General

‘ฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่’ สปสช. ย้ำป่วยเข้ารพ.ใกล้สุด

“อนุทิน” สั่ง สปสช. เตรียมพร้อมนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ รองรับผู้ป่วยช่วงปีใหม่ ย้ำพกบัตรประชาชน เข้ารพ.ใกล้สุดไว้ก่อน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในการดูแลผู้ป่วยเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉินเป็นไปตามที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้วางระบบรองรับการรักษาพยาบาลที่เป็นมาตรฐานไว้ โดยครอบคลุมดูแลประชาชนทุกสิทธิ

อนุทิน ชาญวีรกูล13 1

สำหรับในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 นี้ จะมีความเข้มข้นในการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์เพิ่มขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจ และขอให้ประชาชนทุกคนระมัดระวังการเดินทางในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ โดยจากนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิทุกที่ หรือ UNIVERSAL COVERAGE FOR EMERGENCY PATIENTS (UCEP) ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับอย่างดีทั้งจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ มีปัญหาและมีเรื่องร้องเรียนเข้ามาน้อยมาก

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 นี้ เป็นช่วงที่มีวันหยุดยาว ประชาชนส่วนใหญ่จะเดินทางกลับบ้านและท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลนี้ ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ “สิทธิบัตรทอง” หากมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล แบ่งเป็น 2 กรณี คือ

image big 5e048a062f39d

  • กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤติที่หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ที่สถานพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้สุด ตามนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติ มีสิทธิ์ทุกที่ และให้สถานพยาบาลที่ให้การรักษาเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช.ตามอัตราที่กำหนด
  • กรณีเจ็บป่วยที่ไม่ใช่ฉุกเฉินระดับวิกฤติ หรือผู้มีสิทธิบัตรทองที่เดินทางไปต่างถิ่นแล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล เช่น ความดันโลหิตขึ้นสูง ปวดศีรษะมาก ท้องเสียรุนแรง เป็นต้น เป็นภาวะที่ไม่ถึงขั้นฉุกเฉินแก่ชีวิต กรณีนี้ เป็นไปตามข้อบังคับ สปสช.ว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุขกรณีที่มีเหตุสมควร

กรณีอุบัติเหตุหรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ระบุว่า ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองหากมีเหตุสมควร หรือกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลอื่นที่ไม่ได้ลงทะเบียนหน่วยบริการประจำและสถานพยาบาลที่ไม่ได้เข้าร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามมาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา
นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

ทั้งนี้ขอแนะนำให้เข้ารับบริการที่สถานพยาบาลของรัฐและสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการที่อยู่ใกล้ที่สุดก่อน ไม่มุ่งเจาะจงเข้าสถานพยาบาลเอกชนเท่านั้น เนื่องจากการเบิกจ่ายค่ารักษาจะเป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ ในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ เพื่อความสะดวก นอกจากการเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนที่เป็นหลักฐานสำคัญแล้ว ควรศึกษาข้อมูลหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ระหว่างเดินทางและจุดหมายปลายทาง เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญในการเข้ารับการรักษาพยาบาลยังหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วและเพื่อความไม่ประมาท ส่วนประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหอบหืด เป็นต้น ควรเตรียมพร้อมยารักษาโรคเพื่อให้เพียงพอสำหรับการเดินทาง

Avatar photo