General

8 กุมภาพันธ์ ไม่ใช่แค่ ‘วันมาฆบูชา’ แต่ยังเป็น ‘วันกตัญญูแห่งชาติ’

“มาฆบูชา” ย่อมาจาก “มาฆปูรณมีบูชา” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ ตามปฏิทินอินเดีย หรือเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย

วันนี้เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธ เนื่องในโอกาสคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาติโมกข์”  แก่พระสงฆ์ 1,250 รูป ทั้งหมดเป็นพระอรหันต์ และเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบท โดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งหมด และมาเฝ้าพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “จาตุรงคสันนิบาต”

จาตุรงคสันนิบาต หมายความว่า “การประชุมด้วยองค์ 4” กล่าวคือมีเหตุการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นพร้อมกันในวันนี้ คือ

  • เป็นวันที่พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้า จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันที่เวฬุวันวิหารในกรุงราชคฤห์ โดยมิได้นัดหมาย
  • พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้ล้วนเป็น “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” คือเป็นผู้ที่ได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้าทั้งสิ้น
  • พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปที่ได้มาประชุมในครั้งนี้ ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์
  • เป็นวันที่พระจันทร์เต็มดวงกำลังเสวยมาฆฤกษ์

GettyImages 185633010

วันมาฆบูชาในประเทศไทย

เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เริ่มต้นขึ้นจากภายในพระบรมมหาราชวังก่อน มีพิธีการพระราชกุศลในเวลาเช้า ส่วนเวลาค่ำเสด็จออกทรงจุดธูปเทียนเครื่อง มนัสการแล้ว พระสงฆ์สวดทำวัตรเย็นเสร็จแล้ว สวดมนต์ต่อไปมีสวดคาถาโอวาทปาติโมกข์ด้วย สวดมนต์จบทรงจุดเทียนรายตามราวรอบ พระอุโบสถ ๑,๒๕๐ เล่ม มีการประโคมอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงมีการเทศนา โอวาทปาติโมกข์ 1 กัณฑ์เป็นทั้งเทศนาภาษาบาลี และภาษาไทย เทศนาจบ พระสงฆ์สวดรับการประกอบพระราชกุศลเกี่ยวกับวันมาฆบูชา

ต่อมาพิธีก็ได้ขยายออกไป ให้พุทธบริษัทได้ปฏิบัติตามอย่างเป็นระบบเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน มีการบูชา ด้วยการเวียนเทียน และบำเพ็ญกุศลต่างๆ

ส่วนกำหนดวันประกอบพิธีมาฆบูชานั้น ปกติตรงกับวันเพ็ญ เดือน 3 หากปีใดเป็นอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองครั้ง จะเลื่อนไปตรงกับวันเพ็ญ เดือน 4

โอวาทปาติโมกข์ คืออะไร

หลักคำสอนคำสำคัญของพระพุทธศาสนาอันเป็นไปเพื่อป้องกัน และแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น หรือคำสอนอันเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา หลักธรรมประกอบด้วย หลักการ 3 อุดมการณ์ 4 วิธีการ 6

หลักการ 3

  • ไม่ทำบาปทั้งปวง  งดเว้น การลดละเลิก ทำบาปทั้งปวง ทั้งทางกาย วาจา และใจ
  • ทำกุศลให้ถึงพร้อม ทำความดีทุกอย่าง ได้แก่ กุศลกรรมบถ 10 เป็นแบบของการทำฝ่ายดีมี 10 อย่าง อันเป็นความดีทางกาย วาจา และใจ
  • ทำจิตให้ผ่องใส  ทำจิตของตนให้ผ่องใส ปราศจากนิวรณ์ซึ่งเป็นเครื่องขัดขวางจิตไม่ให้เข้าถึงความสงบ

GettyImages 162643468

อุดมการณ์ 4

  • อดทน ได้แก่ ความอดกลั้น ไม่ทำบาปทั้งทางกาย วาจา ใจ
  • ไม่เบียดเบียน ได้แก่ การงดเว้นจากการทำร้ายรบกวน หรือ เบียดเบียนผู้อื่น
  • สงบ ได้แก่ ปฏิบัติตนให้สงบทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ
  • นิพพาน ได้แก่ การดับทุกข์ ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

วิธีการ 6

  • ไม่ว่าร้าย ได้แก่ ไม่กล่าวให้ร้ายหรือ กล่าวโจมตีใคร
  • ไม่ทำร้าย ได้แก่ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น
  • สำรวมในปาติโมกข์ ได้แก่ ความเคารพระเบียบวินัย กฎ กติกา กฎหมาย รวมทั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีของสังคม
  • รู้จักประมาณ ได้แก่ รู้จักความพอดีในการบริโภคอาหารหรือการใช้สอยสิ่งต่าง ๆ
  • อยู่ในสถานที่ที่สงัด ได้แก่ อยู่ในสถานที่สงบมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม
  • ฝึกหัดจิตใจให้สงบ ได้แก่ ฝึกหัดชำระจิตให้สงบมีสุขภาพคุณภาพ และประสิทธิภาพที่ดี

GettyImages 634756462

วันกตัญญูแห่งชาติ

เมื่อปี 2549 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้วันมาฆบูชาเป็น “วันกตัญญูแห่งชาติ” เนื่องจากเห็นว่า ในเดือนกุมภาพันธ์ มีวันแห่งความรัก ที่ตรงกับวันที่ 14 กุมภาพันธ์ รวมอยู่ด้วย และวันนี้หญิงสาวมักยอมเสียตัวให้กับชายคนรัก หลายหน่วยงานจึงพยายามรณรงค์ให้วันมาฆบูชา เป็นวันแห่งความรักอันบริสุทธิ์ของชาวพุทธแทน

นอกจากนี้ ยังกำหนดขึ้น เพื่อส่งเสริมค่านิยมให้คนไทยยึดถือความกตัญญู เป็นคนดี อยู่ในศีลธรรม ไม่ประพฤตินอกลู่นอกรอย เพื่อนำความภูมิใจมาสู่บิดามารดา และญาติพี่น้องในวงศ์ตระกูล อีกทั้งยังเตือนให้ระลึกถึงคุณบิดามารดา เป็นการสร้างกุศลให้เกิดขั้นก่อนภายในครอบครัว ซึ่งถือเป็นสถาบันพื้นฐานอันสำคัญ ที่จะส่งผลไปถึงในระดับสังคมต่อไป

วันนี้ อาจมีการพูดคุย ส่งบัตรอวยพร มอบของขวัญ หรือช่อดอกไม้แก่ผู้มีพระคุณ เป็นการแสดงความระลึกถึงพระคุณด้วยความหวังดีของผู้ให้ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของ การแสดงออกซึ่งน้ำใจ หรือคำพูด

Avatar photo