โศกนาฏกรรมกราดยิงกลางห้างดัง โคราช ทำให้ห้างเทอร์นินอล 21 นครราชสีมา กลายเป็นชื่อที่สร้างความระทึกขวัญภายในชั่วข้ามคืน จากการเป็นสถานที่ที่คนร้ายใช้ก่อเหตุจนมีผู้เสียชีวิตถึง 20 ราย และบาดเจ็บ 42 (ตัวเลขเป็นทางการ ณ เวลา 9.30 น. วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563)
มาทำความรู้จัก เทอร์มินอล 21 นครราชสีมากันก่อน
เทอร์มินอล 21 โคราช บริหารงานโดยบริษัท สยามรีเทล ดีเวลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นหนึ่งในธุรกิจเครือ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2559 โดยเป็นสาขาที่ 2 ของเทอร์มินอล ต่อจากสาขาแรกที่ เทอร์มินอล 21 อโศก และปัจจุบัน เทอร์มินอล 21 สาขาที่ 3 อยู่ที่พัทยา
ต้องยอมรับว่า ห้างเทอร์์มินอล 21 นครราชสีมา เป็นการทุ่มลงทุนครั้งสำคัญของกลุ่มสยามรีเทลฯ เนื่องจากใช้งบลงทุนถึง 6,000 ล้านบาท และตั้งใจพัฒนาให้เป็น “จุดหมายปลายทางแห่งการช้อปปิ้ง” (World Market Street) ด้วยขนาดพื้นที่ถึง 32 ไร่ ประกาศเป็นอาณาจักรไลฟ์สไตล์มอลล์ โดยแต่ละชั้นจะตกแต่งเป็น “7 มหานครระดับโลก” อันได้แก่ โตเกียว, ปารีส, อิสตันบูล, ลอนดอน, ซานฟรานซิสโก, คาริบเบี้ยน และ ฮอลีวู้ด ซึ่งเป็นแนวคิดหลักเดียวกับเทอร์มินอล 21 อโศก
ไฮไลต์ของ เทอร์มินอล 21 นครราชสีมา อยู่ที่จุดชมวิวความสูงระดับตึก 24 ชั้น หรือ 110 เมตร บนหอคอยที่ออกแบบให้เป็นหอบังคับการท่าอากาศยานช้อปปิ้ง และหอไอเฟล จำลอง ความสูง 72 ฟุต หรือเทียบง่ายๆ ประมาณตึก 5 ชั้น
โดยภาพรวมของ เทอร์มินอล 21 นครรราชสีมา เป็นศูนย์การค้าสูง 7 ชั้น มีชั้นใต้ดิน 1 ชั้น อาคารจอดรถสูง 9 ชั้น มีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น รองรับรถยนต์ได้ 2,500 คัน และมีอาคารจอดรถใหม่ด้านหลังศูนย์การค้า ความสูง 8 ชั้น รองรับรถยนต์ได้ 300 คัน และโรงแรมเซ็นเตอร์พอยท์ แอท เทอร์มินอล 21 โคราช สูง 18 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยกว่า 240,000 ตารางเมตร บนพื้นที่ 32 ไร่ ประกอบไปด้วยร้านค้าและผู้เช่าต่าง ๆ กว่า 400 ร้านค้า
การตัดสินใจพัฒนาเทอร์มินอล นครราชสีมา เนื่องจากเห็นศักยภาพทั้งการเป็นศูนย์กลางของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และการลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-นครรราชสีมา ที่คาดว่าจะเปืดให้บริการในปี 2566 นี้ อันเป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการค้าปลีกรายอื่นมองเห็นเช่นกัน ทำให้ปัจจุบัน นครราชสีมา มีห้างใหญ่ถึง 3 ห้างคือ เดอะมอลล์, เซ็นทรัล และเทอร์มินอล 21
เหตุการณ์เศร้าสลดใจที่เกิดขึ้นใน เทอร์มินอล 21 นครราชสีมาครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งบทเรียนของผู้ประกอบการห้างสรรพสินค้า ที่ต้องวางกลไกการรักษาความปลอดภัยตลอดเวลา เพราะจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นเรื่องที่ไม่คาดคิด และต้องบอกว่านอกเหนือการควบคุม ซึ่งต้องยอมรับว่า ทีมปฏิบัติงานด้านความปลอดภัยของทางห้างทำงานได้อย่างดีเยี่ยมและทุ่มเท โดยเฉพาะการประสานงานกับทีมช่วยเหลือจากภายนอก
บทเรียนจากเรื่องนี้ ทำให้สะท้อนได้ว่า ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ที่เป็นแหล่งชุมนุมพบปะสังสรรค์ของผู้คน แหล่งพักผ่อนหย่อนใจที่มีผู้คนเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก กลายเป็นหนึ่งในสถานที่มีโอกาสเกิดเหตุร้ายที่ไม่คาดฝันได้ หากผู้ก่อการร้ายหรือผู้ร้ายมุ่งหวังการสร้างสถานการณ์ที่ส่งผลกระทบกับผู้คนจำนวนมาก เห็นได้จากหลายเหตุการณ์ร้ายๆ ที่ผ่านมา ที่ผู้ก่อเหตุเลือกห้างเป็นสถานที่ก่อการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการปล้น วางระเบิด ก่อวินาศกรรม วางเพลิง เป็นต้น
ดังนั้น ระบบการดูแลรักษาความปลอดภัย และการวางมาตรการอย่างเข้มข้น มีการเตรียมความพร้อมรับมือตลอดเวลา จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมากที่ทุกห้างไม่ควรละเลย