“หมอเฉลิมชัย” รวมความรู้สำคัญ ฝีดาษวานร ตั้งแต่การพบเชื้อครั้งแรก การระบาดทั่วโลกรวมถึงไทย วิธีการติดต่อ อาการ จนถึงการรักษา ป้องกัน ครบจบในที่เดียว
นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์ blockdit ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย รวม 15 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับ ฝีดาษวานร หรือ ฝีดาษลิง โดยระบุว่า
15 ประเด็นความรู้ที่สำคัญเรื่องฝีดาษลิง (Mpox) เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง
1. ปี 2501 พบการติดเชื้อครั้งแรกในลิงของประเทศแถบแอฟริกากลาง และแอฟริกาตะวันตก
2. ช่วงนั้น เริ่มพบกันติดต่อจากสัตว์สู่คนได้ด้วย ประเทศที่พบได้แก่ คองโก แคเมอรูน กาบอง ไนจีเรีย ไลบีเรีย เป็นต้น
3. ปี 2546 พบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงในสหรัฐ เป็นครั้งแรก โดยติดมาจากสัตว์ตระกูลฟันแทะ คือ แพร์รี่ด็อก (Prairie dog)
4. ปี 2565 มีการระบาดของฝีดาษลิงไปทั่วโลก จนองค์การอนามัยโลกต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน ทางด้านสาธารณสุขอยู่ประมาณเกือบหนึ่งปี แต่เป็นสายพันธุ์ที่ 2 ซึ่งมีความรุนแรงน้อย และประเทศไทยก็พบผู้ติดเชื้อในช่วงนั้นด้วยเช่นกัน
5. การระบาดปี 2565-2566 ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อหลายร้อยคน และพบประปรายหลังจากนั้น ในปี 2567 พบผู้ติดเชื้อไปแล้วร้อยคนเศษ ทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ที่ 2 ซึ่งไม่รุนแรง โดย97% เป็นผู้ชายและติดต่อทางเพศสัมพันธ์
6, ไวรัสก่อโรคอยู่ในตระกูล Orthopoxvirus ซึ่งเป็นสายพันธุ์ใกล้เคียงกับไวรัสก่อโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (Smallpox)
7. แหล่งกำเนิดโรค ได้แก่ สัตว์ตระกูลลิงแอฟริกา สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระต่าย กระรอก เป็นต้น
8. การติดต่อสามารถติดต่อได้จากสัตว์สู่สัตว์ สัตว์สู่คน และคนสู่คน โดยติดต่อผ่านการสัมผัสโดยตรงกับผื่น ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง ที่ผิวหนังของผู้ติดเชื้อ การใช้ของส่วนตัวร่วมกัน การมีเพศสัมพันธ์ กับคนแปลกหน้า (ซึ่งคาดว่าเกิดจากการสัมผัสผื่นหรือตุ่มบริเวณอวัยวะเพศ) นอกจากนั้น ยังสามารถติดต่อผ่านฝอยละอองทางเดินหายใจได้ด้วย แต่ไม่ได้ติดต่อง่ายเหมือนไข้หวัดใหญ่หรือโควิด 19
9. อาการของโรคจะเริ่มหลังจากสัมผัสแล้ว 7-21 วันโดยมีไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เจ็บคอ
หลังจากนั้นจะตามมาด้วยมีผื่นแดงเรียบ และเปลี่ยนเป็นตุ่มน้ำใส หรือตุ่มหนองขึ้นกระจายที่ใบหน้า แขนขา ลำตัว โดยเฉพาะบริเวณอวัยวะเพศ สามารถหายเองได้ใน 2-4 สัปดาห์
10. ความรุนแรง สายพันธุ์ที่ 1 อัตราการเสียชีวิต 5-10% ส่วนสายพันธุ์ที่ 2 อัตราการเสียชีวิต 1-5%
11. การรักษา มียาต้านไวรัสแล้วคือ Tecovirimat แต่สามารถหายเองได้ในคนภูมิคุ้มกันปกติ โดยการรักษาแบบประคับประคอง
12. ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี เป็นมะเร็ง มีการปลูกถ่ายอวัยวะ รับเคมีบำบัดหรือฉายแสงรักษามะเร็ง เด็กอายุน้อยกว่า 8 ปี ผู้ป่วยแพ้ภูมิตนเอง
13. การป้องกัน
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสไวรัสจากผื่น ตุ่มน้ำใส หรือตุ่มหนองโดยตรง
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน
- หมั่นล้างมือบ่อยบ่อย ไม่นำมือมาสัมผัสใบหน้า
- ใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยง ที่มีความแออัด
14. การฉีดวัคซีน มีวัคซีนป้องกันโรคแล้ว ฉีดหนึ่งเข็มมีประสิทธิภาพ 76% สองเข็ม 82% แต่ยังไม่มีความจำเป็นต้องฉีดในขณะนี้ และองค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดเฉพาะในพื้นที่ระบาดของประเทศที่มีความเสี่ยงในแอฟริกาเท่านั้น
15, ผู้ที่เคยปลูกฝีป้องกันฝีดาษหรือไข้ทรพิษ มีรายงานการศึกษาว่ายังมีระดับภูมิคุ้มกันที่ป้องกันได้ แต่อย่างไรก็ตาม โลกเราไม่มีไข้ทรพิษหรือฝีดาษมาตั้งแต่ปี 2523 จึงไม่มีการปลูกฝีป้องกันฝีดาษหลังจากนั้น ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 44 ปีลงมา จึงไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้ ส่วนคนที่มีแผลปลูกฝีที่ต้นแขนในคนที่อายุน้อยกว่า 44 ปี คือการปลูกฝีป้องกันวัณโรค
กล่าวโดยสรุป
- ขณะนี้ฝีดาษลิงหรือฝีดาษวานรในประเทศไทยยังไม่ถือเป็นการระบาด
- ที่ผ่านมา เป็นเชื้อสายพันธุ์ที่ 2 ซึ่งไม่รุนแรง
- นอกจากการสัมผัสโดยตรงหรือการมีเพศสัมพันธ์แล้ว การติดต่อโดยทางเดินหายใจนั้นติดยากกว่าไข้ใหญ่หรือโควิด-19
- ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า ไม่ใช้ของร่วมกัน ล้างมือบ่อยบ่อย ใส่หน้ากากอนามัยเมื่อมีความเสี่ยง
ทั้งนี้ควรติดตามข่าวสารสถานการณ์โรคฝีดาษลิงหรือฝีดาษวานรอย่างใกล้ชิดต่อไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘หมอยง’ ย้อนรอย ‘ฝีดาษวานร’ ระบาด จากปี 2546 ถึง 2567
- วัคซีนมีจำกัด สถานเสาวภา แจ้งฉีดวัคซีน ‘ฝีดาษลิง’ เฉพาะ ‘ฉีดเข้าชั้นผิวหนัง’ เท่านั้น
- ‘หมอเฉลิมชัย’ ย้อนรอยโควิดไทย จากสายพันธุ์อู่ฮั่น ถึงสายพันธุ์ EG.5.1
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yx