General

‘ศาล’ หารือ สตง.-ตรวจคนเข้าเมือง ใช้ ‘ไบโอเมทริก’ เชื่อมข้อมูลผู้ต้องหา

ศาลยุติธรรม จับมือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ใช้ระบบไบโอเมทริกเชื่อมข้อมูลผู้ต้องหา เดินหน้าพัฒนากุมภาพันธ์นี้ เผยปี 62 เร่งพิจารณาคดีเข้าเป้า

นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า แผนงานในปี 2563 นี้ ศาลยุติธรรมจะพัฒนาการเชื่อมต่อข้อมูลผู้ต้องหากับหน่วยงานอื่น เช่น ระบบไบโอเมทริก ตรวจสอบใบหน้าบุคคล จะมีการหารือร่วมกันกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อพัฒนาร่วมกันภายในเดือน ก.พ.นี้

ศาล

ทั้งนี้ จะเน้นการตรวจสอบผู้ต้องหาที่ถูกออกหมายจับ และติดเงื่อนไข ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ จะนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรมการพิจารณาพิพากษาคดี (D-Court) ด้วยการพัฒนาต่อยอด ขยายผลระบบให้บริการข้อมูล และอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น อาทิ ส่งเสริมและผลักดันให้ศาลยุติธรรมทั่วประเทศนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการคดี สนับสนุนการพิจารณาพิพากษาคดี และการปฏิบัติงานให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน, มีระบบงานที่ทันสมัย, ลดการใช้กระดาษ, ลดภาระในการจัดเอกสาร เป็นต้น

ขณะเดียวกัน จะพัฒนาระบบสารสนเทศศาลยุติธรรม บูรณาการความร่วมมือ รวมถึงขยายการเชื่อมโยงข้อมูลด้านต่างๆ กับหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมบังคับคดี กรมคุมประพฤติ กรมราชทัณฑ์ สำนักงานอัยการสูงสุดและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สำนักงานตำรวจ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ป.ป.ช. และ ป.ป.ท ซึ่งจะส่งผลให้การอำนวยความยุติธรรมมีความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนผู้มีอรรถคดี

สราวุธ เบญจกุล1
สราวุธ เบญจกุล

สำหรับผลการดำเนินงานของศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรมในภาพรวม ประจำปี 2562 พบว่า ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา สามารถพิจารณาให้เสร็จภายในเวลาเป้าหมายที่ประธานศาลฎีกาเคยให้นโยบายไว้ โดยศาลชั้นต้นที่จะต้องพิจารณาคดีให้เสร็จภายใน 2 ปีนั้น สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายและนโยบายของประธานศาลฎีกา คิดเป็น 99.97% ส่วนศาลอุทธรณ์ที่จะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 6 เดือน สามารถดำเนินการได้ 98.64% ขณะที่ศาลฎีกาต้องพิจารณาคดีให้เสร็จภายใน 1 ปี ก็ดำเนินการได้ 86.41%

เมื่อแจกแจงในรายละเอียดได้แก่ ศาลชั้นต้นทั่วประเทศ มีคดีสู่การพิจารณา 1,889,080 คดี พิจารณาเสร็จ 1,627,752 คดี, ศาลอุทธรณ์ มีจำนวน 64,225 คดี พิจารณาเสร็จ 57,924 คดี, ศาลฎีกา จำนวน 10,466 คดี พิจารณาเสร็จ 7,911 คดี ซึ่งรวมทั้ง 3 ชั้นศาลแล้ว มีคดีที่ศาลรับพิจารณาไว้ทั้งสิ้น 1,963,771 คดี พิจารณาเสร็จ 1,693,587 คดี คิดเป็น 86%

biometric

ส่วนสถิติจำนวนข้อหาที่ขึ้นสู่การพิจารณาสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่

1.พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ 363,125 ข้อหา

2.สินเชื่อบุคคล 293,899 ข้อหา

3.พ.ร.บ.จราจรทางบก 213,888 ข้อหา

4.บัตรเครดิต 168,347 ข้อหา

5.กู้ยืม 138,420 ข้อหา

6.ขอจัดการมรดก 103,711 ข้อหา

7.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) 92,472 ข้อหา

8.เช่าซื้อ (รถยนต์) 86,406 ข้อหา

9.ละเมิด 34,426 ข้อหา

10.พ.ร.บ. การพนัน 32,936 ข้อหา

ด้านสถิติการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ หรือกำไลข้อเท้า EM สำหรับตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของบุคคลมาใช้ในการปล่อยตัวชั่วคราวด้วยว่า รอบปีที่ผ่านมา มีจำนวนทั้งสิ้น 8,129 เครื่อง โดยฐานความผิดสูงสุด 5 อันดับที่ใช้ได้แก่

1.พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ จำนวน 2,332 คดี

2.ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ จำนวน 1,609 คดี

3.พ.ร.บ.จราจรทางบก จำนวน 769 คดี

4.ความผิดเกี่ยวกับชีวิตร่างกาย จำนวน 675 คดี

5.พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ จำนวน 356 คดี

Avatar photo