General

‘ปปง.’ แถลงยึด-อายัดทรัพย์ ‘ทนายตั้ม-พวก’ รวม 71 ล้าน

“ปปง.” แถลงผลยึดและอายัดทรัพย์ “ทนายตั้ม” กับพวก ฐานฉ้อโกงปกติธุระ-ฟอกเงิน เป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง-เงินในบัญชี รวม 71 ล้าน

นายเทพสุ บวรโชติดารา เลขาธิการ ปปง. และนายวิทยา นีติธรรม ผู้อำนวยการกองกฎหมาย โฆษกประจำสำนงาน ปปง. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการธุรกรรม ครั้งที่ 15/2567 โดย คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเห็นชอบให้ดำเนินการกับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำผิด สรุปผลการดำเนินการที่น่าสนใจดังนี้

ทนายตั้ม

1.ยึดและอายัดทรัพย์สิน จำนวน 12 รายคดี ทรัพย์สินกว่า 234 รายการ พร้อมดอกผล มูลค่าประมาณ 836 ล้านบาท โดยเป็นทรัพย์สินในคดีสำคัญเกี่ยวกับความผิดมูลฐาน เกี่ยวกับยาเสพติด การฉ้อโกงประชาชน หรือการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดเกี่ยวกับการจัดให้มีการเล่นพนัน ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ที่น่าสนใจ ดังนี้

รายคดี นายษิทราฯ กับพวก ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานเกี่ยวกับการฉ้อโกงอันมีลักษณะเป็นปกติธุระ และความผิดฐานฟอกเงิน โดยมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่า มีการโอน ยักย้าย ปกปิด หรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด คณะกรรมการธุรกรรมจึงมีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จำนวน 3 รายการ เป็นที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง และเงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร รวมมูลค่าประมาณ 71 ล้านบาท

2. ส่งเรื่องให้พนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 6 รายคดี ทรัพย์สินกว่า 119 รายการ มูลค่าประมาณ 287 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นทรัพย์สินเกี่ยวกับความผิดมูลฐานเกี่ยวกับยาเสพติด และมีความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน โดยมีข้อมูลรายคดีสำคัญ ที่น่าสนใจ ดังนี้

รายคดี บริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป จำกัด กับพวก มีมติให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ตามคำสั่ง ย.214/2567, ย.222/2567, ย.223/2567, ย.224/2567 และ ย.225/2567 รวมจำนวน 103 รายการ มูลค่าประมาณ 286 ล้านบาท

และมีมติให้เพิกถอนการยึดอายัดทรัพย์สิน จำนวน 40 รายการ มูลค่ารวมประมาณ 29 ล้านบาท เนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถแสดงหลักฐานว่าเงินหรือทรัพย์สินที่ถูกดำเนินการไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด

ทั้งนี้ ในส่วนของการคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย สำนักงาน ปปง. ได้ประกาศกำหนดให้ผู้เสียหายยื่นคำร้องฯ ภายใน 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกาา (ครบกำหนดวันที่ 17 ก.พ. 2568) จากนั้น สำนักงาน ปปง. จะตรวจสอบและรวบรวมรายชื่อผู้เสียหาย และจำนวนความเสียหาย เพื่อพิจารณาก่อนส่งเรื่องให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอต่อศาลแพ่ง ให้มีคำสั่งนำทรัพย์สินไปคืนหรือชดใช้คืน ให้กับผู้เสียหายตามสัดส่วนความเสียหาย แทนการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินต่อไป

อนึ่ง การส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการดำเนินการกับทรัพย์สินในคดีนี้ ทั้งนี้ หากสำนักงาน ปปง. มีการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินในคดีนี้เพิ่มเติม จะแจ้งให้ทราบต่อไป

TZm52CVERfIPYOFd4Usg

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo