General

น้ำพระราชหฤทัยจาก ‘พระพันปีหลวง’ พลิกฟื้นงานหัตถกรรมไทย

วันที่ 12 สิงหาคม  เป็นวันมหามงคล วันคล้ายวันพระราชสมภาพของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นามเดิม หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว และโดยพระชนมพรรษาจึงนับเป็นพระกุลเชษฐ์พระองค์ปัจจุบันในพระบรมราชจักรีวงศ์

พระพันปีหลวง

เนื่องจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ขณะที่พระราชสวามีเสด็จออกผนวช ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม 2499 – 5 พฤศจิกายน  2499 พระองค์จึงได้รับการสถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม  2499 ถือเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่สองของกรุงรัตนโกสินทร์ต่อจากสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 5

พระพันปีหลวง

ตลอดเวลาระยะเวลาที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเคียงคู่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นระยะเวลาเกือบ 70 ปี และทรงเยี่ยมพสกนิกรทั่วทุกภาคของประเทศ จึงได้ทอดพระเนตรเห็นพบว่าราษฎรซึ่งส่วนใหญ่เป็นกสิกร ต้องประสบภัยธรรมชาติต่างๆ ทำให้การประกอบอาชีพไม่ได้ผล

ขณะเดียวกันทรงพบว่าราษฎรไทยหลายท้องถิ่นมีฝีมือเป็นเลิศทางหัตถกรรมหลายชนิดสืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ สมควรจะอนุรักษ์ไว้ให้เป็นสมบัติชาติสืบไป พระองค์จึงทรงทุ่มเทพระวิริยะ อุตสาหะ และพระราชทานทรัพย์มาส่งเสริมงานหัตถกรรมแก่ราษฎร

วัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อหาอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ให้แก่กสิกรที่ประสบปัญหาในการเพาะปลูก หรือกสิกรที่ว่างจากฤดูเพาะปลูกให้ได้มีงานทำอยู่กับบ้าน ราษฎรจะได้ไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานของตนเข้าไปทำงานรับจ้างในเมืองใหญ่ๆ อันก่อให้เกิดปัญหาชุมชนแออัดในระยะยาวต่อไป

อีกประการหนึ่งคือเพื่อธำรงรักษาและฟื้นฟูหัตถกรรมแบบไทยโบราณซึ่งกำลังจะเสื่อมสูญไปตามกาลเวลาให้กลับมาแพร่หลาย เช่น การทอผ้าไหมมัดหมี่ลวดลายโบราณ การทอผ้าแพรวา การจักสานย่านลิเภา การทำเครื่องถมเงินและถมทอง การคร่ำ เป็นต้น

พระพันปีหลวง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดสอนหัตถกรรมแทบทุกประเภทแก่บุตรหลานของราษฎรผู้ยากไร้ขึ้นในสวนจิตรลดา และในบริเวณพระตำหนักที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน ทรงรับเด็กยากจนและการศึกษาน้อยผู้ยังไม่เคยมีประสบการณ์ทางการช่างใดๆ เข้ามาเป็นนักเรียนศิลปาชีพ และทรงเสาะหาครูผู้มีฝีมือที่ยังหลงเหลืออยู่มาถ่ายทอดผลงาน

งานของศิลปาชีพเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีสมาชิกศิลปาชีพกระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ และผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพได้แพร่หลายกว้างขวางเป็นที่นิยม ในหมู่ราษฎรไทยและชาวต่างประเทศ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถต้องทรงใช้จ่ายพระราชทรัพย์เพื่อโครงการศิลปาชีพเป็นจำนวนมาก จึงมีผู้กราบบังคมทูลขอให้ทรงจัดตั้งขึ้นเป็นมูลนิธิ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งมูลนิธิขึ้นเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2519 โดยพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารของมูลนิธิด้วย

ต่อมารัฐบาลได้ประจักษ์ถึงผลงานและคุณประโยชน์มูลนิธิด้วย จึงได้รับเป็นหน่วยงานหนึ่งของรัฐ โดยจัดตั้งเป็นกองศิลปาชีพขึ้นในสำนักราชเลขาธิการ เมื่อพ.ศ. 2538 จนถึงปัจจุบัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo