General

ไข้หวัดนก H5N1 แพร่กระจายรุนแรง ปี 2568 สหรัฐฯ อาจเป็นจุดเริ่มต้นโรคระบาดใหญ่ครั้งใหม่

ปี 2568 เฝ้าระวัง  สหรัฐฯ อาจเป็นจุดเริ่มต้นโรคระบาดใหญ่ครั้งใหม่ หลังพบไข้หวัดนก H5N1 แพร่กระจายรุนแรง

การระบาดของไข้หวัดนก H5N1 ในสหรัฐ กำลังสร้างความวิตกกังวลในระดับโลก เมื่อพบว่ามีการกลายพันธุ์และสามารถแพร่กระจายข้ามสายพันธุ์ของสัตว์เลือดอุ่นได้อย่างรวดเร็ว

ไข้หวัดนก H5N1

สถานการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าโรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ไม่จำเป็นต้องมีต้นกำเนิดจากภูมิภาคเอเชียหรือแอฟริกาเสมอไป และสหรัฐอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ครั้งต่อไปได้ เช่นเดียวกับกรณีไข้หวัดใหญ่สเปนในปี 1918 ที่แม้จะมีชื่อเรียกที่ทำให้เข้าใจผิด แต่นักวิจัยจำนวนมากเชื่อว่ามีจุดเริ่มต้นจากสหรัฐ

จากรายงานล่าสุดของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ (CDC) เผยสถานการณ์น่าวิตกของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่กำลังระบาดอย่างต่อเนื่องในสหรัฐ โดยพบการกลายพันธุ์ที่ทำให้ประสิทธิภาพของยาต้านไวรัสลดลง และที่น่ากังวลคือการแพร่กระจายของเชื้อที่ไม่จำกัดเฉพาะในนกอีกต่อไป สุ่มเสี่ยงที่จะมีการกลายพันธุ์เกิดการระบาดอาการรุนแรงระหว่างคนสู่คน

สถานการณ์ล่าสุดสร้างความกังวลอย่างมาก เมื่อพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนก H5N1 แล้ว 65 รายในสหรัฐ โดย 3 รายพบการกลายพันธุ์ที่ส่งผลให้ประสิทธิภาพของยา oseltamivir ในการรักษาลดลง สถานการณ์ยิ่งน่าวิตกเมื่อพบว่า เชื้อไวรัสสามารถแพร่กระจายสู่วัวนม และตรวจพบ RNA ของไวรัสในนมดิบความเข้มข้นสูง

การระบาดครั้งนี้ไม่เพียงจำกัดอยู่ในสัตว์ปีกเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปยังสัตว์หลากชนิด รวมถึงกรณีแมวบ้านที่เสียชีวิตจากการกินอาหารแช่แข็งที่มีเชื้อปนเปื้อน พร้อมกันนี้ คนงานฟาร์มจำนวนมากก็ล้มป่วยด้วย อาการระบบทางเดินหายใจและตาอักเสบ

ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ การพบผู้ป่วยอาการรุนแรงจากเชื้อไข้หวัดนกกลายพันธุ์ในรัฐลุยเซียนา รัฐวอชิงตัน และที่บริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของเชื้อที่เพิ่มขึ้นจากการกลายพันธุ์

ข้อมูลสำคัญที่ควรทราบ

CDC เปิดเผยผลการถอดรหัสพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดนก HPAI A(H5N1) จากผู้ป่วยอาการรุนแรงในรัฐลุยเซียนา โดยเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับรหัสพันธุกรรมของเชื้อที่พบในวัวนม นกป่า สัตว์ปีก และผู้ป่วยรายก่อนหน้า ซึ่งเป็นสายพันธุ์ B3.13 ผลปรากฏว่าเชื้อได้กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ D1.1

ที่น่าสนใจคือ การตรวจพบการกลายพันธุ์ความถี่ต่ำในยีน hemagglutinin จากตัวอย่างของผู้ป่วย ซึ่งลักษณะการกลายพันธุ์นี้ไม่พบในเชื้อที่เก็บได้จากสัตว์ปีกในพื้นที่ที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ สะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมนี้เกิดขึ้นภายในร่างกายของผู้ป่วยหลังจากได้รับเชื้อ

การกลายพันธุ์ความถี่ต่ำในยีน hemagglutinin ที่พบในไวรัสไข้หวัดนก H5N1 พบได้ดังนี้

1. A134A/V

  • ตำแหน่งที่ 134 ของโปรตีนส่วนหนาม
  • 88% ของไวรัสยังคงเป็นกรดอะมิโนอะลานีน (Alanine) เหมือนเดิม
  • 12% กลายพันธุ์เป็นกรดอะมิโนวาลีน (Valine)

2. N182N/K: ของโปรตีนส่วนหนาม

  • ตำแหน่งที่ 182 ของโปรตีน
  • 65% ของไวรัสยังคงเป็นกรดอะมิโนแอสพาราจีน (Asparagine) เหมือนเดิม
  • 35% กลายพันธุ์เป็นกรดอะมิโนไลซีน (Lysine)

3. E186E/D: ของโปรตีนส่วนหนาม

  • ตำแหน่งที่ 186 ของโปรตีน
  • 92% ของไวรัสยังคงเป็นกรดอะมิโนกลูตามิก (Glutamic acid) เหมือนเดิม
  • 8% กลายพันธุ์เป็นกรดอะมิโนแอสพาร์ติก (Aspartic Acid)

การกลายพันธุ์เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ในแต่ละตำแหน่ง มีทั้งไวรัสที่ยังคงลักษณะเดิมและไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยมีสัดส่วนที่แตกต่างกันไป ซึ่งอาจส่งผลต่อคุณสมบัติของไวรัสในด้านต่างๆ เช่น ความสามารถในการติดเชื้อหรือการหลบหลีกระบบภูมิคุ้มกัน

465208717 1312644270074816 1187163277047673645 n

รายละเอียดเชื้อไข้หวัดนกกลายพันธุ์ในรัฐลุยเซียนา

CDC ได้วิเคราะห์ลำดับพันธุกรรมของไวรัส ที่พบในตัวอย่างจากทางเดินหายใจส่วนบนสองตัวอย่างของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง จากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนกชนิดรุนแรง (HPAI) A(H5N1) ในรัฐลุยเซียนา

ผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อไวรัส A(H5N1) สายพันธุ์ D1.1 ซึ่งมีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมกับไวรัส D1.1 ที่ตรวจพบเมื่อเร็วๆ นี้ในนกป่าและสัตว์ปีกในสหรัฐ รวมถึงในผู้ป่วยที่รัฐวอชิงตัน และบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดาที่มีอาการรุนแรง

ไวรัสไข้หวัดนก A(H5N1) สายพันธุ์นี้แตกต่างจากสายพันธุ์ B3.13 ซึ่งกำลังแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางและก่อให้เกิดการระบาดในฝูงวัวนม สัตว์ปีก และสัตว์อื่นๆ พร้อมทั้งพบการติดเชื้อในมนุษย์เป็นครั้งคราวในสหรัฐ

นักวิจัยได้ทำการถอดรหัสพันธุกรรมแบบละเอียด จากตัวอย่างทางคลินิกสองตัวอย่างของผู้ป่วยในลุยเซียนา เพื่อค้นหาการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกี่ยวข้องกับการปรับตัวเข้ากับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบการเปลี่ยนแปลงความถี่ต่ำบางประการในส่วนของยีนฮีแมกกลูตินิน (hemagglutinin: HA) ซึ่งพบได้น้อยในมนุษย์

แต่เคยมีรายงานในผู้ป่วย A(H5N1) ที่มีอาการรุนแรงในบริติชโคลัมเบีย ประเทศแคนาดา ซึ่งบ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินโรคขณะที่ไวรัสเพิ่มจำนวนในตัวผู้ป่วย การวิเคราะห์ยีน N1 neuraminidase (NA), matrix (M) และ polymerase acid (PA) จากตัวอย่างไม่พบการเปลี่ยนแปลงที่สัมพันธ์กับตัวบ่งชี้ที่ทราบแล้วหรือสงสัยว่าจะทำให้ลดความไวต่อยาต้านไวรัส

ยีนฮีแมกกลูตินิน เป็นยีนที่สำคัญในไวรัสไข้หวัดใหญ่ โดยทำหน้าที่ควบคุมการสร้างโปรตีนฮีแมกกลูตินิน ซึ่งเป็นไกลโคโปรตีนหรือส่วนหนามที่อยู่บนเปลือกผิวชั้นนอกของอนุภาคไวรัส โปรตีนชนิดนี้มีบทบาทสำคัญในการติดเชื้อไวรัส เนื่องจากช่วยให้ไวรัสสามารถจับกับตัวรับกรดไซแอลิก (Sialic acid) บนผิวเซลล์ของโฮสต์ ซึ่งเป็นขั้นตอนแรกในการเข้าสู่เซลล์ของไวรัส

ฮีแมกกลูตินินมีความจำเพาะต่อการจับกับตัวรับกรดไซแอลิกที่แตกต่างกันในสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิด เช่น ในมนุษย์ ตัวรับที่พบส่วนใหญ่จะเป็นแบบ SA-α2,6-Gal, ในสัตว์ปีก ตัวรับส่วนใหญ่จะเป็นแบบ SA-α2,3-Gal

ความจำเพาะนี้ส่งผลต่อความสามารถของไวรัสในการติดเชื้อข้ามสายพันธุ์ เช่น จากสัตว์ปีกสู่มนุษย์ นอกจากนี้ ฮีแมกกลูตินินยังมีบทบาทในการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน โดยสามารถกระตุ้นการสร้างแอนติบอดีในร่างกาย

ยีนฮีแมกกลูตินินในไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ A ถูกแบ่งออกเป็น 18 ชนิด (H1-H18) ซึ่งแต่ละชนิดมีความจำเพาะและความสามารถในการติดเชื้อที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น:

  • H1N1 และ H3N2 เป็นสายพันธุ์ที่พบในมนุษย์และทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล
  • H5N1 และ H7N9 เป็นสายพันธุ์ที่พบในสัตว์ปีกและสามารถติดเชื้อในมนุษย์ได้ ทำให้เกิดอาการรุนแรง

การศึกษายีนฮีแมกกลูตินินจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนายาต้านไวรัสและวัคซีน รวมถึงการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ที่อาจเพิ่มความสามารถของไวรัสในการแพร่ระบาดหรือข้ามสายพันธุ์

โดยภาพรวม ลำดับพันธุกรรมของยีนฮีแมกกลูตินิน จากตัวอย่างทางคลินิกทั้งสองชิ้นมีความใกล้ชิดกับลำดับ HA ที่ตรวจพบในไวรัสสายพันธุ์ D1.1 อื่นๆ รวมถึงไวรัสที่ถอดรหัสพันธุกรรมจากตัวอย่างที่เก็บในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2567 จากนกป่าและสัตว์ปีกในลุยเซียนา

ยีน HA ของไวรัสเหล่านี้ยังมีความใกล้ชิดกับไวรัสสายพันธุ์วัคซีนตัวเลือก A/Ezo red fox/Hokkaido/1/2022 (CVV) โดยพบการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโน 2 หรือ 3 ตำแหน่ง ไวรัสเหล่านี้มีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนใน HA เฉลี่ย 3 หรือ 4 ตำแหน่งเมื่อเทียบโดยตรงกับลำดับพันธุกรรมของ A/Astrakhan/3212/2020 CVV

ข้อมูลเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ไวรัสที่ตรวจพบในตัวอย่างทางเดินหายใจของผู้ป่วยรายนี้มีความใกล้ชิดกับไวรัสวัคซีนตัวเลือก HPAI A(H5N1) ที่มีอยู่แล้วและพร้อมให้ผู้ผลิตใช้ในการผลิตวัคซีนหากจำเป็น

การดำเนินการต่อไป

โดยภาพรวมแล้ว CDC ประเมินว่า ความเสี่ยงต่อประชาชนทั่วไปจากการระบาดของเชื้อไข้หวัดนก HPAI A(H5N1) ในสหรัฐ ยังไม่เปลี่ยนแปลงคือคงอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม การตรวจพบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง พร้อมการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในตัวอย่างทางคลินิก ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเฝ้าระวังทางพันธุกรรมอย่างต่อเนื่องทั้งในคนและสัตว์ การควบคุมการระบาดของไข้หวัดนก A(H5) ในฟาร์มโคนมและสัตว์ปีก รวมถึงมาตรการป้องกันสำหรับผู้ที่สัมผัสกับสัตว์ติดเชื้อหรือสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อนเชื้อ

ที่มา: ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี 

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo