General

ไข้หวัดใหญ่ระบาดรุนแรงทศวรรษใหม่ อัปเดตสถานการณ์ไทย-ญี่ปุ่น-จีน-สหรัฐ ปี 2568

ไข้หวัดใหญ่ระบาดรุนแรงทศวรรษใหม่ ศูนย์จีโนมฯ เปิดข้อมูลสถานการณ์ไทย-ญี่ปุ่น-จีน-สหรัฐ ปี 2568 เพิ่มความซับซ้อน คาดการระบาดจะลดลงในเดือนมีนาคม เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics  ระบุว่า ไข้หวัดใหญ่ระบาดรุนแรงทศวรรษใหม่: เปิดข้อมูลสถานการณ์ไทย-ญี่ปุ่น-จีน-สหรัฐ ปี 2568

ไข้หวัดใหญ่ระบาด

วิเคราะห์อัตราการตายของไข้หวัดใหญ่ ปี 2568

สหรัฐ อัตราการตายสูง (0.0556%) โดยสูงที่สุดในกลุ่มประเทศที่เปรียบเทียบ (ประมาณ 1 ต่อ 1,800 ผู้ติดเชื้อ)

สาเหตุที่อาจทำให้อัตราการตายสูง

  • การระบาดร่วมกันของเชื้อหลายชนิด (Quad-demic)-ในสหรัฐ คือการระบาดพร้อมกันของเชื้อโรค 4 ชนิด ได้แก่ ไข้หวัดใหญ่ (Influenza), RSV, โควิด-19 และโนโรไวรัส ซึ่งทำให้ระบบสาธารณสุขตึงตัวและเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อซ้อน
  • ผู้ป่วย 1 ใน 3 ที่เข้ารับการรักษาพบปอดบวมจากแบคทีเรียหลังติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
  • ผู้สูงอายุ (65+ ปี) มีอัตราการรักษาในโรงพยาบาลสูงสุด
  • อัตราการตายในกลุ่มคนผิวดำและชาวอเมริกันพื้นเมือง/อะแลสกาสูงกว่ากลุ่มอื่น

จีน อัตราการตายปานกลาง (0.01%)

อัตราการตายประมาณ 1 ต่อ 1 หมื่นผู้ติดเชื้อ โดยข้อมูลเป็นการประมาณการณ์เนื่องจากไม่มีตัวเลขอย่างเป็นทางการ มีการระบาดของเชื้อ HMPV ร่วมด้วย โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี

ไทย อัตราการตายปานกลาง (0.0091%)

อัตราการตายประมาณ 1 ต่อ 1.1 หมื่นผู้ติดเชื้อ โดยผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต

ทั้งนี้ แม้เด็กอายุ 5-9 ปีจะมีอัตราการติดเชื้อสูงสุด แต่อัตราการเสียชีวิตในกลุ่มนี้ต่ำ และอัตราป่วยตายที่กระทรวงสาธารณสุขไทยรายงานคือ 0.008% (ใกล้เคียงกับการคำนวณจากข้อมูล)

ญี่ปุ่น อัตราการตายต่ำ (0.0011%)

อัตราการตายต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศที่เปรียบเทียบ (ประมาณ 1 ต่อ 95,230 ผู้ติดเชื้อ) ขณะที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงมากถึง 9.5 ล้านคน แต่จำนวนผู้เสียชีวิตประมาณการณ์ไว้ไม่มาก และมีรายงานกรณีเด่นของนักแสดงชาวไต้หวัน (บาร์บี้ ซู) เสียชีวิตในญี่ปุ่นจากปอดบวมที่เกิดจากไข้หวัด

ป่วยเสีย

ภูมิภาคเอเชียกำลังเผชิญไข้หวัดใหญ่ระบาดรุนแรงในปี 2567-2568 

ประเทศไทย

สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ระบาดในไทยปี 2568 รุนแรงกว่าปีก่อน ๆ โดยมีผู้ป่วยเพิ่มสูงในเวลาอันสั้น เด็กเป็นกลุ่มป่วยหลัก แต่ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเสี่ยงเสียชีวิตมากที่สุด พื้นที่ภาคเหนือ (พะเยา) เป็นจุดระบาดหนัก สายพันธุ์ A/H1N1 ยังครอง แต่ควบคุมได้ด้วยวัคซีนและยา แนะนำให้ประชาชนป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัดในช่วงนี้

จำนวนผู้ป่วยสะสม: ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 24 กุมภาพันธ์ 2568 มีผู้ป่วยสะสม 131,826 ราย (กรมควบคุมโรค, 25 ก.พ. 2568) เพิ่มขึ้นจาก 99,057 รายเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ แสดงถึงการระบาดที่รวดเร็วในช่วงต้นปี โดยในรอบ 15 วัน (25 ม.ค. – 10 ก.พ.) ผู้ป่วยเพิ่มขึ้นถึง 91,238 ราย

อัตราการป่วย: สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง และสูงกว่าปี 2567 (2024) ถึง 1.6 เท่า

ผู้เสียชีวิต: สะสม 12 ราย ณ 24 ก.พ. 2568 เพิ่มจาก 9 รายเมื่อต้นเดือน (กระทรวงสาธารณสุข, 16 ก.พ. 2568) อัตราป่วยตายอยู่ที่ 0.008%

กลุ่มอายุและพื้นที่ระบาด

กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด: เด็กอายุ 5-9 ปี รองลงมาคือ 0-4 ปี และ 10-14 ปี ซึ่งเด็กเป็นกลุ่มแพร่เชื้อหลักในชุมชนและโรงเรียน

จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด (ต่อประชากร 1 แสนคน): 1. พะเยา (638.55) 2. ลำพูน (591.61) 3. เชียงราย (469.88) 4. ภูเก็ต (456.36) 5. เชียงใหม่ (443.04)

จังหวัดภาคเหนือ (พะเยา ลำพูน เชียงราย เชียงใหม่) มีอัตราป่วยไข้หวัดใหญ่สูงสุด เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นยาวนานในต้นปี 2568 ที่เอื้อต่อการแพร่กระจายของเชื้อ ประกอบกับการอยู่ในพื้นที่ปิดและรวมกลุ่มกันมากขึ้นในช่วงอากาศหนาว ส่วนภูเก็ตอาจมีอัตราป่วยสูงเพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีผู้คนหนาแน่นและมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก

กรุงเทพมหานคร มีอัตราการระบาดของไข้หวัดใหญ่ไม่สูงเท่าจังหวัดในภาคเหนือเนื่องจากปัจจัยหลายประการ เช่น สภาพอากาศที่ร้อนและไม่เอื้อต่อการแพร่เชื้อเท่าอากาศหนาวเย็นในภาคเหนือ ความตระหนักรู้และการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ดีกว่า รวมถึงพฤติกรรมการสวมหน้ากากอนามัยที่ยังคงมีอยู่ในเมืองใหญ่หลังจากช่วงการระบาดของโควิด-19

ภาคเหนือมีอัตราป่วยสูงสุด (258.44 ต่อแสนคน) ตามด้วยภาคกลาง (222.48) และภาคอีสาน (175.88)

การระบาดเป็นกลุ่มก้อน: พบ 15 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่ในโรงเรียน

สายพันธุ์และการรักษา

สายพันธุ์หลัก: A/H1N1 (pdm09) เป็นสายพันธุ์ที่พบมากที่สุดในประเทศไทยในปี 2568 โดยคิดเป็นสัดส่วน 39.46% ของผู้ป่วย รองลงมาคือสายพันธุ์ B Victoria และ A/H3N2 ซึ่งยังคงมีการระบาดร่วมกัน แต่อัตราส่วนที่แน่นอนยังไม่มีการระบุชัดเจน สาธารณสุขไทยยืนยันว่า วัคซีนที่ใช้ในไทยยังคงมีประสิทธิภาพในการป้องกันความรุนแรงจากสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่ในขณะนี้

ยาต้านไวรัส: มีการใช้ Oseltamivir รักษาและลดความรุนแรง โดยพบการดื้อยาน้อยมาก

ปัจจัยที่ทำให้ไข้หวัดใหญ่ระบาดหนัก

ภูมิคุ้มกันต่ำ: ช่วงโควิด-19 (2563-2565) การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ลดลงจากมาตรการเข้มงวด ทำให้ประชากรขาดภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ

สภาพอากาศ: ฤดูหนาวที่ยาวนานและหนาวเย็นในต้นปี 2568 โดยเฉพาะภาคเหนือและอีสาน ส่งเสริมการแพร่เชื้อ

การตรวจง่ายขึ้น: การใช้ ATK ทำให้พบผู้ป่วยมากขึ้นเมื่อเทียบกับอดีตที่ตรวจน้อย

แนวโน้ม คาดว่าผู้ป่วยทั้งปี 2568 จะสูงถึง 7-8 แสนราย มากกว่าปี 2567 (6.50 แสนราย) และปี 2566 (4.86 แสนราย) ขณะที่การเสียชีวิตอาจสูงกว่าปี 2567 (51 ราย) เล็กน้อย แต่ยังไม่ถึงระดับวิกฤต

มาตรการรับมือ

วัคซีน: แนะนำให้ 7 กลุ่มเสี่ยง (ผู้สูงอายุ 65+, เด็กเล็ก, หญิงตั้งครรภ์, ผู้มีโรคเรื้อรัง) ฉีดวัคซีนทุกปีเพื่อลดความรุนแรงและการเสียชีวิต (กรมควบคุมโรค)

การป้องกัน: สวมหน้ากากอนามัยในที่แออัด, ล้างมือบ่อยๆ, หยุดเรียน/ทำงานหากป่วย 3-7 วัน

โรงเรียน: มีการคัดกรองและแยกผู้ป่วยเพื่อลดการแพร่ระบาด

ญี่ปุ่น

สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ระบาดในญี่ปุ่นฤดูกาล 2567–2568 รุนแรงที่สุดในรอบ 26 ปี โดยมีผู้ป่วยรวมกว่า 9.5 ล้านคนจนถึงปลายมกราคม 2568 และถึงแม้จะผ่านจุดสูงสุดในธันวาคม (64.39 รายต่อสถานพยาบาลหรือจุด) แต่ยังมีผู้ป่วยต่อเนื่อง (2.21 รายต่อจุดในกุมภาพันธ์) สายพันธุ์ B เด่นขึ้นในช่วงหลัง ระบบสาธารณสุขตึงตัว และมีการสำรองยารองรับแล้ว กระทรวงฯ ยังคงเน้นย้ำมาตรการป้องกันต่อไป

สถานการณ์ทั่วไป

ญี่ปุ่นเผชิญการระบาดของไข้หวัดใหญ่ครั้งใหญ่ในฤดูกาล 2567–2568 โดยเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2567 และทวีความรุนแรงในต้นปี 2568

ข้อมูลจากสถาบันโรคติดเชื้อแห่งชาติญี่ปุ่นระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2567 ถึง 26 มกราคม 2568 มีผู้ป่วยสะสมประมาณ 9.523 ล้านคน ในระยะเวลา 144 วัน หรือเฉลี่ยวันละ 66,132 คน ซึ่งถือเป็นการระบาดที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูลในปี 2542

โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนธันวาคม 2567 (2024) ที่มีผู้ป่วยสูงถึง 317,812 ราย จากสถานพยาบาล 5,000 แห่ง เฉลี่ย 64.39 รายต่อสถานพยาบาล (จุด) เกินระดับเตือนภัย (30 ราย) อย่างมาก

อัปเดตล่าสุด (กุมภาพันธ์ 2568) จากกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการญี่ปุ่น

สัปดาห์ที่ 8 (17–23 กุมภาพันธ์ 2568) จำนวนผู้ป่วยต่อจุดรายงานลดลงเหลือ 2.21 ราย จาก 2.63 รายในสัปดาห์ก่อนหน้า และลดลงอย่างมากจากจุดสูงสุดของฤดูกาลนี้ที่ 64.39 ราย (ปลายธ.ค. 2567) แสดงว่าการระบาดเริ่มชะลอตัวหลังผ่านจุดพีค

อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ป่วยยังคงมีอยู่ และกระทรวงฯ แนะนำให้สวมหน้ากากอนามัยในบางสถานการณ์เพื่อป้องกันทั้งไข้หวัดใหญ่และโรคอื่นๆ เช่น โควิด-19 (ที่รายงาน 4.95 รายต่อจุดในสัปดาห์เดียวกัน)

สายพันธุ์และความรุนแรง

สายพันธุ์หลัก: รายงานระบุถึงทั้งสายพันธุ์ A และ B โดยช่วงต้นฤดูกาล (กันยายน–ธันวาคม 2567) สายพันธุ์ A (เช่น A/H1N1) มีบทบาทเด่น แต่ตั้งแต่ต้นปี 2568 สายพันธุ์ B เริ่มระบาดหนักขึ้น โดยเฉพาะในโตเกียวและโอซาก้า ซึ่งสายพันธุ์ B มักทำให้เกิดอาการรุนแรงในบางกลุ่ม เช่น เด็กและผู้สูงอายุ

ภาวะแทรกซ้อน: มีรายงานผู้เสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อน เช่น ปอดบวม โดยกรณีเด่นคือ บาร์บี้ ซู (Barbie Hsu) นักแสดงชาวไต้หวัน เสียชีวิตในญี่ปุ่นเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2568 จากปอดบวมที่เกิดจากไข้หวัดใหญ่ สะท้อนความรุนแรงของโรคในฤดูกาลนี้

ผลกระทบและการตอบสนอง

ระบบสาธารณสุข: การระบาดหนักในโตเกียว โอซาก้า และเมืองใหญ่ ทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งรับผู้ป่วยเพิ่มไม่ได้หากอาการไม่รุนแรง และเกิดการขาดแคลนยาต้านไวรัส เช่น Oseltamivir (Tamiflu) และ Favipiravir ตั้งแต่ปลายธันวาคม 2567 อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ รายงานเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2568 ว่ามีการสำรองยา 1.263 ล้านคน เพื่อรับมือสถานการณ์

คำแนะนำ: ผู้เชี่ยวชาญ แนะนำให้ฉีดวัคซีน ซึ่งยังคงมีประสิทธิภาพ รวมถึงการดูแลสุขอนามัย เช่น ล้างมือ สวมหน้ากากในที่แออัด และพกยาต้านไวรัสสำหรับนักท่องเที่ยว
บริบทสำหรับนักท่องเที่ยวไทย

พื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่น โตเกียว โอซาก้า และฮอกไกโด (ที่คาดว่าระบาดสูงในฤดูหนาว) ยังมีความเสี่ยง แม้จำนวนผู้ป่วยลดลงในปลายกุมภาพันธ์ แนะนำให้คนไทยที่วางแผนไปญี่ปุ่นช่วงนี้ป้องกันตัวเองอย่างเข้มงวด

เทียบระบาด68

สหรัฐ 

สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ระบาดในสหรัฐฤดูกาล 2567–2568 รุนแรงและยาวนานกว่าปกติ มีการระบาด 2 ระลอกต่อเนื่อง โดยมีผู้ป่วยกว่า 27 ล้านราย เข้ารักษา 3.3 แสนราย และเสียชีวิต 1.5 หมื่นราย

ณ สิ้นกุมภาพันธ์ 2568 สายพันธุ์ A(H1N1) และ A(H3N2) ครองการระบาด คลื่นลูกที่สองยังดำเนินต่อไป และระบบสาธารณสุขเผชิญความท้าทายจากโรคทางเดินหายใจหลายชนิด แนะนำให้ฉีดวัคซีนและป้องกันตัวเองอย่างเข้มงวด

จำนวนผู้ป่วยสะสม: CDC ประเมินว่าในฤดูกาล 2567–2568 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ถึง 22 กุมภาพันธ์ 2568 มีผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่สะสมอย่างน้อย 27 ล้านราย เพิ่มจาก 24 ล้านรายในสัปดาห์ก่อนหน้า ถือเป็นฤดูกาลที่รุนแรงที่สุดในรอบอย่างน้อย 15 ปี และอาจสูงสุดในรอบ 28 ปีตามการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วยนอก

การรักษาในโรงพยาบาล: มีผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากไข้หวัดใหญ่สะสม 3.3 แสนราย เพิ่มจาก 3.1 แสนรายในสัปดาห์ก่อนหน้า

ผู้เสียชีวิต: เสียชีวิตสะสม 1.5 หมื่นราย รวมถึงเด็ก 68 ราย, 1 มี.ค. 2568) เพิ่มจาก 1.3 หมื่นรายและเด็ก 57 รายในสัปดาห์ก่อนหน้า

ระดับการระบาด: CDC รายงานว่าในสัปดาห์ที่ 7 (9–15 ก.พ. 2568) 42 รัฐและวอชิงตัน ดี.ซี. มีระดับการระบาด สูงมาก  (Very High) หรือ สูง (High) ลดลงจาก 46 รัฐในสัปดาห์ก่อนหน้า แต่ยังคงสูงผิดปกติ โดยอัตราการเข้ารับการรักษาพุ่งถึง 15.7 ต่อประชากร 1 แสนคน

จุดสูงสุดของไข้หวัดใหญ่ระบาดระลอกที่สอง: ฤดูกาลนี้มีการระบาด คลื่นลูกที่สอง เริ่มตั้งแต่ต้นกุมภาพันธ์ หลังจากพีคแรกในปลายธันวาคม 2567 คาดว่าการระบาดจะดำเนินต่อไปอีกหลายสัปดาห์

ความรุนแรง: CDC จัดระดับฤดูกาลนี้เป็น “High Severity” จากตัวชี้วัด 3 ด้าน (ผู้ป่วยนอก, การรักษาในโรงพยาบาล, การเสียชีวิต) ซึ่งสูงกว่าฤดูกาล 2566–2567 ที่ปานกลาง

สายพันธุ์หลัก: Influenza A คิดเป็น 97.9% ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษา โดยแบ่งเป็น A(H1N1)pdm09 (54.4%) และ A(H3N2) (45.6%) Influenza B พบเพียง 1.9% แต่เริ่มเพิ่มขึ้นในช่วงหลัง

กลุ่มอายุที่ได้รับผลกระทบ: ผู้สูงอายุ (65+ ปี) มีอัตราการรักษาในโรงพยาบาลสูงสุด (181.8 ต่อแสนคน) รองลงมาคือ 50–64 ปี (68.9) และเด็ก 0–4 ปี (52.😎 เด็กมีผู้เสียชีวิตสูงถึง 68 ราย โดย 13% มีภาวะสมองอักเสบจากไข้หวัดใหญ่

เชื้อชาติ: อัตราการรักษาในโรงพยาบาลสูงสุดในกลุ่มคนผิวดำไม่ใช่ฮิสแปนิก (92.8 ต่อแสนคน) รองลงมาคือชาวอเมริกันพื้นเมือง/อะแลสกา (83.2)

ประสิทธิภาพวัคซีน: ระบุว่าวัคซีนฤดูกาล 2567–2568 ลดการไปพบแพทย์และการรักษาในโรงพยาบาลได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่เมื่อเทียบกับผู้ไม่ฉีด วัคซีนครอบคลุมสายพันธุ์ A(H1N1)pdm09 100%

การฉีดวัคซีน: CDC แนะนำให้ทุกคนอายุ 6 เดือนขึ้นไปฉีดวัคซีนทุกปี แต่ยังไม่มีข้อมูลการครอบคลุมล่าสุด

การระบาดร่วม: สหรัฐเผชิญ Quad-demic (ไข้หวัดใหญ่, RSV, โควิด-19, โนโรไวรัส) ทำให้ระบบสาธารณสุขตึงตัว โรงพยาบาลหลายแห่งมีเตียงเต็มและรอคอยนาน

ภาวะแทรกซ้อน: ผู้ป่วย 1 ใน 3 ที่เข้ารับการรักษาพบปอดบวมจากแบคทีเรียหลังติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

H5N1 (ไข้หวัดนก): พบผู้ป่วยในมนุษย์ 1 รายในหลุยเซียนา (เสียชีวิต) และกรณีอื่นๆ จากการสัมผัสสัตว์ แต่ยังไม่มีการแพร่จากคนสู่คน

จีน

สถานการณ์ไข้หวัดใหญ่ระบาดในจีนฤดูกาล 2567–2568 เป็นการระบาดตามฤดูกาลที่รุนแรงปานกลาง โดยมี Influenza A และ HMPV เป็นตัวขับเคลื่อนหลัก เด็กและผู้สูงอายุได้รับผลกระทบมากในจีนตอนเหนือ ถึงแม้จะมีรายงานโรงพยาบาลแออัด แต่ทางการยืนยันว่าระบบสาธารณสุขยังรับมือได้ และไม่มีความเสี่ยงระดับโลกในขณะนี้ แนะนำให้ประชาชนใช้มาตรการป้องกันพื้นฐานต่อไป

จำนวนผู้ป่วย: ข้อมูลจาก China CDC ระบุว่าในช่วงฤดูหนาว 2567–2568 (2024–2025) มีการระบาดของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ โดยไข้หวัดใหญ่ (Influenza) เป็นหนึ่งในสาเหตุหลัก ร่วมกับ Human Metapneumovirus (HMPV) และเชื้ออื่นๆ เช่น Mycoplasma pneumoniae และ Rhinovirus อย่างไรก็ตาม ไม่มีตัวเลขผู้ป่วยสะสมทั้งหมดที่ชัดเจนจากทางการจนถึงสิ้นกุมภาพันธ์ แต่คาดว่ามีผู้ป่วยหลายล้านรายจากการระบาดในฤดูหนาว

แนวโน้ม: China CDC รายงานว่าในช่วงต้นมกราคม 2568 อัตราการตรวจพบเชื้อไข้หวัดใหญ่ (Influenza positivity rate) ชะลอตัวลง โดยคาดว่าจะลดลงในช่วงกลางถึงปลายมกราคม แต่จำนวนผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจโดยรวมยังคงเพิ่มขึ้น ถึงกุมภาพันธ์ การระบาดเริ่มทรงตัวแต่ยังไม่สิ้นสุด

ความรุนแรง: การระบาดในปีนี้รุนแรงน้อยกว่าปี 2566–2567 ซึ่งเป็นปีแรกหลังยกเลิกมาตรการโควิด-19 ที่เข้มงวด

สายพันธุ์หลัก: Influenza A เป็นสายพันธุ์เด่น โดยเฉพาะ A(H1N1)pdm09 และ A(H3N2) คิดเป็น 30.2% ของการตรวจพบเชื้อในช่วงปลายธันวาคม 2567 HMPV พบสูงขึ้นในเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี โดยเฉพาะในจีนตอนเหนือ (6.2% ของการตรวจพบเชื้อ) และเป็นที่สนใจจากสื่อทั่วโลกเนื่องจากมีรายงานโรงพยาบาลแออัด Influenza B เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในช่วงหลังของฤดูกาล แต่ยังไม่แซงหน้า Influenza A

กลุ่มเสี่ยง: เด็กเล็ก (ต่ำกว่า 14 ปี), ผู้สูงอายุ, และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดย HMPV มีรายงานเด่นในเด็ก

พื้นที่ระบาด: จีนตอนเหนือ (เช่น ปักกิ่ง) มีอัตราการป่วยสูง เนื่องจากอากาศหนาวเย็นยาวนานถึงมีนาคม

ระบบสาธารณสุข: มีรายงานจากโซเชียลมีเดีย ว่าโรงพยาบาลและสถานฌาปนสถานในเมืองใหญ่ เช่น ปักกิ่งและหางโจว แออัดหนัก แต่ WHO และ China CDC ยืนยันว่าไม่มีภาวะฉุกเฉิน และระบบสาธารณสุขยังรับมือได้

ผู้เสียชีวิต: ไม่มีข้อมูลอย่างเป็นทางการถึงจำนวนผู้เสียชีวิตจากไข้หวัดใหญ่โดยเฉพาะ แต่สื่อบางแห่ง อ้างว่ามีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นในกลุ่มอายุ 40-80 ปี ซึ่งยังไม่ได้รับการยืนยัน

มาตรการ: ไม่มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน แนะนำให้ระบายอากาศ ล้างมือ และสวมหน้ากากในที่แออัด ทดลองระบบเฝ้าระวังปอดบวมจากสาเหตุไม่ทราบที่มา

ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง

ฤดูกาล: การระบาดสอดคล้องกับฤดูหนาวในซีกโลกเหนือ ซึ่งเป็นช่วงปกติของโรคทางเดินหายใจ

ภูมิคุ้มกัน: การยกเลิก-มาตรการโควิด-19 ที่ทำให้ภูมิคุ้มกันหมู่ต่อไข้หวัดใหญ่ลดลง ส่งผลให้มีการระบาดหนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

HMPV ความสนใจพิเศษ: แม้ HMPV ไม่ใช่ไวรัสใหม่ (ค้นพบในปี 2001) แต่การระบาดที่เด่นชัดในเด็กทำให้เกิดความกังวลระดับโลก อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าไม่ใช่สถานการณ์เช่นโควิด-19

เปรียบเทียบและแนวโน้ม

เมื่อเทียบกับปี 2566–2567 ที่ Influenza A(H1N1) และ A(H3N2) ระบาดหนักหลังยกเลิกมาตรการโควิด ปีนี้การระบาดเบากว่า แต่ HMPV เพิ่มความซับซ้อน
คาดว่าการระบาดจะลดลงในเดือนมีนาคม เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo