General

ไข้หวัดนก H5N1 ในสหรัฐ สัญญาณเตือนภัยไทยเตรียมพร้อมรับมือ

ย้อนรอยวิกฤติ ไข้หวัดนก H5N1 2024 จะเป็นไข้หวัดใหญ่ระบาดครั้งใหม่เหมือน H1N1 ปี 2009 หรือไม่ สัญญาณเตือนภัยไทยเตรียมพร้อมรับมือ

เมื่อ 15 ปีที่แล้วมีการระบาดของไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 ที่มีต้นกำเนิดจากสุกร จึงถูกขนานนามว่า ไข้หวัดหมู เกิดจากการผสมผสานของยีนจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ของมนุษย์ สุกร และนก โดยเชื่อว่าเกิดขึ้นในสุกรประมาณปี 2551 ก่อนแพร่สู่มนุษย์ในเม็กซิโกช่วงต้นปี 2552

ไข้หวัดนก H5N1

หลังจากนั้น ไวรัสได้แพร่กลับสู่ประชากรสุกรทั่วโลกผ่านการติดเชื้อจากมนุษย์ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในฟาร์มสุกรหลายประเทศ และมีการผสมพันธุ์กับไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์อื่นในสุกร ทำให้เกิดความหลากหลายทางพันธุกรรม เหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการเฝ้าระวังไวรัสในสุกรเพื่อป้องกันการเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่อาจก่อให้เกิดการระบาดใหญ่ในอนาคต

เครื่องมือสำคัญของไวรัสไข้หวัดใหญ่คือสิ่งที่เรียกว่าการจัดเรียงใหม่ (reassortment) สารพันธุกรรมของไวรัสไข้หวัดใหญ่ประกอบด้วย RNA 8 ท่อน เมื่อไวรัสหลายตัวติดเชื้อในเซลล์เดียวกันและเพิ่มจำนวน พวกมันสามารถแลกเปลี่ยนท่อนจีโนมเหล่านี้ ทำให้เกิดการรวมตัวที่เป็นไปได้ 256 แบบ

การจัดเรียงใหม่นี้ สามารถสร้างไวรัสที่มีคุณลักษณะของไวรัสต้นกำเนิดทั้งสอง ซึ่งอาจทำให้มันแพร่กระจายได้ง่ายขึ้นและรุนแรงขึ้น กระบวนการนี้เชื่อว่าได้สร้างไข้หวัดหมู H1N1 ในปี 2552 จากการผสมระหว่างสายพันธุ์ไวรัสไข้หวัดหมูของสหรัฐ และยุโรป ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ (ซึ่งโชคดีที่มีความรุนแรงน้อย)

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกและหน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกพยายามลดการใช้คำว่า ไข้หวัดหมู เพื่อป้องกันความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการติดต่อของโรคและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกร จึงนิยมเรียกว่า ไข้หวัดใหญ่ (สายพันธุ์ใหม่) 2009 หรือ H1N1 2009 แทน โดยเน้นย้ำว่าการแพร่เชื้อส่วนใหญ่เกิดจากการติดต่อระหว่างคนสู่คน ไม่ได้ติดต่อจากการรับประทานเนื้อสุกรที่ปรุงสุก

ไวรัสไข้หวัดใหญ่ H1N1 เริ่มปรากฏครั้งแรกในเม็กซิโกและสหรัฐ ในเดือนมีนาคมและเมษายน 2562 และแพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ประมาณการผู้ติดเชื้อทั่วโลก: 700 ล้านถึง 1.4 พันล้านคน ผู้เสียชีวิตทั่วโลก: ประมาณ 151,700 ถึง 575,400 คนในปีแรก องค์การอนามัยโลกประกาศสิ้นสุดการระบาดใหญ่ของ H1N1 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563

ห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลรามาธิบดีในขณะนั้น ได้ตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างจากผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายไข้หวัดกว่า 1.2 หมื่นตัวอย่าง ด้วยเทคนิค PCR และการถอดรหัสพันธุกรรม ผลการตรวจพบว่า 80% ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (H1N1)

H5N1

ต่อมาห้องปฏิบัติการโรงพยาบาลรามาธิบดีได้พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่ดื้อต่อยาโอเซลทามิเวียร์ครั้งแรกในประเทศไทยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2552 โดย รศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าหน่วยไวรัสวิทยาและจุลชีววิทยาโมเลกุล (ตำแหน่งในขณะนั้น) คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รายงานต่อที่ประชุมว่าตรวจพบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่ดื้อต่อยาโอเซลทามิเวียร์ 1 ตัวอย่าง ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย

สถานการณ์การพบไข้หวัดนก H5N1 ในสหรัฐ ในสุกรเป็น สัญญาณเตือนภัย สำคัญที่เตือนให้ไทยต้องเพิ่มความระมัดระวังและเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยงของการระบาดของไข้หวัดนกในอนาคต โดยอาศัยบทเรียนจากอดีตและการปรับปรุงมาตรการต่าง ๆ ให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

1. ความสำคัญของการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง การตรวจพบเชื้อดื้อยาในไทยเกิดจากการสุ่มตรวจตัวอย่างอย่างสม่ำเสมอ ไทยควรเพิ่มความเข้มข้นในการเฝ้าระวัง H5N1 ในฟาร์มสัตว์ปีกและสุกรทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยง

2. การเตรียมพร้อมรับมือการดื้อยา ประสบการณ์จากไทยแสดงให้เห็นว่าการดื้อยาเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ ไทยควรทบทวนและปรับปรุงแผนรับมือการดื้อยา รวมถึงการวิจัยและพัฒนายาต้านไวรัสชนิดใหม่

3. การควบคุมการใช้ยาอย่างเหมาะสม พบการลักลอบขายยาโอเซลทามิเวียร์ทางออนไลน์ในไทย ไทยควรเข้มงวดมาตรการควบคุมการใช้ยาต้านไวรัสในปศุสัตว์และมนุษย์ เพื่อป้องกันการดื้อยาและการแพร่กระจายของเชื้อ

4. การประสานงานระหว่างหน่วยงาน ไทยควรทบทวนและเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานด้านสาธารณสุข ปศุสัตว์ และการเกษตร เพื่อการรับมือที่มีประสิทธิภาพ

5. การเตรียมพร้อมระบบสาธารณสุข ไทยควรประเมินความพร้อมของระบบสาธารณสุขในการรับมือกับการระบาดของ H5N1 ในมนุษย์ และเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน
6. การวิจัยและพัฒนา: ไทยควรสนับสนุนการวิจัยเกี่ยวกับ H5N1 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการศึกษาการกลายพันธุ์และการแพร่กระจายของเชื้อในสัตว์และมนุษย์

7. การสื่อสารสาธารณะ ไทยควรเตรียมแผนการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องแก่ประชาชน ลดความตื่นตระหนก และส่งเสริมการปฏิบัติตามมาตรการป้องกัน

ข้อมูล-ภาพ ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี Center for Medical Genomics

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo