คมนาคม ผนึก สาธารณสุข ยกระดับความปลอดภัยทางถนน ตรวจสุขภาพ-ประเมินสมรรถนะผู้ขับขี่ ก่อนต่อใบอนุญาต เริ่มกลุ่มแรก รถสาธารณะ-รถบรรทุก-รถนักเรียน-รถกู้ชีพ กู้ภัย
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธี บันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน ระหว่าง นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับ นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม โดยมี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นสักขีพยาน
สาธารณสุข-คมนาคม ยกระดับความปลอดภัยทางถนน
นายสุริยะ กล่าวว่า รัฐบาลโดย นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญเร่งด่วนในการลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ภายใต้กรอบการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ และบรรลุตามเป้าหมายทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน 2021-2030 ตามปฏิญญาสตอกโฮล์ม ที่กำหนดให้ลดการเสียชีวิตและการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนลง 50% ภายในปี พ.ศ. 2573
รวมถึงแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยที่มีเป้าหมายลดผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็น 12 คนต่อแสนประชากร ภายในปี พ.ศ. 2570
ซึ่งจากรายงานสถานการณ์โลกด้านความปลอดภัยทางถนน พ.ศ. 2566 โดยองค์การอนามัยโลก พบว่า ประเทศไทยยังมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 25 คนต่อแสนประชากร
กระทรวงคมนาคมจึงมุ่งมั่นพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งทางถนน ซึ่งเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศ และเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในการเดินทางให้มีประสิทธิภาพและความปลอดภัย โดยเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทุกมิติ
อาทิ ยกระดับมาตรฐานการออกใบอนุญาตขับรถ พัฒนามาตรฐานยานยนต์ให้เป็นมาตรฐานสากล UN Regulations ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด รวมถึงบูรณาการกับภาคส่วนต่าง ๆ
เชื่อมโยงข้อมูล ตรวจสุขภาพ-ประเมินสมรรถนะผู้ขับขี่ ก่อนต่อใบอนุญาต
ด้าน นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ในแต่ละปี ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ย 18,000 ราย บาดเจ็บกว่า 1 ล้านราย พิการกว่า 10,000 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 600,000 ล้านบาท กระทรวงสาธารณสุขจึงได้พัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือการป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความพร้อมด้านสุขภาพของผู้ขับขี่ยานพาหนะที่มีส่วนสำคัญในการช่วยให้การเดินทางมีความปลอดภัย
การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ จึงมุ่งยกระดับและพัฒนากระบวนการออกใบอนุญาตขับรถ ให้มีคุณภาพสอดคล้องกับมาตรฐานสากล
โดยจะพิจารณาและปรับปรุงกฎระเบียบรองรับการตรวจคัดกรองสุขภาพ และตรวจประเมินสมรรถนะผู้ขับรถ พัฒนาและนำระบบดิจิทัลที่เหมาะสมมาใช้ในการบริหารจัดการและบริการประชาชน พัฒนามาตรฐานการตรวจและประเมินสมรรถนะทางสุขภาพของผู้ขับขี่ (Medical Fitness to Drive)
และเชื่อมโยงข้อมูลใบรับรองแพทย์ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการขอรับและขอต่ออายุใบอนุญาตขับรถ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ และใบอนุญาตผู้ประจำรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก
พัฒนาคลินิกประเมินสมรรถนะทางสุขภาพผู้ขับขี่ผ่านคลินิกอาชีวเวชกรรมในโรงพยาบาล โดยจะเริ่มดำเนินการในกลุ่มผู้ขับขี่รถสาธารณะ รถบรรทุก รถนักเรียน รถพยาบาล และกู้ชีพ กู้ภัย เป็นกลุ่มแรก
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- คาดประชาชนเดินทางปีใหม่ รถบขส.-รถไฟ 2.4 ล้านคน จัดทำแผน 11 วันรองรับ
- ‘อนุทิน’ สั่งคุมเข้มความปลอดภัยช่วงลอยกระทง ระดมตรวจร้านขายพลุ ดอกไม้ไฟ ท่าเทียบเรือ อาวุธปืน
- หารือเพิ่มเที่ยวบินช่วงปีใหม่ รองรับการเดินทาง-ลดปัญหาตั๋วแพง พร้อมขยายเวลาทำการ 6 สนามบิน
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg