สธ. เดินหน้ายุติวัณโรค จัดประชุมวิชาการวัณโรคระดับชาติ ในวันวัณโรคสากล ปี 2568 ตั้งเป้าปี 2578 ลดอัตราการตาย 95% ลดผู้ป่วยรายใหม่ 90%
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการวัณโรคระดับชาติ ในวันวัณโรคสากลประจำปี 2568 (National Tuberculosis Conference 2025) พร้อมมอบโล่รางวัลแก่โรงพยาบาลคุณภาพด้านการดูแลรักษาวัณโรค (QTB) ระดับเพชร เพื่อเชิดชูเกียรติสถานพยาบาลที่มีผลงานดีเด่นด้านการดูแลผู้ป่วยวัณโรคอย่างมีประสิทธิภาพ
นพ.โอภาส กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก และองค์กรเครือข่ายหยุดยั้งวัณโรคระดับนานาชาติ (Stop TB Partnership) ได้มีมติให้วันที่ 24 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันวัณโรคสากล (World TB Day) เพื่อให้เกิดการรณรงค์ร่วมกันในการต่อต้านวัณโรคและย้ำเตือนให้ประชากรทั่วโลกตระหนักว่าวัณโรคยังคงระบาดและยังเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ
จากข้อมูลรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2567 พบว่าวัณโรคยังคงเป็นโรคติดเชื้อที่อันตราย มีผู้ป่วยกว่า 10.8 ล้านราย และมีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคประมาณ 1.3 ล้านราย ส่วนประเทศไทย ในปี 2567 มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ประมาณ 1.13 แสนราย และเสียชีวิตจากวัณโรคกว่า 1.3 หมื่นราย ถือเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของคนไทยเช่นกัน
กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ดำเนินงานควบคุมวัณโรคตามแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค (End TB Strategy) ขององค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก
ทั้งนี้ ได้ขับเคลื่อนนโยบายผ่านแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้านวัณโรค (Service Plan) ด้วยการค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงสูง การวินิจฉัย การรักษา และการป้องกันการเกิดวัณโรคอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสนับสนุนการดำเนินงานในทุกด้าน ตั้งเป้าลดอัตราการตายจากวัณโรคลง 95% และลดผู้ป่วยรายใหม่ลง 90% ภายในปี 2578
ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการดำเนินงานด้านวัณโรค โดยเฉพาะการพัฒนาสิทธิประโยชน์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการดูแลรักษาวัณโรคได้ดีขึ้น การปรับสูตรยารักษาและป้องกันวัณโรคให้สั้นลงตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก การนำเทคโนโลยีการวินิจฉัยที่ทันสมัยมาใช้ในการคัดกรอง วินิจฉัย การป้องกัน และการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรค ยังได้ดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรคให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค (End TB Strategy)ในปี 2578 โดยเน้นและให้ความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ คือ
1. การเร่งรัด การค้นหา และตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาในทุกกลุ่มเสี่ยง
2. ยกระดับการดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคและผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา
3. เพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการวินิจฉัย การรักษาการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง และการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
4. เสริมสร้างความเข้มแข็งระบบสนับสนุนการดำเนินงานวัณโรค
การจัดการประชุมวิชาการวัณโรคระดับชาติจึงเวทีสำคัญในการสนับสนุนให้ผู้ที่มีความสนใจได้เผยแพร่ผลงานวิจัย ผลงานนวัตกรรม และผลงานวิชาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวัณโรค โดยในปีนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ Join together and move forwards – Ending TB: 2025 ยกระดับความรู้ร่วมต่อสู้วัณโรค และมีหัวข้อรณรงค์คือ Yes! We Can End TB ยุติวัณโรค เราทำได้
การจัดงานครั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนเกิดความตระหนักถึงวัณโรค ตรวจหาวัณโรคทันทีเมื่อรู้ว่าเป็นผู้สัมผัส กลุ่มเสี่ยง หรือเมื่อมีอาการ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาอย่างรวดเร็ว ดูแลกินยารักษาตนเอง ลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น มีทัศนคติที่ดีไม่แบ่งแยก ไม่ลดคุณค่า ไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้ป่วยวัณโรค หรือ รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจาย ไม่ตีตรา
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- สธ. ตั้งเป้าใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ลดความแออัดผู้ป่วยนอกของรพ. 5% ภายใน ก.ย.นี้
- สธ. หนุนวัด ชุมชน ตั้ง ‘เบาหวานคณาราม’ ดูแลพระสงฆ์-ประชาชนเสี่ยงป่วยโรคเบาหวาน
- ตกงานต้องรู้!! ประกันสังคม ยันผู้ประกันตนขอรับเงินว่างงานได้
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsigh
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yx