General

โพลล์คนกรุงชี้ กระเป๋ารถเมล์ยัง ‘จำเป็น’ ยุค ‘รถเมล์ไร้เงินสด’

จากการเริ่มใช้ รถเมล์ไร้เงินสด เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา กรุงเทพโพลล์ โดย ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้จัดทำผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “คนกรุงพร้อมใช้?… รถเมล์ไร้เงินสด” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนที่ใช้บริการรถ ขสมก. ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,176 คน

โพลล์1

ทั้งนี้ ในคำถาม “อนาคตพนักงานเก็บเงิน/กระเป๋ารถเมล์ ยังคงมีความจำเป็นหรือไม่ สำหรับสังคมไทย” ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 74.4% ระบุว่า “จำเป็น” ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องคอยให้ความช่วยเหลือ อำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสาร ดูแลความปลอดภัยให้ผู้โดยสารขณะขึ้น-ลงรถ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก และคนพิการ เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับเส้นทางเดินรถ ซึ่งเป็นสิ่งที่เทคโนโลยีทำไม่ได้ ฯลฯ

สำหรับที่เหลือ 25.6% ระบุว่า “ไม่จำเป็น” โดยให้เหตุผล เช่น เพราะมีเครื่อง สแกน แล้ว, มีป้ายอัตโนมัติบอกแล้ว, มีเทคโนโลยีใหม่ๆ มารองรับแล้ว และควรให้ระบบทำงานแทนคน ต่างประเทศก็ไม่มีแล้วเราควรปรับให้ทันโลก เป็นต้น

903

ขณะที่คนกรุงส่วนใหญ่ หรือ 51.7% รับทราบเรื่องที่ ขสมก. เริ่มรับชำระค่าโดยสารแบบ “ไร้เงินสด” เต็มรูปแบบ จากข่าวผ่านสื่อหลักและสื่อโซเชียล รองลงมาคือ 31.7% ระบุว่าทราบจากกระเป๋ารถเมล์และคนขับรถ ขสมก. และ 23.9% บอกว่า ทราบจากคลิปประชาสัมพันธ์ของ ขสมก.

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือ 89.3% ยังคงชำระค่าโดยสารรถเมล์ ขสมก. ด้วยเงินสด รองมา 6.9% ชำระด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และมีเพียง  5% เท่านั้นที่ชำระด้วยบัตรโดยสารล่วงหน้า อิเล็กทรอนิกส์ โดย 1.4% ใช้บัตร E –Ticket ของ ขสมก. แบบ 50 บาท

โพลล์3 1

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 61.1% ให้ความเห็นว่า การจ่ายเงินค่าโดยสารรถเมล์แบบไร้เงินสดสะดวกดี เพราะไม่ต้องพกเหรียญ หรือคอยหาเหรียญไว้จ่ายค่ารถ ตามด้วย 39% ระบุว่าจะได้ไม่ต้องมีเงินทอน(จ่ายแบงค์ ทอนเป็นเหรียญ) และ 37.8% ระบุว่า ทันสมัยเหมาะกับยุคสมัย

อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งที่ห่วง/กังวล จากการชำระค่าโดยสารรถเมล์แบบ “ไร้เงินสด” เต็มรูปแบบ โดย 31.1% กังวลเรื่อง ระบบล่ม/สัญญาณมีปัญหาขณะเก็บเงิน รองลงมา 27.5% กังวลว่าคนยังไม่ค่อยเข้าใจวิธีการใช้งาน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ และ 12.6% กังวลว่าจะเกิดความวุ่นวายตรงป้ายรถเมล์ที่มีคนขึ้นเยอะ

Avatar photo