General

เปิดใจ ‘สนธิ บุญยรัตกลิน’ ชี้ ‘รัฐประหาร’ เป็นเครื่องมือแก้ไข ‘การเมืองแบบไทย’

พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก ผู้ทำรัฐประหารรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 มอง “รัฐประหาร” เป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับประชาธิปไตยที่ยังเติบโตอย่างไม่เต็มที่ของไทย

sonthi

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานบทสัมภาษณ์พิเศษพล.อ.สนธิ ที่ระบุว่า ประชาธิปไตยของไทย มีความแตกต่างจากสหรัฐ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น หรือประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

“การที่เกิดรัฐประหารขึ้นในไทยหลายครั้งจนถึงปัจจุบัน เพราะกองทัพจำเป็นต้องก้าวเข้ามาเพื่อแก้ไขในสิ่งที่เรียกว่าการเมืองแบบไทยๆ”

อดีตผู้บัญชาการทหารบก ระบุว่า รัฐบาลชุดใหม่ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรจะมุ่งเน้นไปในเรื่องของช่วยให้คนไทยขยับขึ้นมาอยู่ในฐานะชนชั้นกลางมากขึ้น โดยเขาเชื่อว่า ประชาธิปไตยจะทำงานได้ก็ต่อเมื่อประเทศมีประชากรชนชั้นกลางขนาดใหญ่เท่านั้น

“ประเทศไทยมีคนจนอยู่เป็นจำนวนมาก และคนรวยก็มักจะเข้ามาฉวยโอกาสจากคนจน จากการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย กลุ่มนักการเมือง ที่ใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมากไปกับการเลือกตั้ง ก็พยายามถอนทุนคืนในขณะที่พวกเขาอยู่ในอำนาจ”

พล.อ.สนธิบอกว่า การเกิดสถานการณ์ดังกล่าวขึ้นในประเทศไทย ทำให้เกิดการจับผิด และเลือกข้างขึ้นมา ซึ่งทำให้เกิดการเลือพพวกพ้องเข้ามาบริหารประเทศ จนทำให้ได้ตำแหน่งการบริหารไม่ได้คนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดเข้ามาทำงาน จนทำให้เกิดภาวะไร้ประสิทธิภาพ หรือแม้กระทั่งการทุจริตเกิดขึ้น

เขายังเล่าถึงสมัยที่เขาตัดสินใจก่อรัฐประหารว่า เป็นเพราะในช่วงเวลาดังกล่าวเกิดความแตกแยกขึ้นอย่างมาก ระหว่างกลุ่มสนับสนุนนายทักษิณ และกลุ่มต่อต้าน
“ประชาชนเรียกร้องให้เราเข้ามาแทรกแซง รัฐประหารจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน”

พล.อ.สนธิ กล่าวด้วยว่า ในไทยกองทัพมีหน้าที่อยู่ 4 อย่างด้วยกัน คือ ปกป้องประเทศ รักษาความสงบ จัดหาความช่วยเหลือในช้่วงเวลาที่เกิดภัยธรรมชาติ และปกป้องราชวงศ์

“ในทุกวันนี้ มีผู้คนจำนวนมากขึ้นที่มีแนวคิดแบบซ้ายจัด และไม่ต้องการให้มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกัน ก็มีผู้คนที่ต้องการประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็รประมุขของประเทศ ซึ่งกองทัพเห็นว่า ประชาธิปไตยแบบไทยจำเป็นต้องมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ดังนั้น กองทัพจึงต้องทำรัฐประหาร เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์”

18 09 18 29 1024x726

ส่วนเรื่องรัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ทำรัฐประหารในปี 2557 และปกครองแบบรัฐบาลทหารมา 5 ปี รวมถึงรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ยังถูกตั้งข้อสังเกตว่าเอื้อให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ อีกสมัย พล.อ.สนธิ แสดงความเห็นว่า อย่างไรเสียรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ก็ผ่านประชามติของประชาชน และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ ควรได้รับการยอมรับในฐานะรัฐบาลพลเรือน

อย่างไรก็ตาม พล.อ.สนธิ มองว่า ในช่วงเวลาที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลทหาร ล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาทุจริตและความเหลื่อมล้ำ สวนทางกับกลุ่มคนที่มีความคิดแบบฝ่ายซ้ายได้ลงพื้นที่ทำงานด้านมวลชนกับผู้มีการศึกษาน้อยและมีฐานะยากจนที่บรรดารัฐบาลในอดีตให้ความใส่ใจกับประชากรเหล่านี้น้อย

ดังนั้นรัฐบาลชุดใหม่ต้องยกนโยบายดูแลคนยากจนเป็นวาระสำคัญลำดับแรก นั่นคือการศึกษาและเศรษฐกิจ เพราะหากผู้คนมีรายได้สูงขึ้น ก็จะลดแรงจูงใจในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตให้น้อยลงได้

“หากสิ่งต่างๆ เป็นไปด้วยดี เราก็กำลังจะเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตที่ดีกว่า แต่หากรัฐบาลในอนาคตไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุจริตและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้ ผู้คนยังรู้สึกทุกข์ทรมานและต้องการการเปลี่ยนแปลง เมื่อนั้นรัฐประหารครั้งต่อไปก็อาจเกิดขึ้นได้อีก”

Avatar photo