General

เก็บตกภาพ ‘ดาวหางนีโอไวส์’ อวดโฉมเหนือไทยและต่างประเทศ

เมื่อค่ำคืนของวันพุธที่ผ่านมา (22 ก.ค 63.) ที่ผ่านมา ดาวหางนีโอไวส์ (Comet NEOWISE) ปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนเหนือสโตนเฮดจ์ กลุ่มแท่งหินชื่อดังในเทศมณฑลวิลต์เชอร์ของสหราชอาณาจักร นับเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่สำคัญครั้งหนึ่งของปี

ดาวหางนีโอไวส์

 ดาวหางนีโอไวส์

นอกจากนี้ ดาวหางนีโอไวส์ ยังปรากฎตัวบนท้องฟ้าที่พร่างพราวด้วยหมู่ดาว เหนือสถานีสังเกตการณ์หมิงอันถู ของหอดูดาวดาราศาสตร์แห่งชาติ สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน ในอำเภอเจิ้งเซียงไป๋ เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ทางตอนเหนือของจีน เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2563

 ดาวหางนีโอไวส์

สำหรับในประเทศไทย สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. ได้โพสต์ภาพถ่ายดาวหางนีโอไวส์ผ่านทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

Team NARIT เป็นผู้ถ่ายภาพดาวหางนีโอไวส์ครั้งนี้ บริเวณอำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเวลาประมาณ 20.30 น. ในวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่ดาวหางนีโอไวส์โคจรเข้าใกล้โลกที่สุด จึงปรากฏชัดทั้งหางฝุ่นและหางแก๊ส

โดยนับเป็นโอกาสดีที่คืนดังกล่าวท้องฟ้าบริเวณนั้นใสเคลียร์ เหมาะแก่การบันทึกภาพดาวหางไว้เป็นความทรงจำอย่างยิ่ง หลังจากวันนี้ ดาวหางดวงนี้จะมีความสว่างลดลง เนื่องจากโคจรออกห่างดวงอาทิตย์และโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ ประกอบกับมีแสงจันทร์รบกวน จึงสังเกตเห็นได้ค่อนข้างยาก

ดาวหางนีโอไวส์ หรือ C/2020 F3 (NEOWISE) เป็นดาวหางคาบยาว โคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบใช้เวลาประมาณ 6,767 ปี ค้นพบเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2563 โดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศไวส์ (Wide-field Infrared Survey Explorer : WISE) เป็นกล้องโทรทรรศน์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด ในโครงการสำรวจประชากรดาวเคราะห์น้อยและวัตถุใกล้โลก โคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อ 3 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ระยะห่าง 43 ล้านกิโลเมตร และเข้าใกล้โลกที่สุดวันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่ระยะห่าง 103 ล้านกิโลเมตร

ดาวหางนีโอไวส์

109830357 3336730616390529 1967850060619983476 o e1595653626654

นอกจากนี้ เพจฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ ดร. มติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์จาก NARIT ยังได้ให้ความรู้เกี่ยวกับดาวหางเพิ่มเติม ดังนี้

 

ความรู้เกี่ยวกับดาวหาง

ดาวหางเป็นเสมือนก้อนของน้ำแข็ง หิน และฝุ่น หลายคนเรียกมันว่า “ก้อนน้ำแข็งสกปรก” ที่โคจรไปในระบบสุริยะ เนื่องจากองค์ประกอบของดาวหางนั้นเกิดขึ้นจากน้ำแข็งที่ทำมาจากน้ำ แอมโมเนีย คาร์บอนไดออกไซด์ (น้ำแข็งแห้ง) หิน ดิน ฝุ่น สารประกอบอินทรีย์ และอื่นๆ แต่ดาวหางหลายดวงนั้นจะมีองค์ประกอบของหินและฝุ่นมากกว่า จึงอาจจะมีลักษณะคล้ายกับ “ก้อนหินแช่แข็ง” เสียมากกว่า

โดยดาวหางนั้น ต่างจากดาวเคราะห์น้อยตรงที่ ดาวหางมีองค์ประกอบของ “น้ำแข็ง” ที่ระเหิดเป็นแก๊สได้ปนอยู่ด้วย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ดาวหางปลดปล่อยแก๊สออกมาเมื่อดาวหางเคลื่อนที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์ จึงปรากฏเรืองออกมาเป็นฝุ่นแก๊สที่ลากไปในลักษณะของ “หาง” ที่ทำให้เราเห็น

ดาวหางส่วนใหญ่มีขนาดค่อนข้างเล็ก (ความกว้างของตัวดาวหางเพียงไม่กี่กิโลเมตร) เราทราบว่ามีดาวหางอย่างน้อย 5,000 ดวงที่อยู่ในระบบสุริยะ นักดาราศาสตร์คาดการณ์ว่ายังมีดาวหางอีกเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน บริเวณระบบสุริยะชั้นนอก ในแถบไคเปอร์ และเมฆออร์ต

ช่วงเวลาส่วนใหญ่ในการโคจรของดาวหางนั้น จะไม่สามารถสังเกตเห็นดาวหางด้วยตาเปล่า แต่พอดาวหางเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น น้ำแข็งบนตัวดาวหางจะเริ่มอุ่นขึ้นและเกิดการระเหิด (การเปลี่ยนสถานะจากของแข็งเป็นแก๊ส) ไอน้ำและฝุ่นที่ถูกปล่อยออกมาจากการระเหิด ก่อให้เกิดหางเหยียดยาวจากใจกลางของดาวหาง ที่เรียกว่า “นิวเคลียส” ออกไปทางด้านหลัง

เนื่องจาก “น้ำ” เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของดาวหาง จึงทำให้เราสันนิษฐานกันว่าน้ำในแม่น้ำและมหาสมุทรบนโลกของเรานั้นอาจจะมาจากดาวหางที่ตกลงบนโลกภายหลังจากที่โลกเย็นตัวลงเพียงพอที่จะมีน้ำในรูปของเหลวได้เมื่อหลายพันล้านปีมาแล้ว อย่างไรก็ตาม เราพบว่าธาตุไฮโดรเจนในดาวหางนั้นมีอัตราส่วนของดิวเทอเรียมที่ต่างจากน้ำบนโลกเป็นอย่างมาก ดาวหางจึงไม่ใช่แหล่งน้ำหลักของน้ำบนโลก แต่แม้กระนั้นก็ตาม น้ำส่วนหนึ่งของทุกแก้วที่เราดื่มลงไปนั้น ครั้งหนึ่งก็เคยมาจากดาวหางอยู่ดี

 

ดาวหางมีหางอยู่ 2 แบบ ได้แก่

  • แบบที่ 1 “หางฝุ่น” (Dust Tail) เป็นทางของก้อนกรวดเล็กๆและฝุ่นที่ดาวหางทิ้งไว้ตามแนวการเคลื่อนที่ของดาวหาง เป็นหางที่ฟุ้งกระจายและมีความสว่างมาก มีแนวโน้มจะเห็นได้โดยไม่ต้องอาศัยกล้องโทรทรรศน์
  • แบบที่ 2 “หางไอออน” (Ion tail) เป็นสายธารของแก๊สเรืองแสงที่ถูก “เป่า” โดยลมสุริยะ มีทิศทางชี้ออกจากดวงอาทิตย์ตลอด มีความสว่างน้อยกว่าหางฝุ่นมาก

แม้ ดาวหางนีโอไวส์ จะกลับมาเยือนโลกอีกครั้งในอีก 6,767 ปี แต่ก็ยังคงมีดาวหางอีกหลายดวงที่จะแวะเวียนเข้ามาใกล้โลกอีกเรื่อยๆ จะสว่างเห็นด้วยตาเปล่าเช่นเดียวกับดาวหางดวงนี้หรือไม่ ต้องรอติดตามกันต่อไป

110320081 3336731363057121 1525395537271350223 o

ขอบคุณภาพปกจากเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และ TeamNARIT

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo