General

น่าตกใจ!! วัยรุ่นสูบบุหรี่เพิ่ม 3 แสนคน/ปี

แต่ละปีมีเยาวชนไทยกว่า 3 แสนคนติดบุหรี่เพิ่ม เติบโต 0.3% ต่อปี ขณะเดียวกันก็พบว่า มีผู้เลิกสูบได้สำเร็จเพียง 4.35 % กรมควบคุมโรค ร่วมกับภาคีเครือข่าย จึงต้องหันมาทบทวน และบูรณาการงานป้องกันและช่วยเหลือคนไทยเลิกบุหรี่ให้มีประสิทธิภาพ  ตั้งเป้าลดอัตราการสูบบุหรี่ลงอย่างน้อย 30 % ในปี 2568 

addict 84430 960 720

ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ และหลอดเลือด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด  ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการเสพยาสูบ ซึ่งหากผู้ที่ป่วยโรคเรื้อรังเหล่านี้ ยังคงเสพยาสูบอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพของบุคคลรอบข้างที่ไม่สูบบุหรี่อีกด้วย

สำหรับผลการสำรวจ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 พบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป สูบบุหรี่จำนวน 10.7 ล้านคน คิดเป็น 19.1 % มีแนวโน้มลดลงเฉลี่ย 0.5 % ต่อปี แต่กลับพบว่าอัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชน ในช่วงปี 10 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.3 % ต่อปี

ปัจจุบันกลุ่มเยาวชน จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่สำคัญของตลาดธุรกิจยาสูบ ในแต่ละปีจะมีเยาวชนไทยประมาณ 2 – 3 แสนคน เสพติดบุหรี่ใหม่ ทดแทนผู้ใหญ่ที่สูบบุหรี่แล้วเสียชีวิต หรือเลิกสูบไป

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกังวลว่า การที่เยาวชนหันมาติดบุหรี่มากขึ้น อนาคตจะส่งผลให้ประเทศต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคล อันเนื่องมาจากความเจ็บป่วย และเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่

1 13

วันนี้ (30 พ.ค.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ อายุรแพทย์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว วิสัญญีแพทย์ ศัลยแพทย์ จิตแพทย์ กุมารแพทย์ สูตินรีแพทย์ อุรเวชช์ แพทย์โรคหัวใจ แพทย์ประสาทวิทยา ทันตแพทย์ สมาคมพยาบาลฯ และภาคีเครือข่ายอื่นๆ ขับเคลื่อนงานช่วยเลิกบุหรี่ แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อพัฒนาการช่วยเลิกบุหรี่ให้มีศักยภาพภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค  กล่าวว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมาของกรมควบคุมโรค ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคีเครือข่าย ในการช่วยผู้เสพ ให้เลิกใช้ยาสูบ อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 ตามแผนยุทธศาสตร์การควบคุมยาสูบแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2559 – 2562 ได้แก่

1.การพัฒนาระบบบริการบำบัดโรคเสพติดผลิตภัณฑ์ยาสูบในสถานบริการสาธารณสุข

2.การบันทึกข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคยาสูบในระบบ 43 แฟ้ม (Special PP)

3.การพัฒนาศักยภาพบุคลากร ของสถานบริการสุขภาพ ในการให้คำปรึกษาผู้เสพให้เลิกใช้ยาสูบ

ผลการดำเนินงานช่วยผู้เสพให้เลิกสูบที่ผ่านมา พบว่า จำนวนผู้สูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน มีจำนวน 7.1 ล้านคน หรือ 2 ใน 3 เป็นผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่  และผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่จำนวน 3.9 ล้านคน หรือ 54 % สามารถเข้าสู่ระบบบำบัดเลิกบุหรี่ได้

แต่จากฐานข้อมูล Health Data Center (HDC) ของกระทรวงสาธารณสุขในปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้สูบบุหรี่จำนวนเพียง 1.4 แสนคน หรือ 4.35 % เท่านั้น ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้สำเร็จ แสดงว่าระบบบริการช่วยเลิกบุหรี่ของประเทศไทย ยังคงต้องพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน ลดผลกระทบทางสังคม และเศรษฐกิจ

5 5

โดยกำหนดเป้าหมายสูงสุด 3 ประการ ได้แก่ การลดอัตราการบริโภคยาสูบของประชาชน การลดปริมาณการบริโภคยาสูบต่อหัวประชากร และการทำให้สิ่งแวดล้อม ปลอดควันบุหรี่ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน   และตั้งเป้าหมายที่สอดคล้องกับเป้าหมาย The 9 global targets for  NCD : 2025  หรือ การลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งหมายถึงต้องลดอัตราการบริโภคยาสูบลง อย่างน้อย 30 % ในปี 2568

Avatar photo