General

ทำความรู้จัก ‘สมรสเท่าเทียม’ หนุนสิทธิคู่รักหลากหลายทางเพศ

สมรสเท่าเทียม กำลังเป็นประเด็นที่คนให้ความสนใจกันอย่างมาก และกลายเป็นแฮชแท็ก ที่ติดเทรนด์อันดับต้นๆ ในโลกออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ไปแล้ว 

เรื่องผลักดัน ร่างพระราชบัญญัติแก้ไข เพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  ซึ่งถูกเสนอขึ้นมาโดย “ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์” ส.ส.พรรคก้าวไกลนั้น มีเป้าหมายหลักอยู่ที่ การให้บุคคลธรรมดา ทั้งเพศเดียวกัน และต่างเพศ สามารถทำการหมั้น และสมรส ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

สมรสเท่าเทียม

นับแต่ที่เปิดให้ แสดงความคิดเห็น ถึงร่างพ.ร.บ. ฉบับแก้ไขฉบับนี้ ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะนี้ มีผู้เข้าไปแสดงความคิดเห็นแล้วถึง 49,967 คน ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดในบรรดาร่าง พ.ร.บ.ที่สภาเปิดรับฟังความคิดเห็นทางเว็บไซต์ทั้งหมด 49 ฉบับ

ธัญวัจน์ กล่าวว่า ขณะนี้ ยังบอกไม่ได้ว่า ประชาชนมีความคิดเห็นไปในทางใด จนกว่าเจ้าหน้าที่จะปิดรับฟังความเห็น ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่า 15 วัน แต่การที่ประชาชนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นผลดี ที่จะทำให้รัฐบาล และรัฐสภา ต้องรับฟังเสียงของประชาชนในการพิจารณากฎหมาย

สมรสเท่าเทียม แก้ไขอะไรบ้าง

รายละเอียดเกี่ยวกับ สมรสเท่าเทียม ประกอบด้วย

  • การแก้ไขรายละเอียดเกี่ยวกับการสมรส จากเดิมที่ระบุ ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา เป็น ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส
  • ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา เป็น ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส รวมถึงการแบ่งมรดกของผู้ตายที่มีคู่สมรส โดยได้ขอแก้ไขถ้อยคำในหลายมาตราที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า สามีและภรรยา เป็น คู่สมรส

การหมั้น

  • ให้บุคคลเพศเดียวกัน หรือต่างเพศ ซึ่งมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์ ทำการหมั้นกันได้
  • เสนอกำหนดคำศัพท์ขึ้นใหม่เป็น ผู้หมั้น และ ผู้รับหมั้น แทนคำว่า ชาย และ หญิง
  • แบบของการหมั้นให้ผู้หมั้นส่งมอบ หรือโอนทรัพย์สินให้กับผู้รับหมั้น ในส่วนของเรื่องสิทธิ และหน้าที่ ระหว่างคู่หมั้นยังคงตามหลักการเดิม เพียงแต่ปรับถ้อยคำเป็น ผู้หมั้น และ ผู้รับหมั้น

การสมรส

ให้บุคคลเพศเดียวกัน หรือต่างเพศ ซึ่งมีอายุ 18 บริบูรณ์ สามารถสมรสกันได้ หรือหากมีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้

สำหรับเงื่อนไขการสมรสยังคงหลักการเดิม แต่มีการปรับถ้อยคำจากคำว่า ชาย หรือ หญิง เป็น บุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสมรสระหว่างบุคคล เช่น

  • บุคคลซึ่งเป็นญาติ สืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป หรือลงมา จะทำการสมรส กันมิได้
  • บุคคลจะทำการสมรส ในขณะที่ตนมีคู่สมรสไม่ได้
  • การสมรสจะทำได้ ต่อเมื่อบุคคลทั้งสอง ยินยอมเป็นคู่สมรส
  • คู่สมรสต้องอยู่กินกันฉันคู่สมรส และช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู ตามความสามารถ และฐานะของตน
  • การจัดการทรัพย์สิน หนี้สินของคู่สมรส สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน ระหว่างคู่สมรส
  • การหย่า เหตุหย่า การฟ้องหย่าระหว่างคู่สมรส สิทธิได้รับค่าทดแทน การแบ่งสินสมรส
  • การเป็นผู้อนุบาลคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง กรณีศาลสั่งให้เป็น คนไร้ความสามารถ
  • การรับบุตรบุญธรรม
  • การรับมรดก กรณีผู้ตายมีคู่สมรส ต้องมีการแบ่งทรัพย์สิน ระหว่างผู้ตาย กับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยให้นำเรื่อง ส่วนแบ่งทรัพย์สิน ระหว่างคู่สมรส และคู่สมรสที่ร้างกัน หรือแยกกันอยู่ โดยยังมิได้หย่ากันตามกฎหมาย ยังคงมีสิทธิโดยธรรม ในการสืบมรดก ซึ่งกันและกัน

สมรสเท่าเทียม

เปลี่ยนแปลงอย่างไร

การสมรสเท่าเทียม จะเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลเพศเดียวกัน สามารถสมรสกันได้ตามกฎหมาย เพื่อให้สามารถได้รับสิทธิในการสมรส

  • สิทธิในการใช้นามสกุล
  • สิทธิในการเซ็นยินยอมในการรักษาพยาบาล เช่น การผ่าตัด ให้ยา หรือหยุดรักษาในกรณีเร่งด่วน
  • สิทธิในการรับรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการรักษา
  • สิทธิในการกู้เงินซื้อบ้านและทำประกันชีวิตร่วมกันในฐานะคู่สมรส
  • สิทธิทางมรดก คู่สมรสมีสิทธิรับมรดกก่อนทายาทลำดับอื่น
  • สิทธิในการรับบุตรบุญธรรม
  • สิทธิในการจัดการศพ เช่น การรับศพออกจากโรงพยาบาล การรับเงินสงเคราะห์ค่าทำศพ การขอออกใบมรณบัตร
  • สิทธิในการใช้สถานะสมรสเพื่อลดหย่อนภาษี
  • สิทธิในการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน
  • สิทธิเข้าเยี่ยมในเรือนจำกรณีที่นักโทษป่วย ในฐานะคู่สมรส
  • สิทธิในการขอวีซ่าเดินทาง กรณีบางประเทศต้องตรวจสอบยอดเงินในบัญชี คู่สมรสสามารถยื่นบัญชีของอีกฝ่ายเป็นหลักฐานได้

สำหรับ ร่างการแก้ไขกฎหมาย สมรสเท่าเทียม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเปิดรับฟังความคิดเห็น เกี่ยวกับประเด็นดังต่อไปนี้

  • ควรแก้ไขให้บุคคลไม่ว่าจะเป็น “เพศเดียวกัน” และ “ต่างเพศ” สามารถทำการหมั้นกันได้หรือไม่
  • ควรแก้ไขให้บุคคลไม่ว่าจะเป็น “เพศเดียวกัน” หรือ “ต่างเพศ” สามารถสมรสกันได้ ตามกฎหมายหรือไม่
  • ควรแก้ไขอายุบุคคลที่จะทำการสมรสกันได้ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป หรือไม่
  • ควรแก้ไขให้คู่สมรสทั้งที่เป็นเพศเดียวกันและต่างเพศ มีสิทธิ หน้าที่ ความสัมพันธ์ระหว่างกัน เหมือนสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา หรือไม่

อ่าน ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฯ 

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo