General

เปิด 5 อันดับ ฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับ ‘การทวงถามหนี้’ ที่มีการร้องเรียนสูงสุด-บทลงโทษ

กรมการปกครอง เปิด 5 อันดับ ฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับ “การทวงถามหนี้” ที่มีการร้องเรียนสูงสุด ปี 2560-2567 พร้อมบทลงโทษ

กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เปิด 5 อันดับ ฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับ ‘การทวงถามหนี้’ ที่มีการร้องเรียนสูงสุดและบทลงโทษ โดยระบุว่า ภายใต้ภาวะการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่กำลังอยู่ในช่วงการฟื้นฟูจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ มีผู้คนจำนวนมากที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง นำไปสู่การสูญเสียอาชีพ หมุนเงินไม่ทัน ไม่มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัว จึงต้องแสวงหาแหล่งสินเชื่อเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า

การทวงถามหนี้

สถิติร้องเรียน 5 อันดับ ฐานความผิดการร้องเรียนทวงถามหนี้

เมื่อมีการสร้างหนี้ การติดตามทวงถามหนี้จึงเกิดขึ้น กรมการปกครอง (สำนักการสอบสวนและนิติการ) ได้รวบรวมสถิติเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับทวงถามหนี้ 5 ฐานความผิดที่มีการร้องเรียนสูงสุด ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 – พ.ศ. 2567 พร้อมบทลงโทษในแต่ละฐานความผิด 

ดังต่อไปนี้

  • อันดับที่ 1 มาตรา 11 (1) การติดต่อทวงถามหนี้โดยการข่มขู่ ใช้ความรุนแรง หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกาย ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้ มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • อันดับที่ 2 มาตรา 9 (3) การติดต่อทวงถามหนี้เกินกว่า 1 ครั้งต่อ 1 วัน ซึ่งคณะกรรมการกำกับการ ทวงถามหนี้ประจำท้องที่ มีอำนาจสั่งระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท
  • อันดับที่ 3 มาตรา 11 (3) การติดต่อทวงถามหนี้โดยแจ้งหรือเปิดเผยความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการ ทวงถามหนี้ทราบ มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • อันดับที่ 4 มาตรา 8 การติดต่อทวงถามหนี้กับบุคคลอื่นซึ่งมิใช่ลูกหนี้เพื่อทวงถามหนี้ มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
  • อันดับที่ 5 มาตรา 9 (1) การติดต่อทวงถามหนี้ไปยังสถานที่ที่ลูกหนี้มิได้ระบุไว้เพื่อการ ทวงถามหนี้ ซึ่งคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำท้องที่ มีอำนาจสั่งระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท

การทวงถามหนี้

หากได้รับทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสม สามารถร้องเรียนได้ด้วยตนเองหรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นซึ่งบรรลุนิติภาวะร้องเรียนแทนได้ พร้อมแนบหนังสือมอบอำนาจ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจมาด้วย

โดยร้องเรียนได้ที่ ที่ทำการปกครองจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กองบัญชาการตำรวจนครบาล สถานีตำรวจ หรือสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo