General

เตือน 20 จังหวัดนอกเขตชลประทาน แล้งหนัก-ขาดน้ำทำเกษตร

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดมาตรการรองรับพื้นที่ปลูกข้าวนาปีต่อเนื่องปี 2562 โดยไม่ให้กระทบต่อแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ปี 2562/63 เนื่องจากในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมีการจัดสรรน้ำทั้งประเทศเกินแผน 1,350 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ จัดสรรน้ำเกินแผน 495 ล้าน ลบ.ม. , ลุ่มน้ำภาคตะวันตก จัดสรรน้ำเกินแผน 579 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำภาคใต้ จัดสรรน้ำเกินแผน 549 ล้าน ลบ.ม.

75442940 542149459681512 3164482275345694720 o

ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวนาปีจากข้อมูลดาวเทียมในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 พบว่า พื้นที่ปลูกข้าวนาปี 60.08 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 17.11 ล้านไร่ ยังมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง 1.35 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 1.27 ล้านไร่ และที่เหลือเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทาน  ขณะการประเมินพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 2562/63 จากข้อมูลดาวเทียม ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 21 จังหวัด มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 229,803 ไร่

ส่วนพื้นที่เขตชลประทานมี 8 จังหวัดที่น้ำไม่พอทำการเกษตร ได้แก่ สุพรรณบุรี อุทัยธานี ขอนแก่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม กาฬสินธุ์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ จึงขอแจ้งให้ชาวนาทราบว่าในพื้นที่ภาคกลางให้งดปลูกข้าวนาปรัง โดยเฉพาะพื้นที่ที่ต้องรับน้ำจากเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ จะไม่มีน้ำส่งมาให้ ถ้าปลูกไปก็จะเกิดความเสียหาย
ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือปลูกนาปรังได้บางพื้นที่ ขณะที่พื้นที่ทำนารอบสองได้บางพื้นที่ 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง สกลนคร นครพนม นครราชสีมา ชลบุรี และระยอง ส่วนในพื้นที่นอกเขตชลประทาน มี 109 ตำบล 54 อำเภอ 20 จังหวัดที่เสี่ยงขาดน้ำเกษตร

นายสมเกียรติ ระบุว่า จากการวิเคราะห์ติดตามสภาพอากาศ และคาดการณ์ปริมาณฝนในเดือนพฤศจิกายน 2562 พบว่า ปริมาณฝนรวมในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง จะมีค่าต่ำกว่าค่าปกติ 30% ภาคตะวันออก กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีปริมาณฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติ 20% ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงค่าปกติ

ส่วนเดือนธันวาคม 2562 ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติ 50% และเดือนมกราคม 2563 ปริมาณฝนรวมทั้งประเทศต่ำกว่าค่าปกติ 50% ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณฝนรวมใกล้เคียงค่าปกติ ขณะที่ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำมีทั้งสิ้น 53,316 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 65% แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 38 แห่ง ปริมาณน้ำใช้การ 23,768 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 50% โดยพบว่ามีถึง 10 เขื่อนขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำใช้การน้อยกว่า 30% เช่น เขื่อน ภูมิพล กระเสียว จุฬาภรณ์ อุบลรัตน์ ขณะที่แหล่งน้ำขนาดกลางน้ำน้อย 74 แห่ง ส่วนใหญ่อยู่บริเวณภาคเหนือ 28 แห่ง อีสาน 37 แห่ง

000 Hkg418859

นายสมเกียรติ ระบุว่า ส่วนสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขงที่ลดลงในช่วงฤดูแล้ง โดยสถานการณ์เอลนีโญจะยังคงมีผลต่อภูมิภาค ทำให้ไม่มีปริมาณฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาทั้งมาตรการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศ

สทนช.เร่งดำเนินการใช้มาตรการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศในการผลักดันและแก้ปัญหาแม่น้ำโขง แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์น้ำแล้งในภูมิภาค และมาตรการภายในประเทศในระยะเร่งด่วนป้องกันผลกระทบกับวิถีชีวิตประชาชน และการประกอบอาชีพใน 3 ประเด็นหลัก คือ

  1. จัดหาแหล่งน้ำสำรองและขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล เพื่อสำรองปริมาณน้ำในการอุปโภค-บริโภค
  2. มอบหมายกระทรวงมหาดไทยโดยจังหวัด (ริมแม่น้ำโขง) สร้างการรับรู้ความเข้าใจแนวโน้มสถานการณ์วิกฤติน้ำ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้น้ำภาคการเกษตรและประมงได้รับทราบ
  3. มอบหมายกระทรวงคมนาคมกำหนดมาตรการการขนส่งและการคมนาคมทางน้ำ รวมทั้งมาตรการรองรับการพังทลายของตลิ่งริมฝั่งโขงด้วย

Avatar photo