โมเดลใหม่! ประมงสมุทรสงครามเปิดตัวกิจกรรม “สิบหยิบหนึ่ง” ปราบปลาหมอคางดำ จับมือเกษตรกรร่วมแก้ปัญหาในบ่อเลี้ยงเกษตรกรและแหล่งน้ำธรรมชาติ
สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ผนึกกำลังเกษตรกร และภาคเอกชน รวมทั้ง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ นำร่องโมเดลใหม่ แก้ปัญหาปลาหมอคางดำ หลังจากปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ถูกกำจัดออกจากแหล่งน้ำพร้อมกับช่วยเยียวยาเกษตรกร ผ่านกิจกรรม “สิบหยิบหนึ่ง” ปราบปลาหมอคางดำ
โดยสนับสนุนลูกพันธุ์ปลากะพงขาวให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการนำไปปล่อยลงในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ช่วยกินตัวอ่อนของปลาหมอคางดำ บรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร ลดความเสียหายของผลผลิต และสร้างการมีส่วนร่วมช่วยเพิ่มจำนวนพันธุ์ปลาเศรษฐกิจ ที่เป็นนักล่าช่วยกำจัดปลาหมอคางดำแบบบูรณาการเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม
นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า จากการระดมความร่วมมือของหลายหน่วยงานทั้งในระดับท้องถิ่นและภาคีภาคเอกชนบูรณาการจัดการปลาหมอคางดำอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง ครอบคลุมกว่า 70% ของแหล่งน้ำธรรมชาติ และบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในจังหวัด พบปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำเบาบางลงอย่างมีนัยสำคัญ ปลาที่จับได้ตัวเล็กลง ปลาที่เป็นพ่อแม่พันธุ์หายไป
นอกจากนี้ สมุทรสงครามยังร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เกษตรกร และภาคเอกชนดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อควบคุมปลาหมอคางดำอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง รวมทั้งการหาแนวทางใหม่ ๆ ในการจัดการปลาหมอคางดำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในการดำเนินกิจกรรม “สิบหยิบหนึ่ง” โมเดลใหม่ในการกำจัดปลาหมอคางดำแบบบูรณาการ 3 ประสาน รัฐ-เอกชน-เกษตรกร พร้อมมอบลูกพันธุ์ปลากะพงขนาด 4-5 นิ้วจำนวน 10,000 ตัวที่ได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟ เพื่อปล่อยลงสู่บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกร
โดยแบ่งให้เกษตรกรที่ร่วมโครงการในพื้นที่ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง 5 ราย รายละ 1,000 ตัว และเกษตรกรในตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา 50 ราย รายละ 100 ตัว เพื่อให้ปลากะพงขาวช่วยกำจัดปลาหมอคางดำในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำ
เมื่อครบกำหนด 3 เดือน เกษตรกรจะนำปลากะพงขาวที่มีขนาดโตขึ้น และมีขีดความสามารถในการล่าส่งมอบคืนให้สำนักงานประมงสมุทรสงครามจำนวน 10% ของจำนวนปลาที่ได้รับการสนับสนุน เพื่อนำไปปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติในจังหวัดต่อไป
กิจกรรมสิบหยิบหนึ่ง เป็นโมเดลใหม่ที่ประมงสมุทรสงครามริเริ่มขึ้น ต่อยอดหลังจากปลาหมอคางดำขนาดใหญ่ในแหล่งน้ำลดลง เพื่อที่จะช่วยเยียวยาเกษตรกรเจ้าของบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำได้รับผลกระทบจากปลาหมอคางดำ และเป็นสร้างการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการแก้ปัญหานี้ควบคู่กัน ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรได้เลี้ยงปลากะพงขาวซึ่งเป็นปลาเศรษฐกิจเพิ่มรายได้ในเวลาเดียวกัน
ทั้งนี้ ประมงจังหวัดสมุทรสงครามได้เริ่มดำเนินโครงการนี้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สนับสนุนพันธุ์ปลากะพงขาวให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 7 ราย รายละ 1,000 ตัว พันธุ์ปลากะพงขาวได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายองค์กรเอกชน ซึ่งซีพีเอฟร่วมสนับสนุนพันธุ์ปลากะพง 3,000 ตัว
จากการติดตามผลพบว่า ปลากะพงขาวที่ปล่อยลงในบ่อเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรมีขนาดโตขึ้น มีอัตรารอดที่ดี ช่วยกำจัดลูกปลาหมอคางดำได้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเกษตรกรที่ร่วมโครงการกำลังเตรียมส่งคืนปลากะพงขาวที่โตขึ้น และมีความเป็นนักล่ามากขึ้นประมาณ 400 กว่าตัวให้กับประมงจังหวัด เพื่อปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติต่อไป
นอกจากโครงการสิบหยิบหนึ่งแล้ว ประมงสมุทรสงครามยังจัดตั้ง “กองทุนกากชา” ช่วยเกษตรกรยืมใช้ฟรี พร้อมรณรงค์ป้องกันปลาหมอคางดำแพร่ระบาดสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ มุ่งแก้ปัญหาแบบครบวงจร ทั้งลดต้นทุนเกษตรกร และรักษาคุณภาพผลผลิตสัตว์น้ำให้เติบโตเต็มที่
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘ซีพีเอฟ’ ลุยกว่า 1 เดือน ร่วมมือ ‘กรมประมง’ กำจัด ‘ปลาหมอคางดำ’ ทุกพื้นที่
- วาระแห่งชาติ! ทุกภาคส่วนเร่งไล่ล่า ‘ปลาหมอคางดำ’
- ‘CPF-สจล.’ เตรียมใช้เทคโนโลยี ‘eDNA’ คุม ‘ปลาหมอคางดำ’ ให้อยู่ในพื้นที่จำกัด
ติดตามเราได้ที่
เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
X: https://twitter.com/BangkokInsight
Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg