร์มาเร็ว ที่ผ่านมาเห็นได้ว่าสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่องให้กับประเทศไทย” นายพุทธิพงษ์กล่าว
กรณีที่มีข้อวิตกกังวลจากบางกลุ่มว่า เฟซบุ๊ก อาจมีการฟ้องร้องไทย สำหรับกรณีการสั่งปิดกั้นเนื้อหา หรือเพจผิดกฎหมาย รวมทั้งอาจทำให้เฟซบุ๊ก ตัดสินใจยกเลิกการลงทุนในประเทศไทยนั้น โดยส่วนตัวมองในทางกลับกัน เนื่องจากการดำเนินการในเรื่องนี้ของประเทศไทย เป็นไปตามขั้นตอนและกฎหมายของประเทศไทย
ทั้งนี้ จดหมายแจ้งเตือน และขอความร่วมมือทุกฉบับ ที่ส่งไปยังผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม เพื่อลบหรือ ปิดกั้นยูอาร์แอลผิดกฎหมาย จะมีการแนบคำสั่งศาลไปด้วย เพื่อเป็นข้อมูลและหลักฐาน ช่วยให้เจ้าของแพลตฟอร์มทำงานได้ง่ายขึ้น ไม่ถูกโจมตี ว่าไปละเมิดสิทธิ์ผู้ใช้งาน อีกทั้งเป็นการตอกย้ำความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายประเทศไทย ที่จะช่วยเพิ่มความมั่นใจในการลงทุนของบริษัทต่าง ๆ ว่าจะได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน
ส่วนความคืบหน้าของเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” หลังเปิดตัวเป็นช่องทาง ให้ประชาชนส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์ เว็บผิดกฎหมาย เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบทางกฎหมาย พบว่า ตลอดกว่า 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา มียอดแจ้งเบาะแสเข้ามาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และพบว่าข้อความที่ตรวจสอบแล้วเข้าข่ายผิดกฎหมาย เริ่มมีแนวโน้มลดลง
สำหรับสถิติระหว่างวันที่ 15-24 สิงหาคม 2563 มีผู้ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์ เว็บผิดกฎหมาย เข้ามา 2,931 รายการ (ยูอาร์แอล) ในจำนวนนี้พบว่าเป็นรายการที่ซ้ำซ้อน/ไม่เข้าข้อกฏหมาย 1,891 รายการ โดยตรวจสอบแล้วเข้าข้อกฎหมาย 680 รายการ แบ่งเป็น เฟซบุ๊ก 434 รายการ ยูทูบ 63 รายการ ทวิตเตอร์ 50 รายการ และเว็บไซต์/อื่นๆ 133 รายการ
หลังผ่านกระบวนการตรวจสอบ ศาลมีคำสั่งแล้วทั้งสิ้น จำนวน 354 รายการ (ยูอาร์แอล) และอยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอศาล 326 รายการ ขณะที่ คงเหลือข้อมูลที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ จำนวน 360 รายการ
แห่แจ้งเบาะแสเว็บผิดกฏหมาย
สำหรับตัวเลขรวม ที่ได้รับการรับแจ้งเบาะแสจากประชาชน นับตั้งแต่วันเปิดตัวเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม -24 สิงหาคม 2563 มีผู้ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์/เว็บผิดกฎหมาย เข้ามาทั้งสิ้น 5,943 รายการ ในจำนวนนี้พบว่าเป็นรายการซ้ำซ้อน/ไม่เข้าข้อกฏหมาย 3,232 รายการ
จากการตรวจสอบแล้ว เข้าข้อกฎหมาย 2,260 รายการ โดยศาลมีคำสั่งแล้ว จำนวน 1,781 รายการ (เตรีนมส่งจนท.ตร./เจ้าของแพลตฟอร์ม), อยู่ระหว่างดำเนินการยื่นขอศาล 479 รายการ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ 451 รายการ
ทั้งนี้ หากดูจากสถิติย้อนหลัง พบว่าช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดเพจ “อาสา จับตา ออนไลน์” ได้รับแจ้งเบาะแสสื่อสังคมออนไลน์/เว็บผิดกฎหมาย จำนวน 1,050 รายการ (ยูอาร์แอล) ตรวจสอบพบว่าเข้าข่ายซึ่งเป็นการดำเนินการกระทำความผิดตามกฎหมาย จำนวน 317 รายการ หรือคิดเป็นสัดส่วนราว 30% ของข้อมูลที่ได้รับแจ้ง
จากนั้นในวันที่ 7-17 สิงหาคม 2563 มีผู้ส่งข้อมูลแจ้งเบาะแส จำนวน 3,083 รายการ เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดกฎหมาย คือมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จำนวนทั้งสิ้น 1,395 รายการ หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของข้อมูลที่มีการแจ้งเบาะแส
ขณะที่ สัปดาห์ล่าสุดมีข้อมูลที่ผู้แจ้งเบาะแสเข้ามาเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าตัว แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบแล้ว พบว่ามีรายการที่เข้าข่ายผิดกฎหมายไม่ถึง 1 ใน 4 เพราะส่วนใหญ่เป็นรายการซ้ำซ้อน และไม่เข้าข่าย แสดงว่ามีประชาชนจำนวนมากตื่นตัวที่จะแจ้งเบาะแสมาที่เพจ อาสา จับตา ออนไลน์ นับเป็นแนวโน้มที่ดีสำหรับการมีส่วนร่วมช่วยกันดูแลสังคมออนไลน์
นอกจากนี้ ยังตั้งกฎเหล็กไว้ว่าการปิดกั้น จะต้องเสร็จสิ้นภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อส่งให้ศาลอนุมัติคำสั่ง และปิดเว็บ ลบเนื้อหา หรือส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี รวมถึงให้มีการจัดนิติกรเวร เป็นผู้แจ้งความในกรณีที่เป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส’ เปิดใหม่ก็ปิดอีกได้! ‘พุทธิพงษ์’ เชื่อเฟซบุ๊กไม่ฟ้องไทย
- ‘บิ๊กตู่’ ไม่ทนจวก ‘สมศักดิ์-ปวิน’ ทำเพจ ‘รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส’ – สั่งตั้งทีมสู้เฟซบุ๊กฟ้องไทย
- โดน! ‘ปวิน’ แจ้งข่าว ‘กลุ่มรอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส’ เข้าจากไทยไม่ได้แล้ว