General

แนะอาคารสูงทั่วกรุงตรวจสอบรอยร้าว หลังแผ่นดินไหวลาวสะเทือน!

แนะอาคารสูงทั่วกรุงตรวจสอบรอยร้าว หลังแผ่นดินไหวลาวเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา สั่งจับตาแผ่นดินไหวที่มาจากทิศตะวันตกและประเทศเมียนมา

ผศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ นักวิจัยชุดโครงการลดภัยพิบัติแผ่นดินไหวในประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ( สกสว.) จากมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า  จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศลาวเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เบื้องต้นเชื่อว่าเกิดบนรอยเลื่อนน้ำเป็ง ซึ่งเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.5 ที่อำเภอปัว เมื่อปี  พ.ศ.2478 ที่ระยะห่างประมาณ 30 กม. ซึ่งมีรอยเลื่อนมีพลังอยู่เป็นจำนวนมากจึงเกิดแผ่นดินไหวได้บ่อยครั้ง ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมามีแผ่นดินไหวขนาดกว่า 6.0 เกิดขึ้นในบริเวณรอยต่อประเทศไทย เมียนมา และลาวกว่า 7 ครั้ง รวมทั้งครั้งนี้ด้วย

กทม. อากาศ131162

ทั้งนี้ สำหรับผู้อยู่อาศัยบนอาคารสูงในกรุงเทพมหานครนั้นสามารถรับรู้ถึงแผ่นดินไหวได้ประมาณปีละ 1 ครั้ง ซึ่งเกิดจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่ระยะไกล เนื่องจากการพัฒนาอาคารสูงตามการพัฒนาของเศรษฐกิจในระยะหลัง บุคคลทั่วไปรับรู้แผ่นดินไหวได้มากขึ้นกว่าในอดีต  ที่ผ่านมาโครงการวิจัยได้ศึกษาผลกระทบดินอ่อนต่ออาคารในกรุงเทพมหานคร และพัฒนามาตรฐานการออกแบบแผ่นดินไหวครอบคลุมทุกอำเภอและกรุงเทพมหานคร โดยมาตรฐานแผ่นดินไหว (มยผ 1302-61) ซึ่งเผยแพร่โดยกรมโยธาและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย กำหนดค่าการออกแบบสำหรับวิศวกรในการออกแบบตึกสูงให้ทนทานต่อแผ่นดินไหวที่รุนแรงเป็นไปได้ที่จะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานครได้ แต่แม้ว่าจะเผยแพร่มาตรฐานดังกล่าวแล้วประชาชนทั่วไปอาจไม่เข้าใจถึงการนำไปใช้ จึงเป็นหน้าที่ของเจ้าของอาคารต่าง ๆ ที่จะต้องพิจารณาให้นำมาใช้ในการออกแบบอาคาร

สำหรับอาคารในกรุงเทพมหานคร ยังจำเป็นต้องมีการติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดการสั่นไหวในบริเวณแอ่งดินอ่อนเพิ่มขึ้น เพื่อให้วิศวกรนำค่าดังกล่าวไปออกแบบอาคารให้ถูกต้องและปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เจ้าของอาคาร นิติบุคคล และผู้ใช้งานอาคารสามารถรับทราบถึงความปลอดภัยของอาคารในเวลาที่รวดเร็ว โดยผลการวิเคราะห์คลื่นแผ่นดินไหวที่วัดได้ที่อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลยา พบค่าความเร่งสูงสุดเท่ากับ 0.002 g  ซึ่งเป็นค่าการสั่นไหวที่ต่ำแต่คนทั่วไปอาจรู้สึกได้ ทว่ายังมีความปลอดภัยจึงไม่จำเป็นต้องระงับการใช้งานอาคาร

กทม.211621

ด้านศ. ดร.อมร พิมานมาศ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ในระดับกลางและระยะไกลแต่ส่งผลให้อาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพมหานครได้รับแรงสั่นสะเทือน ทั้งนี้อยากแนะนำให้เจ้าของอาคารตรวจสอบอาคารของตนว่ามีรอยร้าวที่บริเวณใดบ้าง เช่น เสา คาน ผนังอาคาร เป็นต้น หากพบรอยร้าวควรแจ้งวิศวกรเข้าตรวจสอบ และควรให้ความใส่ใจกับแผ่นดินไหวที่มาจากทิศตะวันตกและประเทศเมียนมา ซึ่งมีรอยเลื่อนที่มีพลังคือ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์และรอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รวมถึงรอยเลื่อนสะแกงในประเทศเมียนมาซึ่งอาจเกิดแผ่นดินไหวได้รุนแรงถึง 8.5 และส่งผลกระทบให้อาคารในกรุงเทพมหานครได้รับความเสียหาย

 

 

ขอบคุณที่มา : เดลินิวส์

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK