General

#ไม่เอาพรบคู่ชีวิต มาแรง ชาวเน็ตแห่ต้านชี้ไม่ใช่ ‘สมรสเท่าเทียม’

ไม่เอาพรบ. คู่ชีวิต มาแรงบนทวิตเตอร์ หลัง ครม. ผ่านร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต คู่รักเพศเดียวกัน สามารถจดทะเบียนได้ บอก อย่าโดนหลอก “คู่ชีวิต” ไม่ใช่ “คู่สมรส” ไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน

หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คู่ชีวิต พ.ศ. …. และร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาร่าง พ.ร.บ. แล้ว โดยมีหลักเพื่อให้กลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม เท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ และให้สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีนั้น

wed

บรรดาชาวเน็ตพากันติดแฮชแท็ก ไม่เอาพรบ.คู่ชีวิต จนขึ้นมาติดอันดับ 2 บนเทรนด์ ทวิตเตอร์ ในไทยอย่างรวดเร็ว โดยเสียงส่วนใหญ่ระบุว่า ร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต ของกระทรวงยุติธรรมนั้น แตกต่างจากแนวทางแก้ไขกฎหมายสมรสของพรรคก้าวไกล ยังคงสร้างความไม่เท่าเทียมกัน โดยใช้คำว่า “คู่ชีวิต” มาสร้างความแตกต่าง และไม่ได้ให้สิทธิคู่รัก ที่เป็นกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) เท่าเทียมกับคู่สมรสชาย-หญิง

ไม่เอาพรบ. คู่ชีวิต

a2 2

ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง ทวีตข้อความถึงเรื่องนี้ว่า  “พรบ.คู่ชีวิต civil partnership ไม่ใช่คู่สมรส เป็นแค่ความสัมพันธ์ทางผลประโยชน์ ที่รัฐรับรองให้บางอย่าง ไม่ใช่การสมรส สิทธิประโยชน์หลายๆอย่างไม่เท่าเทียมคู่สมรสเลย ถ้าร่างนี้ผ่าน ไม่ใช่ความเท่าเทียม มันคือการเลือกปฏิบัติ”

a4

ไม่เอาพรบ. คู่ชีวิต

ขณะที่อีกรายหนึ่ง แสดงความเห็นว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตไม่ได้ให้ความเท่าเทียม แบบที่การแก้ไขกฎหมายจะให้ได้ เพราะไม่ได้ปฏิบัติต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ให้ได้รับสิทธิ์เท่า “คู่สมรส” ชายหญิง แต่แบ่งแยกออกมาเป็น “คู่ชีวิต” แทน

a5 1

สาระสำคัญร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต

  • “คู่ชีวิต” หมายความว่า บุคคลสองคนซึ่งเป็นเพศเดียวกันโดยกำเนิด และได้จดทะเบียนคู่ชีวิตตาม พ.ร.บ. นี้
  • กำหนดให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเยาวชนและครอบครัว มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ. นี้
  • กำหนดให้การจดทะเบียนคู่ชีวิตจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองฝ่ายยินยอม มีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ และทั้งสองฝ่ายมีสัญชาติไทย หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย
  • กำหนดให้ในกรณีที่ผู้เยาว์จะจดทะเบียนคู่ชีวิต ต้องได้รับความยินยอมของบิดา มารดา ผู้รับบุตรบุญธรรม ผู้ปกครอง หรือศาล รวมทั้งกำหนดให้ผู้เยาว์ย่อมบรรลุ นิติภาวะเมื่อจดทะเบียนคู่ชีวิต
  • กำหนดให้คู่ชีวิตมีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 3 และ 5 (2) และมีอำนาจดำเนินคดีต่างผู้ตายต่อไปเช่นเดียวกับสามีหรือภริยา (มาตรา 29 วรรคหนึ่ง) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  • กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่ชีวิต โดยแบ่งเป็นสินส่วนตัว และทรัพย์สินร่วมกัน
  • คู่ชีวิตสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ รวมทั้งคู่ชีวิตฝ่ายหนึ่งจะจดทะเบียน รับผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของคู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมาเป็นบุตรบุญธรรมของตน ด้วยก็ได้
  • เมื่อคู่ชีวิตฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย ให้คู่ชีวิตอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิและหน้าที่ เช่นเดียวกับคู่สมรสตามบทบัญญัติใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยมรดก
  • กำหนดให้นำบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยคู่สมรส (มาตรา1606 1652 1563) ครอบครัว และบุตรบุญธรรม มาใช้บังคับแก่คู่ชีวิตด้วยโดยอนุโลม

ไม่เอาพรบ. คู่ชีวิต

สาระสำคัญ ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ 

  • กำหนดให้ชาย หรือหญิง จะทำการสมรส ในขณะที่ตนมี “คู่สมรส” หรือ “คู่ชีวิต” อยู่ไม่ได้
  • กำหนดให้เหตุฟ้องหย่า รวมถึง กรณีสามี หรือภริยา อุปการะเลี้ยงดู หรือยกย่องผู้อื่น ฉัน “คู่ชีวิต”
  • กำหนดให้สิทธิรับค่าเลี้ยงชีพ ในกรณีหย่า หมดไป ถ้าฝ่ายที่รับค่าเลี้ยงชีพสมรสใหม่ หรือจดทะเบียนคู่ชีวิต

ทั้งนี้  น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ร่าง พ.ร.บ คู่ชีวิต ถือเป็นก้าวย่างสำคัญ ของสังคมไทย ในการส่งเสริม ความเสมอภาค เท่าเทียมของคนทุกเพศ เป็นการรับรองสิทธิ ในการก่อตั้งครอบครัว ของคู่รักที่มีเพศเดียวกัน และเป็นเครื่องมือทางกฏหมาย ในการจัดการกับความสัมพันธ์ทางครอบครัวได้ เช่นเดียวกับคู่สมรส

“ส่วนสิทธิอื่นๆ ที่อาจจะยังมีไม่เท่ากับการจดทะเบียนคู่สมรสชาย-หญิง เมื่อกฎหมาย มีผลบังคับใช้แล้ว ก็จะมีการประเมินผล เพื่อพัฒนาให้มีความเหมาะสม กับบริบทต่างๆ ต่อไป รวมถึง การปรับปรุงกฎหมายฉบับอื่น ที่เกี่ยวข้องด้วย”

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo