General

ดีเอ็นเอจาก ‘เหงื่อ’ หนึ่งหลักฐานสำคัญมัดตัวโจรปล้นทอง?

จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญคดี “โจรเหี้ยม” บุกปล้นร้านทองออโรร่า ภายในห้างดัง อ.เมืองลพบุรี โดยใช้อาวุธปืนเก็บเสียงยิงเปิดทางใส่ประชาชนและพนักงานร้านทอง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตรวม 3 ศพนั้น

มีรายงานว่า ตำรวจสามารถยืนยันตัวผู้ต้องสงสัยได้จากการเปรียบเทียบดีเอ็นเอจาก “เหงื่อ” ที่ตรวจพบบริเวณตู้ทองคำและประตูทางเข้าออกของห้าง ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่มัดตัวคนร้าย ทำให้เกิดข้อสงสัยตามมาว่า “เหงื่อ” ของคนเราสามารถตรวจหาดีเอ็นเอได้จริงหรือ

กระแทกประตู5

เพจดังอย่าง “Drama-addict” รายงานว่า คนร้ายปล้นทองมันวางแผนมาดี ใส่ถุงมือมิดชิด ไม่มีรอยนิ้วมือเลย แต่เพราะมิดชิดนี่แหละ คงร้อน เหงื่อไหล ตอนมันขึ้นตู้ทอง ทุบตู้กวาดทองออกมา มีเหงื่อหยดลงมาบนตู้ ตำรวจยังควานหาเหงื่อหยดนั้นเจอ แล้วในเหงื่อมันจะมีเซลล์ผิวหนังติดมา ตำรวจก็ควานหาเซลล์ผิวหนังในนั้นไปตรวจหาดีเอ็นเอเทียบกับผู้ต้องสงสัยอีกที นิติวิทยาศาสตร์จงเจริญ!!!!!

“เหงื่อ” คือ หลักฐานเด็ดในการตรวจ DNA ชี้ตัวคนร้ายจริงหรือไม่!!

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เคยโพสต์บทความเรื่อง “เหงื่อ หลักฐานใหม่ในการพิสูจน์บุคคล” โดย พรรณพร กะตะจิตต์ ระบุว่า เหงื่อ อาจไม่ใช่หลักฐานที่หลายคนคิดว่าสามารถเปิดเผยตัวผู้ต้องสงสัยได้ แต่ทุกตารางเซนติเมตรของผิวหนังมีต่อมเหงื่อ 100 ต่อมต่อตารางเซนติเมตรหรือประมาณ 650 ตารางนิ้ว ซึ่งไม่ว่าจะเกิดเหงื่อด้วยเหตุผลของอากาศร้อนหรือความวิตกกังวลอื่นใด ผู้คนมักจะทิ้งเหงื่อไว้บนสิ่งที่พวกเขาสัมผัสแตะต้อง ดังนั้นการหลั่งเหงื่อแต่ละครั้งจึงมีความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์บุคคลเช่นเดียวกับลายนิ้วมือ

“เหงื่อ” เป็นของเหลวทางชีวภาพของมนุษย์ มีความเข้มข้นแตกต่างกันไป ทำให้เหงื่อมีลักษณะค่อนข้างเฉพาะตัว ซึ่งตามรายงานประบุว่า มีสารเมตาบอไลท์ 3 ชนิดที่สามารถใช้เพื่อระบุลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลได้ ได้แก่ ยูเรีย(Urea) แลคเทต (Lactate) และกลูตาเมต (Glutamate)

เหงื่อ232
ภาพจาก Pixabay

การใช้ “เหงื่อ” พิสูจน์ตัวคนร้าย

นักวิทยาศาสตร์ได้ทดลองเก็บตัวอย่างเหงื่อของอาสามัคร 25 ตัวอย่าง ทดลองเปรียบเทียบกับตัวอย่างที่สังเคราะห์ขึ้น 25 ตัวอย่าง ปรากฏว่า การทดลองสามารถแยกแยะความแตกต่างของแต่ละตัวอย่างได้ตามความเข้มข้นของเมตาบอไลท์และใช้เวลาสั้น ๆ เพียง 30-40 วินาทีในการวิเคราะห์เท่านั้น หากไม่มีหลักฐานดีเอ็นเอเพียงพอต่อการวิเคราะห์ หรืออาจต้องใช้ระยะเวลานานในการรอผลทางห้องปฏิบัติการ นั่นอาจเป็นเรื่องยากที่จะสามารถระบุจำนวนของผู้ต้องสงสัยที่อยู่ในสถานที่เกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว การวิเคราะห์เมตาบอไลท์จากเหงื่อจะสามารถช่วยลดขั้นตอนเหล่านี้ลงได้ ผลลัพธ์ที่ได้อาจสามารถพัฒนาวิธีการพิสูจน์หลักฐานอื่น ๆ ได้ในอนาคต

ความเข้มข้นของเมตาบอไลท์ยังไม่อาจสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างของยีนที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละบุคคลได้เท่ากับลายนิ้วมือ เนื่องด้วยปัจจัยในเรื่องการรับประทานอาหาร สุขภาพ และการออกกำลังกาย ที่ทำให้ให้สารเมตาบอไลท์เปลี่ยนแปลงไปได้ ดังนั้นการเก็บข้อมูลและติดตามความเปลี่ยนแปลงของเหงื่อของแต่ละบุคคล จึงเป็นขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นมาในการพิสูจน์หลักฐานด้วยตัวอย่างเหงื่อ แต่ถึงเช่นนั้นเหงื่อก็เป็นตัวอย่างหลักฐานที่สามารถเปิดเผยเพศและอายุได้โดยประมาณ

อย่างไรก็ตาม จากกรณีดังกล่าวโลกออนไลน์ได้มีการชื่นชมการทำงานของ “ธีระฉัตร นิ่มมา” รปภ.ห้างโรบินสัน ที่วิ่งเข้าไปกดปุ่มปิดประตูอัตโนมัติเพื่อหวังต้องการปิดทางหนีของคนร้าย จนทำให้จ่อยิงจนเสียชีวิต แต่ความกล้าหาญนั้นก็ไม่สูญเปล่า เพราะทำให้ตำรวจได้มาซึ่งหลักฐานสำคัญที่สุด คือ “เหงื่อ” ของคนร้าย เพราะคนร้ายใช้ตัวกระแทกประตูบานเลื่อน เพื่อพยายามเปิดประตู

มีการตั้งข้อสังเกตว่า หากเหงื่อไปติดบริเวณอื่นก็คงพอจะอ้างได้ว่า เคยมาที่ห้างนี้จึงมี DNA ติดอยู่ได้ แต่เนื่องจากเป็นประตูบานเลื่อน แบบเปิด-ปิดอัตโนมัติ การที่คนทั่วไปจะไปสัมผัสได้จึงมีน้อยมาก DNA ของบุคคลที่ปรากฏอยู่ จึงต้องเกิดจากคนที่ตั้งใจสัมผัสเท่านั้น และหนึ่งในนั้นก็คือ “คนร้าย” ที่ถูกจับในครั้งนี้

Avatar photo