ศปช. เตรียมรับมือน้ำทะเลหนุน สั่งบริหารการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา เตือน 16 จังหวัดเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน ด้าน ศปช.ส่วนหน้า เชียงราย คาดสิ้นเดือน ชาวเชียงรายกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม หรือ ศปช. และ ศปช. ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ตามที่ได้ประกาศแจ้งเตือนให้พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงวันที่ 13-24 ตุลาคม 2567 ประกอบกับปัจจุบันพื้นที่ลุ่มต่ำ และพื้นที่นอกคันกั้นน้ำเริ่มได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาที่ระดับ 2,200 ลบ.ม./วินาที ทำให้เกิดความกังวลว่าในช่วงน้ำทะเลหนุน จะเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์พื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้น
ในที่ประชุม ศปช. ได้เน้นย้ำให้ กรมชลประทาน ร่วมกับ สทนช. วางแผนบริหารจัดการน้ำทั้งระบบ ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเริ่มชะลอตัวลง นำไปสู่การปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยาตั้งแต่เมื่อช่วงเย็นวันนี้ และในวันนี้ 15.00 น. จะมีการปรับลดการระบายน้ำลงอีกเหลือที่ระดับ 2,100 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะช่วยลดระดับน้ำที่เข้าท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา ริมคลองบางบาล โผงเผง แม่น้ำน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และลดความเสี่ยงของพื้นที่นอกคันกั้นน้ำในพื้นที่ จังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร
จากการติดตามการคาดการณ์ฝนจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่าขณะนี้มีพื้นที่ 16 จังหวัดทางภาคตะวันตกและภาคใต้ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำล้นตลิ่ง ได้แก่ ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี กระบี่ นครศรีธรรมราช ตรัง สตูล พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
สำหรับในพื้นที่ 16 จังหวัดข้างต้น ได้มีการเตรียมเครื่องสูบน้ำ 552 เครื่องเข้าไปเตรียมความพร้อมจุดเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก พร้อมเตรียมเครื่องจักร เครื่องผลักดันน้ำ รวม 1,100 หน่วย พร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชนทันที
นอกจากนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เตรียมตั้งศูนย์ส่วนหน้าในภาคใต้เพื่อดำเนินงานเชิงรุก ทั้งคาดการณ์สถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ เพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในภาคใต้ รวมทั้งได้มีการเร่งระบายน้ำจากเขื่อนที่มีปริมาณน้ำมากในระยะที่ยังไม่ได้ฝนตกหนักมากนัก โดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำด้วย
ศปช.ส่วนหน้า เผยฟื้นฟูเชียงราย-เชียงใหม่ เดินหน้าตามแผน
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษก ศปช.ส่วนหน้า เปิดเผยว่า ในส่วนของจังหวัดเชียงราย ได้รับแจ้งว่าบ่อน้ำในพื้นที่บ้านรวมมิตร หมู่ที่ 2 ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ได้รับความเสียหายจากการเกิดน้ำป่าไหลหลาก 21 บ่อ ทำให้ตัวบ่อแตกใช้การไม่ได้ มีดินโคลน ทรายเข้าไปในบ่อ ทำให้บ่อน้ำตื้นเขิน น้ำที่ท่วมขังในบ่อยังคงค้างไม่สามารถซึมลงพื้นดินส่งกลิ่นเหม็น ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้ ทาง ศปช. เร่งประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดูดโคลนออกเพื่อช่วยเหลือประชาชนโดยเร็ว
สำหรับความคืบหน้าการฟื้นฟู อำเภอแม่สาย และ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ขณะนี้ได้ระดมเครื่องจักรจากทุกภาคส่วนเข้าช่วยทำการตักดินโคลนและทำความสะอาดบ้านเรือน พร้อมฟื้นฟูพื้นที่สาธารณะและเส้นทางสัญจร ซึ่งขณะนี้ทุกอย่างเดินหน้าตามแผน คาดว่าภายในสิ้นเดือนนี้ ชาวเชียงรายจะได้กลับมาใช้ชีวิตตามปกติและเดินหน้าเศรษฐกิจกันอีกครั้ง
ที่ประชุม ศปช. ได้ย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตามเหตุการณ์และตลิ่งแม่น้ำยมทรุดตัว จังหวัดสุโขทัย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และสูญหาย 1 ราย โดยให้เร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่เสี่ยงต่อการพังของตลิ่งบริเวณใกล้แม่น้ำทุกสาย เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดแก่ประชาชนและแจ้งให้ที่ประชุมทราบโดยเร็ว
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- กรมชลฯ เริ่มลดการระบายน้ำ ‘เขื่อนเจ้าพระยา’ เหลือ 2,179 ลบ.ม. ลดผลกระทบท้ายเขื่อนจากทะเลหนุน
- เตรียมลดการระบายน้ำ ‘เขื่อนเจ้าพsะยา’ เร่งผันน้ำไปฝั่งตะวันออก ลดผลกระทบน้ำทะเลหนุน 13-24 ต.ค.
- เช็กที่นี่! อัปเดตน้ำท่วม 19 จังหวัด 69 อำเภอ 1,577 หมู่บ้าน เดือดร้อน 43,535 ครัวเรือน
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yx