General

เตือน!! ‘อ่างทอง-อยุธยา’ เตรียมรับมือน้ำเหนือไหลหลาก

“กรมชลประทาน”เพิ่มปล่อยน้ำ “เขื่อนเจ้าพระยา” เตือน 7 จังหวัดท้ายเขื่อนน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ 40 – 50ซม. ชี้ “อ่างทอง-อยุธยา”รับน้ำเหนือหลากมาถึงเย็นวันเสาร์นี้

ทองเปลว กองจันทร์69621
ภาพจากเฟซบุ๊กเรารักชลประทาน

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในเวลา 06.00 น.-12.00 น.วันนี้ เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท จะระบายน้ำแบบขั้นบันได ในอัตรา 800 – 850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) ซึ่งได้แจ้งเตือนประชาชนใน 7 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา คือ อุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และ ลพบุรี เนื่องจากปริมาณน้ำจะเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำน้อย ประกอบด้วย บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง , คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา, ต.หัวเวียง ต.บ้านกระทุ่ม อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา โดยระดับน้ำจะท่วมสูง 40 – 50 ซม.ในช่วงเย็นวันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2562

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 46,331 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 61% เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 22,401 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีก 29,000 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาเขื่อนหลักมีปริมาณน้ำรวมกัน 10,855 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 44% เป็นปริมาณน้ำใช้การได้ 4,159 ล้าน ลบ.ม. สามารถรองรับน้ำได้อีก 14,000 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ ยังคงมีพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม 14 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร , อุตรดิตถ์ , สุโขทัย , เพชรบูรณ์ , ยโสธร , ร้อยเอ็ด , กาฬสินธุ์ , ขอนแก่น , มหาสารคาม ,อุดรธานี ,อุบลราชธานี , อำนาจเจริญ , สกลนคร และนครพนม

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ให้การช่วยเหลือพื้นที่ผู้ประสบอุทกภัยด้วยการจัดส่งเครื่องจักรเครื่องมือต่างๆไปช่วยเหลือแล้ว แบ่งเป็น เครื่องสูบน้ำ 83 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 56 เครื่อง รถบรรทุก 6 คัน และกาลักน้ำ 20 แถว พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นตามแต่ละช่วงเวลารวมถึงให้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ของตนเองอย่างใกล้ชิด

IMG 22865 20190906125709000000

ด้านนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาอุทกภัยทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว โดยเน้นการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมที่สุดและดำเนินการช่วยเหลือได้อย่างฉับไว อย่างไรก็ตามพึงพอใจการจัดการน้ำในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สถานการณ์โดยรวมขณะนี้เริ่มคลี่คลาย คาดว่าภายใน 2-3 วันจะเข้าสู่ภาวะปกติ

ขณะเดียวกันการระบายน้ำการผันน้ำลงไปในคลองต่างๆนั้นจะเป็นไปอย่างระมัดระวังที่สุด ในส่วนการประเมินความเสียหายเพื่อจ่ายค่าชดเชยให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุด ขณะที่ภาคใต้ที่ต้องเสี่ยงภัยกับน้ำหลากเป็นประจำนั้น ไม่อยากให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากขณะที่ได้เร่งโครงการแก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ให้สำเร็จโดยเร็วเพื่อใช้ประโยชน์ อาทิ โครงการแก้ปัญหาอุทกภัยอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา ซึ่งการบริหารน้ำของเราไม่ใช่แค่ระบายน้ำ แต่ต้องเก็บกักไว้ใช้ช่วงแล้งด้วย การวางแผนไว้ล่วงหน้าจำเป็น นับเป็นการป้องกันปัญหาน้ำอีกทาง

ภาพปกจากเฟซบุ๊ก เรารักชลประทาน

Avatar photo