General

เตือน! ระวังแมงมุมมีพิษกัด

สถาบันโรคผิวหนัง เตือนประชาชน ระวังถูกแมงมุมมีพิษกัด แนะนำวิธีรักษา ทำความสะอาด-ประคบเย็น ห้ามประคบร้อนโดยเด็ดขาด เพราะพิษจะกระจาย พบมีอาการรุนแรง รีบพบแพทย์ พร้อมให้นำแมงมุมไปด้วย เพื่อช่วยวินิจฉัย

ฤดูฝนอย่างนี้ นอกจากโรคไข้หวัด และสารพัดโรคที่มากับอากาศชื้นๆแฉะๆแล้ว สัตว์มีพิษน้อยใหญ่ ก็มักมาหลบซ้อนตามหลืบมุมในบ้าน รวมไปถึง “แมงมุม” ที่กลายเป็นสมาชิกของหลายๆบ้าน  แต่หารู้ไม่ อาจมีแมงมุมพิษปะปนมาด้วย

นพ.สมศักดิ์ กรมแพทย์
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากกรณีการเสนอข่าว ประชาชนถูกแมงมุมมีพิษกัดบริเวณโคนนิ้วชี้ข้างขวา ซึ่งพิษทำให้แผลบวมไหม้เป็นสีดำ มีอาการปวดตามข้อกระดูกและทั่วร่างกาย และมีไข้ต่อเนื่อง จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า ผู้ป่วยที่ถูกแมงมุมมีพิษกัด จะมีอาการทางผิวหนังเริ่มจากปวดเล็กน้อย เริ่มรุนแรงขึ้น และปวดต่อเนื่องร่วมสัปดาห์

สำหรับแมงมุมพิษที่มีอันตราย และควรระมัดระวัง จัดแบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่ แมงมุมแม่ม่ายดำ (black widow spider) และแมงมุมสันโดษสีน้ำตาล (brown recluse spider) โดยลักษณะเด่นชัดของแมงมุมมีพิษ ให้สังเกตตรงบริเวณท้อง จะป่องขึ้นมาเป็นพิเศษ ซึ่งแตกต่างจากแมงมุมที่เจอตามบ้านทั่วไป พิษของแมงมุมนั้น สามารถทำให้เกิดอาการทางระบบอื่นๆ เช่น คลื่นไส้อาเจียน ไข้ หรือ ปวดศีรษะ ในบางรายอาจรุนแรงมาก เช่น ไตวาย หรือ ภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือด โดยอาการเหล่านี้ มักเกิดขึ้นภายใน 1-2 วันหลังโดนกัด

627715

พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนทำให้สัตว์จำพวกแมลงมีพิษต่างๆ มักจะหลบซ่อนเข้ามาตามบ้านเรือน จึงควรทำความสะอาด และตรวจสอบเสื้อผ้าก่อนสวมใส่ ตรวจสอบที่นอนก่อนนอนเสมอ

สำหรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัว เมื่อถูกแมงมุมมีพิษกัด ให้รีบทำความสะอาด และประคบเย็นบริเวณที่ถูกกัด หากมีอาการปวดสามารถรับประทานยาแก้ปวดได้ ไม่ควรประคบร้อน ที่บริเวณที่ถูกกัดโดยเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้พิษแมงมุมกระจาย หากมีอาการรุนแรง เช่น คลื่นไส้อาเจียน มีไข้ หรือปวดศีรษะ ให้รีบไปโรงพยาบาล โดยนำแมงมุมไปด้วย ทั้งนี้ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีเซรุ่ม หรือยาต้านพิษ เนื่องจากพิษแมงมุมในประเทศไทยไม่ได้รุนแรง ถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้

Avatar photo