General

เปิดคำพิพากษา ‘คดีไร่ส้ม’ ส่ง ‘สรยุทธ สุทัศนะจินดา’ เข้าคุก!!

เปิดคำพิพากษาศาลฎีกา “คดีไร่ส้ม” ส่ง “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” อดีตนักเล่าข่าวชื่อดัง เข้าคุก 6 ปี 24 เดือน

เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 21 มกราคม 2563 ที่ห้องพิจารณา 703 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ถ.นครไชยศรี ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาคดีบริษัทไร่ส้มฯ หมายเลขดำ อ.313/2558 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 2 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นางพิชชาภา เอี่ยมสะอาด หรือนางชนาภา บุญโต อดีตพนักงานจัดทำคิวโฆษณาของ บมจ.อสมท, บริษัท ไร่ส้ม จำกัด โดย น.ส.อังคนา วัฒนมงคลศิลป์ และ น.ส.สุกัญญา แซ่ลิ่ม ในฐานะกรรมการผู้จัดการ บจก.ไร่ส้ม, นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา อดีตนักเล่าข่าวชื่อดัง และกรรมการผู้จัดการ บจก.ไร่ส้ม และ น.ส.มณฑา ธีระเดช พนักงาน บจก.ไร่ส้ม เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นพนักงานเรียกรับทรัพย์สินฯ, เป็นพนักงานใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่องค์กร, เป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และสนับสนุนพนักงานกระทำความผิดดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 6, 8, 11

โดยคำฟ้องบรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2548 – 28 เมษายน 2549 ต่อเนื่องกัน นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ได้จัดทำคิวโฆษณารวมในรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ก่อนออกอากาศ นางพิชชาภาใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลาเพื่อเรียกเก็บค่าโฆษณาเกินเวลา จาก บจก.ไร่ส้ม รวม 17 ครั้ง ทำให้ บมจ.อสมท เสียหาย 138,790,000 บาท และยังได้เรียกรับเอาเงิน 658,996 บาท จากจำเลยที่ 2-4 เพื่อเป็นการตอบแทนที่นางพิชชาภาไม่รายงานการโฆษณา ซึ่งเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยหน้าที่ และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ บมจ.อสมท โดยมีจำเลยที่ 2-4 เป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือ ให้ความสะดวกในการกระทำผิด และมอบเช็คธนาคารธนชาติ สาขาพระราม 4 สั่งจ่ายเงินให้นางพิชชาภา

ศาลอาญา

เหตุเกิดที่แขวง-เขตห้วยขวาง กทม. จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 ให้จำคุกนางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ 6 กระทง ๆ ละ 5 ปี รวมจำคุก 30 ปี, ปรับ บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 กระทงละ 20,000 บาท รวม 6 กระทง เป็นเงิน120,000 บาท, นายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา จำเลยที่ 3 – 4จำคุก 6 กระทงๆ ละ 3 ปี 4 เดือน รวมจำคุกคนละ 20 ปี ทางนำสืบเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกนางพิชชาภา จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 20 ปี ส่วนนายสรยุทธ และ น.ส.มณฑา จำเลยที่ 3-4 จำคุกคนละ 13 ปี 4 เดือน สำหรับ บจก.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 เหลือปรับ 80,000 บาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ลงโทษจำเลยทั้ง 4 ตามศาลชั้นต้น ภายหลังพวกจำเลยได้รับการประกันตัวระหว่างฎีกาด้วยหลักทรัพย์คนละ 5 ล้านบาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาหารือกันแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่รายงานการโฆษณาเกินเวลาของ บ.ไร่ส้ม ให้ผู้บังคับบัญชาทราบหรือไม่ และเช็ค 6 ฉบับที่เป็นของบ.ไร่ส้มฯจ่ายให้กับนางพิชชาภา จำเลยที่ 1 เพื่อตอบแทนการไม่รายงานโฆษณาส่วนเกินหรือไม่ ประเด็นนี้จำเลยที่ 1-4 อ้างทำนองเดียวกันว่านางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องรายงานโฆษณาส่วนเกิน และเช็ค 6 ฉบับที่จ่ายให้เป็นเพียงค่าประสานงานโฆษณาไม่ใช่เพื่อตอบแทนการไม่รายงานโฆษณาเกินเวลาของ บ.ไร่ส้มนั้น

ศาลฎีกาเห็นว่า ขณะเกิดเหตุนางพิชชาภา เป็นเจ้าหน้าที่ธุรการฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าสำนักกลยุทธการตลาด อสมทมีหน้าที่ประสานงานลูกค้าสัญญาร่วมดำเนินรายการโทรทัศน์และจัดคิวโฆษณา โดยมี น.ส.อัญญา อู่ไทย ผู้ช่วย ผอ.ฝ่ายสนับสนุนและบริการลูกค้าเป็นผู้บังคับบัญชา โดยนางพิชชาภา ได้รับมอบหมายให้ดูแลการจัดคิวโฆษณาของ บ.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ช่วงเดือน กุมภาพันธ์ 2548 -มิถุนายน 2549 บ.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ส่งคิวโฆษณาเกินข้อตกลงในสัญญาให้ และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา ซึ่งหลังจากทีนางพิชชาภา ได้รับคิวโฆษณาแล้วก็นำไปจัดเป็นคิวโฆษณารวมของรายการ “คุยคุ้ยข่าว” โดยไม่แจ้งหรือรายงานโฆษณาส่วนเกินให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จนมีการออกอากาศโฆษณาส่วนเกินของ บ.ไร่ส้ม หลายครั้ง

สรยุทธ211635 1
ภาพจาก @sorrayuth9111

การทำหน้าที่ของนางพิชชาภา ได้ประสานงานกับ น.ส.มณฑา จำเลยที่ 4 พนักงาน บ.ไร่ส้ม ในการนำคิวโฆษณาของบริษัท รวมกับคิวโฆษณาของ อสมท เพื่อจัดทำเป็นใบคิวโฆษณารวมของรายการ “คุยคุ้ยข่าว” และได้ความจากพยานโจทก์ที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า นางพิชชาภา นอกจากหน้าที่จัดทำใบคิวโฆษณารวมของรายการแล้ว นางพิชชาภา ยังมีหน้าที่รายงานโฆษณาเกินเวลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบด้วย แม้หน้าที่นั้นจะไม่มีระเบียบหรือคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรกำหนดไว้ก็ตาม แต่เป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยทั่วไป หรือเป็นสามัญสำนึกในหน้าที่ที่จะต้องกระทำเพื่อรักษาผลประโยชน์ของ อสมท ผู้เสียหาย ที่นางพิชชาภาสังกัดอยู่ ซึ่งพยานโจทก์เกือบทุกปากต่างยืนยันว่าเป็นหน้าที่ของนางพิชชาภา ต้องรายงานการโฆษณาเกินเวลา

นอกจากนี้ก็มีบุคคลที่มีหน้าที่ดูแลเวลาโฆษณาของ อสมท ในลักษณะเดียวกับนางพิชชาภา เบิกความด้วยว่า ทุกครั้งที่ อสมท มีโฆษณาส่วนเกินก็จะต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบเช่นกัน

เห็นได้ว่านางพิชชาภา ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำนวนเวลาที่โฆษณาตามข้อตกลงในสัญญาและบันทึกข้อตกลงที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมระหว่าง อสมท – บ.ไร่ส้ม รวมถึงสิทธิของ บ.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ในการโฆษณาเป็นอย่างดี เช่น หากเป็นรายงาน 1 ชั่วโมงโฆษณาได้ 5 นาที แต่นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบเพียงว่า บ.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ได้ส่งคิวโฆษณาเกินเวลาช่วงเดือน มีนาคม 2548 เพียงครั้งเดียว โดยผู้บังคับบัญชาสั่งการให้นางพิชชาภา แจ้ง บ.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 มาชำระค่าโฆษณาเกินเวลาแล้วหลังจากนั้นก็ไม่มีรายงานโฆษณาเกินเวลาให้ทราบอีกเลย

ดังนั้นการที่นางพิชชาภาละเลยหน้าที่ไม่ได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จนเป็นเหตุให้ บ.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ไม่ได้ชำระเงินค่าโฆษณาส่วนเกินตามที่ตกลงในสัญญาการกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ส่วนที่จำเลยที่ 1- 4 อ้างว่า เช็ค 6 ฉบับช่วงเดือน กันยายน 2548 – เมษายน 2549 ที่ บ.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 จ่ายโดยมีนายสรยุทธ ในฐานะ 1 ในกรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คให้กับนางพิชชาภา เพื่อเป็นค่าประสานงานโฆษณาไม่ใช่เพื่อตอบแทนการไม่รายงานโฆษณาเกินเวลาของ บ.ไร่ส้มเพื่อตอบแทนการไม่รายงานโฆษณาส่วนเกินหรือไม่นั้น

ข้อเท็จจริงส่วนนี้ได้ความตามทางนำสืบว่า เมื่อพิจารณาจากเอกสารสรุปค่าประสานงานโฆษณาและใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีค่าโฆษณาที่ผู้สั่งซื้อโฆษณาจ่ายให้กับ บ.ไร่ส้ม เปรียบเทียบกันแล้วเห็นได้ว่า จำนวนเงินที่ระบุไว้ว่าเป็นค่าประสานงานโฆษณาที่คิดในอัตรา 2% ของค่าโฆษณา ในแต่ละใบเสร็จรับเงินมีการอ้างอิงใบสั่งซื้อโฆษณาที่สามารถตรวจสอบได้ข้อเท็จจริง

จึงฟังได้ว่า เงินตามเช็คจำนวน 744,659.30 บาท ที่จ่ายให้นางพิชชาภาเป็นเงินที่จ่ายจากค่าโฆษณาที่คิดคำนวณในอัตรา 2% พยานหลักฐานของจำเลยที่ 2-4 ที่นำสืบถึงที่มาจำเลยเงินตามเช็ค 6 ฉบับว่าคิดคำนวณในอัตรา 2%ของเงินค่าโฆษณาสินค้าจากผู้สั่งซื้อโฆษณาจึงฟังขึ้นบางส่วนโดยพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนยังไม่พอฟังว่าการรับเช็คนั้นเป็นค่าตอบแทนในการไม่รายงานโฆษณาเกินเวลา

ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ที่จะต้องวินิจฉัยประการที่ 2 ว่า การกระทำของ นางพิชชาภา เป็นความผิดฐานเป็นพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินฯ สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบฯ, ฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่จัดซื้อ จัดการทรัพย์ฯ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตเป็นการเสียหายแก่องค์การฯ, ฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต และจำเลยที่ 2-4 เป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ทำผิดหรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 1 อ้างว่า การทำนั้นไม่พบองค์ประกอบความผิดนั้น

ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อวินิจฉัยแล้วว่า เช็ค 6 ฉบับที่ บ.ไร่ส้ม สั่งจ่ายให้จำเลยนางพิชชาภา ไม่ใช่ค่าตอบแทน ที่ไม่รายงานโฆษณาเกินเวลา ดังนั้นการที่นางพิชชาภา รับเช็ค 6 ฉบับตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินฯ สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบฯ และจำเลยที่ 2-4 จึงไม่ได้กระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดฐานนี้ด้วยเช่นกัน

ส่วนฐานความผิดเป็นพนักงานมีหน้าที่จัดซื้อ จัดการทรัพย์ฯ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตเป็นการเสียหายแก่องค์การฯ ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำจะเป็นความผิดนี้ได้ก็ต่อเมื่อพนักงานผู้นั้นมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ โดยตรง และใช้อำนาจในตำแหน่งแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้จากทรัพย์นั้น ซึ่งคำว่า “ทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 137 หมายความว่าวัตถุมีรูปร่าง แต่ตามฟ้องโจทก์ได้ความเพียงว่า นางพิชชาภา มีหน้าที่จัดทำคิวโฆษณารวมของรายการ “คุยคุ้ยข่าว” ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่รายงานโฆษณาเกินเวลาของ บ.ไร่ส้ม เพื่อจะเรียกเก็บเงินค่าโฆษณาเกินเวลา เป็นความเสียหายกับ อสมท เท่านั้น แต่ไม่ได้บรรยายโดยชัดเจนว่า นางพิชชาภา มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษารายงานโฆษณาเกินเวลาที่จะเป็นวัตถุมีรูปร่างอย่างไร ซึ่งความผิดในข้อหานี้เป็นบทที่มีอัตราโทษสูงสมควรที่โจทก์ต้องกล่าวให้ชัดเจนกว่านี้ กรณีจึงถือว่าฟ้องโจทก์ส่วนนี้ไม่ได้บรรยายอย่างชัดแจ้ง สาระสำคัญของการกระทำความผิดนี้ จึงลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานเป็นพนักงานมีหน้าที่จัดซื้อ จัดการทรัพย์ฯ ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริตเป็นการเสียหายแก่องค์การฯ และลงโทษจำเลยที่ 2-4 ฐานเป็นผู้สนับสนุนความผิดฐานนี้ไม่ได้เช่นกัน

สำหรับความผิดฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ข้อเท็จจริงได้ความจากการไต่สวนพยานโจทก์ว่า ก่อนที่ อสมท ออกอากาศคิวโฆษณาของ บ.ไร่ส้ม ซึ่งเกินส่วนแบ่งเวลาตามข้อตกลง นางพิชชาภา ไม่รายงานการโฆษณาเกินเวลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบและหลังจากออกอากาศแล้ว บ.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ไม่ได้ชำระเงินค่าโฆษณาเกินเวลาให้ อสมท แต่เพิ่งชำระให้ อสมท เมื่อเรียกให้ บ.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ชำระหลังจากที่มีการตรวจสอบรายงานจนพบว่ามีการโฆษณาเกินเวลาตามข้อตกลง โดยเมื่อเรียกนางพิชชาภา มาสอบถามก็ยอมรับว่า มีโฆษณาเกินเวลาจริงและได้แก้ไขข้อความใบคิวโฆษณาดโดยนำยาลบคำผิด ลบโฆษณาส่วนเกินและยอมรับว่าได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นค่าจ้างประสานงานโฆษณาตามจำนวนเวลาที่โฆษณาเกิน

ศาลฎีกาเห็นว่า อสมท ได้รับชำระเงินค่าโฆษณาส่วนเกินจำนวน 138,790,000 บาท จาก บ.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ครบถ้วนในวันที่ 29 ธันวาคม 2549 อันเป็นเวลาหลังจากที่มีการออกอากาศคิวโฆษณาส่วนเกินครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2548 เป็นเวลาเกือบ 2 ปี และยังได้ความจากรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงกับรายงานผลการสอบสวนทางวินัยด้วยว่า นางพิชชาภา หาโฆษณาให้ บ.ไร่ส้ม และรับ “เงินค่านำเข้ายอดขายโฆษณา” หรือค่าประสานงานโฆษณาจาก บ.ไร่ส้ม เป็นการตอบแทน และจัดทำคิวโฆษณาผีที่ไม่ใช่โฆษณาของ อสมท และ บ.ไร่ส้ม โดยนางพิชชาภา ได้แก้ไขลบข้อความในใบคิวโฆษณาของ บ.ไร่ส้ม ในวันที่มีโฆษณาเกินเวลา ซึ่งต่อมา อสมท มีคำสั่งปลด นางพิชชาภา ออกจากการเป็นพนักงาน โดยรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงและวินัยดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ เพราะดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการมีการสอบสวนจากพยานบุคคลในหน่วยงานของ อสมท ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้งไม่ปรากฏว่าคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยทั้งสี่ หรือบุคคลใดมาก่อน นางพิชชาภาจะเบิกความปฏิเสธถ้อยคำที่เคยให้ไว้ในชั้นสอบสวนข้อเท็จจริงและชั้นอนุกรรมการ ป.ป.ช. ก็ตาม ก็ไม่ทำให้คำให้การนั้นห้ามนำมารับฟังเป็นพยานหลักฐาน ซึ่งนางพิชชาภา เคยให้การยืนยันต่อ อนุ ป.ป.ช.ว่า บันทึกคำให้การนั้นเป็นของนางพิชชาภา จริง และแม้ว่าคำให้การจะเป็นพยานบอกเล่ากับเป็นคำซัดทอดของผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน ซึ่งต้องห้ามศาลนำมารับฟังตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญาหรือ ป.วิ.อาญามาตรา 226/3 วรรคสอง (1) แต่ตาม ป.วิ.อาญามาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าในการชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่า พยานซัดทอดศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังและไม่ควรเชื่อพยานหลักฐานนั้นโดยลำพัง เว้นแต่จะมีเหตุผลอันหนักแน่นหรือมีพยานหลักฐานอื่นมาประกอบสนับสนุน ซึ่งการซัดทอดของนางพิชชาภา ก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้ตนเองพ้นผิด จึงรับฟังประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ พยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนจึงรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า นางพิชชาภา ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ อสมท หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

ส่วนจำเลยที่ 2-4 การที่ นางพิชชาภา ไม่รายงานโฆษณาเกินเวลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามหน้าที่นั้น ก่อให้เกิดประโยชน์กับ บ.ไร่ส้ม เพราะไม่ต้องจ่ายเงินค่าโฆษณาส่วนเกินในทันทีหลังจากวันสิ้นเดือนที่ออกอากาศ 30 วันตามหลักปฏิบัติในสัญญาโฆษณา ซึ่ง บ.ไร่ส้มสามารถนำเงินไปหาประโยชน์อย่างอื่นได้และหากไม่มีการตรวจพบเชื่อว่า บ.ไร่ส้มคงไม่ชำระค่าโฆษณาเกินเวลาดังกล่าวให้ อสมท

นอกจากนี้ยังได้ความจากทางนำสืบพยานโจทก์และสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงของ อนุ ป.ป.ช.และคำให้การของนางพิชชาภา ในชั้นอนุ ป.ป.ช.ด้วยว่า นางพิชชาภา ได้ลบรายการโฆษณาเกินเวลาในใบคิวตามที่ น.ส.มณฑา จำเลยที่ 4 ใช้ให้กระทำโดยบอกว่านายสรยุทธ จำเลยที่ 3 ขอร้องให้ช่วยเหลือ จึงเป็นเหตุผลสนับสนุนให้รับฟังว่า บ.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 ได้รับผลประโยชน์จากการกระทำของนางพิชชาภา เพราะไม่มีเหตุผลใดที่นางพิชชาภา จะต้องลบรายการโฆษณาเกินเวลา เพราะยืนยันมาตลอดว่าตนเองไม่มีหน้าที่รายงานโฆษณาเกินเวลา

อีกทั้งได้ความอีกว่านายสรยุทธ จำเลยที่ 3 พูดคุยโทรศัพท์กับจำเลยนางพิชชาภาจำเลยที่ 1 ขอให้ช่วยเหลือ ไม่ต้องแจ้งโฆษณาเกินเวลากับ อสมท โดยรับปากว่าจะจ่ายค่าตอบแทนให้ 2% ของค่าโฆษณาเกินเวลาที่ บ.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2ไม่ต้องจ่ายให้ อสมท ซึ่งนางพิชชาภา ช่วยเหลือตามที่ จำเลยที่ 3-4 ขอร้องแล้วก็สั่งจ่ายเช็คมอบให้แต่เงินที่จ่ายไม่ได้ให้อย่างสม่ำเสมอ หรือตามที่รับปากไว้และเหตุที่นางพิชชาภา ไม่ได้เรียกร้องให้จ่ายตามจำนวนที่ตกลงกันเพราะเห็นว่า ตกกระไดพลอยโจน จึงยอมๆ กันไปนั้น ยิ่งแสดงให้เห็นว่าการกระทำของนางพิชชาภาจำเลยที่ 1 เกิดจากการที่ จำเลยที่นายสรยุทธ และน.ส.มณฑา จำเลยที่ 3 -4 เสนอเงื่อนไขให้ผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งช่วงเวลาที่ไม่รายงานโฆษณาเกินเวลานั้นก็เป็นช่วงเดียวกับที่นางพิชชาภาได้รับค่าประสานงานโฆษณาเป็นเช็ค 6 ฉบับแม้เช็คนั้นไม่ใช่การตอบแทนที่ไม่รายงานโฆษณาเกินเวลา แต่ บ.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 คงไม่จ่ายเช็คค่าประสานโฆษณานั้นให้ หากนางพิชชาภา ไม่สามารถหาช่องทางให้ออกอากาศโฆษณาเกินเวลาได้ และตามคำให้การของนางพิชชาภา ยังระบุอีกว่า นอกจากเช็ค 6 ฉบับ ยังเคยได้รับเช็คจาก บ.ไร่ส้ม อีกหลายฉบับด้วย ยิ่งแสดงให้เห็นแน่ชัดว่านางพิชชาภาได้รับประโยชน์จากการไม่รายงานโฆษณาเกินเวลา

ส่วนที่นางพิชชาภาเบิกความอ้างว่า น.ส.มณฑาจำเลยที่ 4 ไม่ได้สั่งให้ลบคิวโฆษณา แต่ทำไปเพราะตกใจกลัวว่าจะต้องรับผิดชอบนั้น เป็นคำเบิกความปฏิเสธเพียงอย่างเดียว ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง

ดังนั้นจากพฤติการณ์ถือว่า นายสรยุทธ และน.ส.มณฑา จำเลยที่ 3-4 ก่อให้นางพิชชาภาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงาน อสมท ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือยุยงส่งเสริมให้ผู้อื่นกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 84 วรรคแรก แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษบ.ไร่ส้ม นายสรยุทธ และน.ส.มณฑาจำเลยที่ 2-4 ฐานเป็นผู้สนับสนุน ตาม ป.อ.มาตรา 86 ดังนั้นศาลจึงมีอำนาจลงโทษเป็นผู้สนับสนุน ตามมาตรา 86 เท่านั้น ฎีกาของจำเลยที่ 1-4 ฟังขึ้นบางส่วน

ประเด็นฎีกาที่ 3 ของจำเลยทั้งสี่ว่าการกระทำตามฟ้องเป็นความผิดกรรมเดียวนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการละเว้นไม่รายงานโฆษณาเกินเวลาในแต่ละครั้งเป็นความผิดสำเร็จในแต่ละคราวไปตามเจตนา การกระทำของจำเลยที่ 1-4 จึงเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกันตามจำนวนครั้ง ที่ไม่รายงานโฆษณาเกินเวลา ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษ 17 กระทงที่ไม่รายงานโฆษณาเกินเวลา ซึ่งศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำเลยรวม 6 กระทงแล้วโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลย 17 กระทงตามฟ้อง

สรยุทธ21632
ภาพจาก @sorrayuth9111

ดังนั้น ศาลฎีกาจึงพิพากษาลงโทษจำเลย 17 กระทงนั้นไม่ได้ ฎีกาของจำเลยนี้ฟังขึ้นบางส่วน

ปัญหาข้อสุดท้ายที่จำเลยที่ 1-4 ฎีกาว่ามีเหตุสมควรลงโทษสถานเบา หรือรอการลงโทษนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่รายงานโฆษณาเกินเวลาให้ผู้บังคับบัญชาทราบเพื่อให้ บ.ไร่ส้มจำเลยที่ 2 ไม่ต้องจ่ายค่าโฆษณาส่วนเกิน และยังหาโฆษณาให้จำเลยที่ 2 แทนการหาให้กับ อสมท โดยมุ่งหวังเงินค่าประสานงานโฆษณาที่จำเลยที่ 2 จ่ายให้เป็นการตอบแทน จนทำให้ อสมท ขาดรายได้จากค่าโฆษณาเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ส่งผลเสียหายต่อองค์กรของผู้เสียหายในภาพรวม และยังกระทำผิดต่อเนื่องกันหลายครั้งในลักษณะอุกอาจไม่เกรงกลัวกฎหมายบ้านเมือง โดยมีจำเลยที่ 2-4 สนับสนุนการกระทำความผิด แม้นางพิชชาภา จำเลยที่ 1,นายสรยุทธ จำเลยที่ 3 , น.ส.มณฑา จำเลยที่ 4 อ้างว่าไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน และจำเลยที่ 3 อ้างด้วยว่าเคยประกอบคุณงามความดีมาก่อน แต่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นสื่อมวลชนอาวุโส และเป็นที่นับหน้าถือตาของบุคคลทั่วไป ต้องประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดีแก่สื่อมวลชนอื่น กลับอาศัยโอกาสช่องว่างทางกฎหมายและระเบียบปฏิบัติเอื้อประโยชน์แก่ตน มากระทำผิดเสียเอง ตามพฤติการณ์กระทำผิดของจำเลยทั้งสี่จึงไม่เพียงพอให้รับฟังเพื่อลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษจำคุกให้ ฎีกาของจำเลยนี้ฟังไม่ขึ้น

ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้เป็นว่า นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11 ส่วนจำเลยที่ 2-4 มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนโดยให้ลงโทษทุกกระทงความผิดรวม 6 กระทง ซึ่งนางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ให้จำคุก 6 กระทงๆ ละ 3 ปี (จากเดิมกระทงละ 5 ปี ) เป็นจำคุก 18 ปี , ปรับ บ.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 กระทงละ 18,000 บาท (เดิมปรับกระทงละ 20,000 บาท) รวมปรับ 108,000 บาท และให้จำคุกนายสรยุทธกับ น.ส.มณฑา จำเลยที่ 3-4 กระทงละ 2 ปี (จากเดิมกระทงละ 3 ปี 4 เดือน) เป็นจำคุกคนละ 12 ปี ซึ่งทางนำสืบของจำเลยทั้ง 4 เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้กระทงละ 1 ใน 3 เป็นจำคุก นางพิชชาภา จำเลยที่ 1 ทั้งสิ้น 12 ปี,ปรับบ.ไร่ส้ม จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 72,000 บาท ,นายสรยุทธกับ น.ส.มณฑา จำเลยที่ 3-4 จำคุกคนละ 6 ปี 24 เดือน

Avatar photo