General

ทำไมต้อง ‘ซื้อเรือดำน้ำ’ เปิด 9 เหตุผลจาก ‘รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร’ อดีตรองอธิการฯมธ.

ซื้อเรือดำน้ำ ฟังเหตุผล 9 ข้อจาก รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร  อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มธ. ซัดนักการเมือง อย่าพูดเอาหล่อ ต้องอยู่บนพื้นฐานความจริงด้วย

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดี ฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Harirak Sutabutr” กรณีกองทัพเรือจัด ซื้อเรือดำน้ำ ว่ามีความจำเป็น โดยระบุว่า

ซื้อเรือดำน้ำ

“นักการเมืองที่พูดกับชาวบ้านแบบหล่อ ๆ ว่า รัฐบาลยังไม่ควรซื้อเรือดำน้ำ เพราะไม่มีความจำเป็น รัฐบาลควรนำงบประมาณ ที่จะซื้อเรือดำน้ำ มาพัฒนาประเทศดีกว่า ฟังเผิน ๆ ก็จะเห็นดีเห็นงามไปด้วย แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป จะพบว่าการพูดแบบนี้ในขณะนี้ เป็นการพูดแบบตีกิน โดยไม่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงเลยแม้แต่น้อย

ผมเอง ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้เท่าใดนัก แต่วันนี้ได้คุยกับ ท่านพลเรือเอกท่านหนึ่ง ที่เกษียณอายุราชการจากกองทัพเรือมานานแล้ว ท่านเป็นผู้ที่รู้เรื่องเรือดำน้ำ และการจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ มากที่สุดคนหนึ่งของกองทัพเรือ เราก็พลอยได้ความรู้ไปด้วย จึงอยากจะสรุปความรู้ที่ได้มาแบ่งปันกัน เป็นข้อ ๆ ได้ดังนี้

1. เรือดำน้ำมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะ

1.1 เรือดำน้ำ เป็นเรือรบชนิดหนึ่ง ที่ตรวจจับยากที่สุด แต่มีอำนาจการทำลายล้างสูงมาก ในขณะที่เรือรบที่อยู่บนผิวน้ำ เครื่องบิน รวมทั้งยานพาหนะบนบก ชาติที่มีขีดความสามารถสูง จะสามารถตรวจจับได้ง่าย และสามารถใช้ขีปนาวุธทำลายได้ภายใน 10 นาที ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ดังนั้น ประเทศในภูมิภาคนี้ ต่างก็มีเรือดำน้ำประจำการอยู่แล้ว หรืออยู่ในระหว่างการจัดหา ด้วยกันทั้งนั้น

1.2 การมีเรือดำน้ำ ทำให้ประเทศมีอำนาจต่อรองสูงขึ้น เมื่อมีข้อพิพาททางทะเล อันเป็นการปกป้องผลประโยชน์ในทางทะเลของชาติ ได้ดีกว่าถ้าไม่มี

1.3 กองทัพเรือ ของประเทศที่มีเนื้อที่ติดทะเล หากไม่มีเรือดำน้ำ จึงเปรียบเหมือนกับ มนุษย์ที่มีอวัยวะไม่ครบถ้วน ไม่สมดุล ทำให้แสนยานุภาพทางทะเลด้อยกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค

2. ทะเลที่อยู่ในเขตน่านน้ำไทย ไม่ลึกพอที่ใช้เรือดำน้ำได้ หรือถ้าได้ก็ตรวจจับได้ง่าย ไม่เป็นความจริง เพราะเรือดำน้ำที่ดำน้ำลึกได้ ก็สามารถดำน้ำตื้นได้ เช่น ในทะเลบอลติก ซึ่งมีน้ำตื้น มีเรือดำน้ำของสวีเดน รัสเซีย และอีกหลายประเทศ วิ่งเพ่นพ่านกันเต็มไปหมด และ ไม่ว่าจะดำน้ำลึกหรือตื้น ก็ตรวจจับยากกว่าพาหนะแบบอื่น ๆ เรือดำน้ำที่สั่งจากจีน สามารถดำน้ำได้ ทั้งน้ำตื้นเมื่ออยู่ในน่านน้ำไทย และดำน้ำลึกเมื่อออกไปยัง น่านน้ำสากล

รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร

3. ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ต้องการให้ไทย มีความแข็งแกร่งทางการทหาร เพื่อทำให้ต้องหันมาพึ่งพาสหรัฐอเมริกา ทำให้สหรัฐอเมริกา มีอิทธิพลต่อไทยมากกว่าที่จีนมี และยิ่งไม่ต้องการให้ซื้อเรือดำน้ำจากจีน ที่เป็นปฏิปักษ์กับสหรัฐอเมริกา

เมื่อไทยตัดสินใจจะซื้อเรือดำน้ำ สหรัฐอเมริกา จึงพยายามลอบบี้บางคนในกองทัพเรือ ให้ซื้อเรือดำน้ำจากเกาหลี ซึ่งมีคุณภาพต่ำกว่าเรือดำน้ำของจีนมาก โดยหากซื้อจากเกาหลี จะมีเงินทอนให้ด้วย

4. การจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน เป็นการซื้อแบบจีทูจี แน่นอน พิสูจน์ได้ ไม่เหมือนกับจีทูจีปลอม กรณีจำนำข้าว

5. การจัดซื้อเรือดำน้ำ แรกทีเดียวกองทัพเรือเตรียมของบประมาณจัดซื้อเพียง 2 ลำ แต่จีนแถมให้อีก 1 ลำ ทำให้ไทยจะได้เรือดำน้ำ 3 ลำในราคา 2 ลำ

6. การสั่งซื้อเรือดำน้ำ นับตั้งแต่วันเซ็นสัญญา อีก 6 ปีจึงจะส่งมอบได้ หากเซ็นสัญญาซื้อทั้ง 3 ลำพร้อมกัน อีก 6 ปีจะได้ลำแรก แต่ลำที่ 2 จะได้รับอีก 6 เดือนถัดมา จากนั้นอีก 6 เดือนจะได้รับลำที่ 3 เพราะสามารถผลิตขนานกันได้ แต่เนื่องจากถูกคัดค้านมากในขณะนั้น จึงเพียงทำข้อตกลงที่จะซื้อ 3 ลำ แต่ทำสัญญาซื้อขายทีละลำ ทำให้จะได้รับเรือลำน้ำช้าไปอีก

7. การชะลอการซื้อเรือดำน้ำออกไปไม่มีกำหนด นอกจากจะทำให้รัฐบาลจีนไม่พอใจ เนื่องจากได้มีการตกลงกันในระดับผู้นำประเทศ และไม่ได้แถมอีก 1 ลำแล้ว ยังทำให้กว่าจะได้รับเรือดำน้ำครบทั้ง 3 ลำช้าออกไปอีก หากมีอะไรเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว จะเกิดความเสียหายมาก

8. รัฐบาลจีน ตกลงจะส่งผู้เชี่ยวชาญจำนวนหนึ่งมาอยู่กับกองทัพเรือ เมื่อส่งมอบเรือดำน้ำลำที่ 1 และจะอยู่จนกว่าบุคลากรของกองทัพเรือจะมีความเชี่ยวชาญในระดับพร้อมรบได้ และนี่เป็นสิ่งที่สหรัฐอเมริกาไม่ต้องการให้เกิดขึ้นมากที่สุด

9. กองทัพเรือได้รับการอนุมัติงบประมาณ ให้ทำการจัดซื้อเรือดำน้ำ จากรัฐบาล มีลักษณะเป็นงบผูกพันข้ามปี ซึ่งใช้สำหรับสิ่งที่ทำไม่แล้วเสร็จในปีเดียว เช่น การก่อสร้างอาคาร การสร้างถนนหนทาง เป็นต้น ความหมายคือ อนุมัติประมาณโดยให้ผูกพันในปีต่อ ๆ ไป จนกว่าจะถึงกำหนดเวลาแล้วเสร็จ

ดังนั้น ต้องถือว่ากองทัพเรือ ได้รับอนุมัติงบประมาณเพื่อจัดซื้อเรือดำน้ำไปแล้วทั้ง 3 ลำ โดยให้ผูกพันตามที่จ่ายจริงในแต่ละปี จนกว่าจะชำระเงินครบทั้งหมด สำนักงบประมาณ มีความผูกพันที่ต้องจัดสรรงบประมาณรายปีให้ทุกปี ซึ่งโดยทั่วไป งบประมาณที่ได้รับการอนุมัติให้ผูกพันแล้ว จะไม่ถูกตัด ทั้งในระดับสำนักงบประมาณ และระดับกรรมาธิการงบประมาณ

ขอย้ำว่า นี่เป็นสิ่งที่ผมสรุปได้จากการพูดคุยกับผู้รู้ท่านหนึ่ง ไม่ใช่ข้อมูล และ ทัศนะของผมโดยตรง และสุดท้าย ขอย้ำสิ่งที่ทหารทุกคนทราบดีว่า

สันติภาพจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อประเทศมีความพร้อมที่จะทำสงครามเท่านั้น”

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo