“อนุทิน” เกาะติด “PM2.5” สั่ง 6 มาตรการยกระดับคุมเข้มการเผา พร้อม 17 จังหวัดภาคเหนือประกาศพื้นที่ห้ามเผา
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ โฆษกกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า วันที่ 29 มกราคม 2568) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามสถานการณ์และการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
ทั้งนี้ มีการรายงานสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) การแก้ไขปัญหาในปัจจุบันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ ทั้งการเผาในที่โล่ง การลักลอบเผาป่า ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้าง หมอกควันข้ามแดน และจังหวัดที่มีจำนวนจุดความร้อน (Hotspot) สะสมสูงสุด 5 อันดับ คือ จังหวัดกาญจนบุรี ชัยภูมิ ลพบุรี ตาก และจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์จากหน่วยงานพยากรณ์อากาศ

17 จังหวัดประกาศพื้นที่ห้ามเผา-ใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น
นายอนุทิน กล่าวว่า น.ส.แพทองธาร ชินวิตร นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยกับสถานการณ์ฝุ่นละอองเป็นอันมาก พร้อมได้ติดตามและประสานงานเรียกประชุมหารืออยู่ตลอดเวลา และสั่งการให้เชิญและแต่งตั้งนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษา บกปภ.ช.
โดยปัจจุบันผู้ว่าราชการจังหวัดภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัดได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ห้ามเผาเรียบร้อยแล้ว และได้ยกระดับการดำเนินทุกมาตรการอย่างเข้มข้น โดยใช้ระบบการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน นอกเหนือจากอำนาจในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้งนี้ การร่วมมือกันอย่างเต็มที่ จะทำให้เราสามารถควบคุมสถานการณ์ได้และนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างเร็วที่สุด
6 มาตรการยกระดับคุมเข้มการเผา
นายอนุทิน กล่าวอีกว่า การเผาเป็นมูลเหตุของปัญหา ดังนั้น เราต้องควบคุมไม่ให้มีการเผา ต้องจัดการในบ้านเราให้เรียบร้อยก่อน และถ้าหากว่าในประเทศเราไม่มีปัญหา แต่ยังมีสถานการณ์มาจากประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลก็จะต้องมีมาตรการลงโทษ (Sanctions) อาทิ ไม่รับซื้อสินค้าเกษตรจากประเทศที่ก่อปัญหา รวมถึงกำหนดวิธีการที่เป็นทางเลือกให้กับพี่น้องประชาชนเกษตรกร การแก้ปัญหาด้วยการฝังกลบตอซัง หรือการนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาทำเป็นเชื่อเพลิง ทำปุ๋ย อาหารสัตว์ ซึ่งเป็นทางเลือกที่จะทำให้เกษตรกรไม่เผา และมีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
นายอนุทิน ยังได้มีข้อสั่งการให้ทุกหน่วยงานร่วมบูรณาการใน 6 มาตรการเพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5)
1. มาตรการเฝ้าระวังและแจ้งเตือนสถานการณ์อย่างทันท่วงที
2. มาตรการป้องกันปราบปรามและบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมการเผาอย่างเด็ดขาด
3. ลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนให้มีน้อยที่สุด
4. มาตรการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอย่างเข้มข้น
5. มาตรการสนับสนุนงบประมาณ ด้วยการเร่งรัดกระบวนการพิจารณางบกลาง เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นให้แก่หน่วยงานที่ขอรับการสนับสนุนให้ทันต่อสถานการณ์ในการแก้ไขปัญหา
6. มาตรการการขับเคลื่อนกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ
นายอนุทิน เน้นย้ำให้ผู้ว่าฯ ใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติอย่างเต็มศักยภาพ ต้องตีเส้นแบ่งกรอบในแต่ละจังหวัด เพื่อบูรณาการความร่วมมือทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ ภาครัฐ ภาคการเกษตร อสม. อาสาสมัคร และทุกภาคส่วน โดยในส่วนของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายที่ต้องเด็ดขาดและควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชน
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- กทม.เตือนคนกรุง! ฝุ่น ‘PM 2.5’ พุ่งอีกครั้ง ระดับส่งผลต่อสุขภาพ 30 ม.ค.-5 ก.พ. แนะเตรียมอุปกรณ์ป้องกัน
- จุดความร้อนในไทยยังพุ่ง 776 จุด จังหวัดตากครองแชมป์ พบมากสุด
- เช้านี้ฝุ่นกลับมาแล้ว! ‘PM 2.5′ ระดับสีส้ม 12 พื้นที่ คนกรุงเช็กเลยพื้นที่ไหนบ้าง?
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg