จับตา “ไข้หวัดนก” ติดเชื้อจากคนสู่คน หลังบุคลากรทางการแพทย์ 6 รายในรัฐมิสซูรี มีอาการจากการสัมผัสผู้ป่วย
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ระบุว่าสหรัฐฯ เฝ้าระวัง บุคลากรทางการแพทย์ 6 รายในมิสซูรีมีอาการหลังสัมผัสผู้ป่วยไข้หวัด นก ตามรายงานล่าสุดของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (CDC) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2567
บุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อ 6 คน หลังสัมผัสผู้ป่วย
พบว่ามีบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มอีก 4 ราย (จากเดิม 2 ราย) ในรัฐมิสซูรี ที่มีอาการทางเดินหายใจเล็กน้อยหลังจากสัมผัสกับผู้ป่วยไข้หวัดนก (รายเดียวกัน) ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ส่งผลให้จำนวนบุคลากรที่แสดงอาการภายหลังการดูแลผู้ป่วยรายนี้เพิ่มขึ้นเป็น 6 คน
ทั้งนี้ ยังไม่มีการยืนยันผลการติดเชื้อไวรัสไข้หวัด นก ในบุคลากรกลุ่มนี้จากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ กรณีนี้ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากผู้ป่วยในมิสซูรีซึ่งเข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ไม่มีประวัติสัมผัสกับสัตว์ติดเชื้อ ต่างจากกรณีในสหรัฐฯ 13 รายก่อนหน้านี้ในปีเดียวกัน ซึ่งล้วนเป็นคนงานในฟาร์มและเกี่ยวข้องกับการระบาดในฟาร์มสัตว์ปีกหรือฟาร์มโคนม
ลิซ่า ค็อกซ์ โฆษกกระทรวงสาธารณสุขมิสซูรี กล่าวว่า การสอบสวนโรคยังคงดำเนินอยู่ โดยมี CDC ให้ความช่วยเหลือจากระยะไกล ขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานการแพร่เชื้อจากคนสู่คน บุคลากรทางการแพทย์หนึ่งรายได้รับการตรวจไข้หวัดและผลเป็นลบ ส่วนอาการในรายอื่นๆ ถูกพบเมื่อสายเกินกว่าจะทำการตรวจ
นอกจากนี้ ผู้สัมผัสใกล้ชิดในครัวเรือนของผู้ป่วยหนึ่งคนก็มีอาการด้วย แต่ไม่ได้รับการตรวจ อย่างไรก็ตาม ทุกคนได้หายจากอาการป่วยแล้ว
รัฐมิสซูรีได้เก็บตัวอย่างเลือดของบุคลากรทางการแพทย์ 5 คนและผู้สัมผัสในครัวเรือน เพื่อตรวจหาแอนติบอดีที่อาจบ่งชี้ถึงการติดเชื้อก่อนหน้านี้ CDC กำลังประเมินตัวอย่างจากผู้ป่วยและผู้สัมผัสในครัวเรือน ขณะที่รัฐกำลังเตรียมส่งตัวอย่างอื่นๆ ไปยัง CDC โดยเร็วที่สุด
อาจเริ่มกระจายจากคนสู่คน
ดร. อเมช อดัลจา นักวิชาการอาวุโสจากศูนย์ความมั่นคงด้านสุขภาพจอห์นส์ ฮอปกินส์ แสดงความเห็นว่า กรณีนี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องรับมือกับการระบาดอย่างจริงจังมากขึ้น และเรียกร้องให้เร่งรัดการตรวจแอนติบอดีเพื่อประเมินความเสี่ยงของการแพร่เชื้อระหว่างมนุษย์ พร้อมทั้งวิจารณ์การเปิดเผยข้อมูลอย่างจำกัดของรัฐมิสซูรี
สถานการณ์นี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อหาสัญญาณว่าไวรัสไข้หวัดนก อาจเริ่มแพร่กระจายในมนุษย์ได้ง่ายขึ้นหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการควบคุมโรคในวงกว้างต่อไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- เปรียบเทียบความแตกต่าง การระบาด ‘ไข้หวัด นก H5N1’ ในกัมพูชาและสหรัฐ ‘บทเรียนสำหรับไทย’
- ด่วน! พบโอไมครอนลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ ‘KP.2.3/XEC’ แพร่เร็วกว่าเดิม 2 เท่า
- หมอยง ชี้ โควิด 19 ‘เกมโอเวอร์’ แล้ว ติตเชื้อลดลงเหลือ 5% แนวโน้มลดลงอีก
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yx