General

‘ธนินท์’ ช่วยแล้วกว่า 700 ล้าน สู้ ‘โควิด-19’

นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ทำหนังสือตอบกลับจดหมายของพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมว่า

1000x 1 3
ธนินท์ เจียรวนนท์

ผมถือเป็นหน้าที่ ที่จะต้องทำเพื่อประเทศโดยเฉพาะในยามวิกฤติ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) พร้อมสนับสนุนรัฐบาลอย่างเต็มที่ และขอเป็นกำลังใจให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลในการนำประเทศชาติ ก้าวผ่านสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ถือเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงของประเทศและของโลกในครั้งนี้

และขอยกย่องในความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ถือเป็นนักรบแนวหน้าในการรักษาชีวิตพี่น้องประชาชนไทย ทำให้วันนี้ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย มีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูลถึงวันที่ 30 เมษายน 2563)

นอกจากนี้ ทุกครั้งที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติในอดีตจนถึงปัจจุบัน จะเห็นความสามัคคี ความร่วมแรงร่วมใจของคนไทยจากทุกภาคส่วน ออกมาให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องเสมอมา

เช่นเดียวกับวิกฤติในครั้งนี้ ที่จะเห็นได้ว่า ทุกภาคส่วนได้ออกมาร่วมแรงร่วมใจกันทำหน้าที่ของตนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนไทยอย่างดีมาโดยตลอด พร้อมทั้งเสนอสิ่งที่ผม และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้ดำเนินการแล้ว รวมยอดกว่า 700 ล้านบาท

เงินลงทุนดังกล่าว แบ่งเป็น สร้างโรงงานหน้ากากอนามัยฟรี 100 ล้านบาท พร้อมเพิ่มงบผลิตหน้ากากอีก 75 ล้านบาท บริจาค อุปกรณ์การแพทย์ 30 ล้านบาท ,โครงการมอบอาหารต้านภัยโควิด-19 ให้บุคลากรการแพทย์และผู้ถูกกักตัว 200 ล้านบาท ,มอบ 77 ล้าน ให้กับ 77โรงพยาบาลและโครงการอื่นๆ 176.60 ล้านบาท ,แจกอุปกรณ์สื่อสรให้กับโณงพยาบาลทั้งดาต้า หุ่นยนต์ ซิมและอินเตอร์เน็ต 12 ล้านบาท

นอกจากนี้จะเสนอโครงการที่จะดำเนินการในระยะต่อไป ได้แก่ พัฒนาแหล่งน้ำระบบชลประทานเป็นแก้มลิง4.0 ,โครงการเกษตรผสมผสานเพื่อทำเป็นต้นแบบ 4 ประสานเพิ่มรายได้เกษตรกร ,โครงการแพลตฟอร์มออนไลน์ เรียนทางไกลและแพทย์ทางไกล และโครงการวิจัยสู้ภัยโควิด-19 วิจัยวัคซีนและยารักษาโรค

อย่างไรก็ตาม ในระยะต่อไป สิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน คือ การเตรียมการเข้าสู่ช่วงการฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องรักษาความเชื่อมั่น และประคองระบบสังคม วิถีชีวิต ให้สามารถดำรงอยู่ได้ ธุรกิจขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ต้องไม่ล้มหายตายจากไป และ ยังรักษาการจ้างงาน พี่น้องประชาชน จะยังคงมีรายได้เลี้ยงชีพ อาชีพอิสระ อาชีพรับจ้าง เกษตรกร หรือแม้กระทั่งคนว่างงาน จะยังคงมีรายได้เพียงพอในการยังชีพ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากนี้ ในยามที่ฟ้ามืด ต้องเตรียมตัวให้พร้อมเมื่อยามฟ้าสว่าง  นั่นคือ การเตรียมแผนฟื้นฟูประเทศไทยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และหากมองวิกฤตนี้เป็นโอกาส และ ประเทศไทย กล้าตั้งเป้าหมายให้ “ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก” ทั้งด้านการค้า การลงทุน การเงิน และเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว

ส่วนภาคประชาชน ภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐจะต้องให้ความช่วยเหลือ ดูแล และสนับสนุนให้ทั่วถึง โดยเฉพาะแรงงาน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และครอบครัวของบุคคลเหล่านี้ ได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ และอาจมีภาระหนี้สินด้วย ในส่วนของภาคธุรกิจเอกชน ก็ได้รับผลกระทบ ทั้งด้านการขาดรายได้ การยังคงมีรายจ่ายค่าจ้างแรงงานและรายจ่ายต่างๆ ตลอดจนภาระหนี้สินที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจเอกชนขนาดเล็ก-กลาง (SME) แม้จะมีสัดส่วนทางเศรษฐกิจไม่มากนัก แต่ก็เป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญในระดับภูมิภาค/ท้องถิ่น ธุรกิจขนาดใหญ่มีความเชื่อมโยงกับเอสเอ็มอี และซัพพลายเชนในระบบเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง มีสัดส่วนในระบบเศรษฐกิจสูง นับเป็นกลไกสำคัญ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

ฉะนั้น รัฐบาลจึงควรช่วยเหลือสนับสนุนภาคประชาชนและธุรกิจเอกชนทุกขนาดให้ทั่วถึงโดยรวดเร็ว ตามความเดือดร้อน ในช่วงที่ประสบปัญหาโควิด-19 รัฐบาลควรใช้โอกาสนี้ สนับสนุน เร่งกระตุ้นภาคเอกชนให้ปรับปรุงการดำเนินธุรกิจ ให้มีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ ภายใต้ “สภาวะปกติใหม่” ที่จะมีรูปแบบความต้องการสินค้าและบริการ และการตอบสนองเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วหลังปัญหาโควิด-19 ยุติลง ตลอดจน เทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่อื่นๆ ประเด็นเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยและสิ่งแวดล้อมจะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจ”นายธนินท์  กล่าว

Avatar photo