กรมควบคุมโรค จับตา “โรคไข้โอโรพุช”อย่างใกล้ชิด หลังมีผู้เสียชีวิต 2 รายแรกของโลกที่บราซิล ผู้เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยง หากมีอาการคล้ายไข้เลือดออก ให้รีบพบแพทย์
นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขของประเทศบราซิลรายงาน เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 ว่าพบผู้ป่วยโรคไข้โอโรพุช (Oropouche Fever) เสียชีวิต 2 รายแรกของโลกที่ประเทศบราซิล
เสียชีวิต 2 รายแรกของโลก
โดยข้อมูล ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 พบรายงานผู้ป่วยในบราซิลทั้งหมด 7,236 ราย คิดเป็นอัตราป่วยตาย 0.03% ผู้เสียชีวิตทั้งสองรายเป็นเพศหญิง อายุน้อยกว่า 30 ปี ไม่มีโรคประจำตัว ประวัติช่วงป่วยมีอาการคล้ายไข้เลือดออก โดยผู้ป่วยอาศัยอยู่ที่รัฐบาเฮีย ทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล
โรคไข้โอโรพุช พบมากในประเทศแถบลาตินอเมริกาและแคริบเบียน โดยในเดือนมิถุนายน 2567 มีรายงานผู้ป่วยในประเทศโบลิเวีย เปรู คิวบา และโคลอมเบีย ส่วนในประเทศไทยยังไม่เคยพบรายงานผู้ป่วยจนถึงปัจจุบัน
โรคไข้โอโรพุช ไม่ใช่โรคติดต่ออุบัติใหม่ เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง คือ Oropouche virus (OROV) ไวรัสชนิดนี้เป็นเชื้อประจำถิ่น (endemic) ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำอเมซอน มีรายงานการพบผู้ป่วยในประเทศแถบอเมริกาใต้ (เช่น Brazil, Peru, Argentina, Bolivia, Colombia) และแถบแคริบเบียน (เช่น Panama, Trinidad และ Tobago) เชื้อมีระยะฟักตัวโดยทั่วไป คือ 4-8 วัน (อยู่ในช่วง 3-12 วัน)
อาการของโรค ได้แก่ ไข้เฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดกระบอกตา และผื่น ประมาณ 16% มีอาการเลือดออก (เช่น จุดเลือดออกที่ผิวหนัง เลือดกำเดา และเลือดออกตามไรฟัน) และมีรายงานเยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningoencephalitis) แต่พบได้น้อย
ตัวริ้น และ ยุงบางชนิด พาหะของโรค
นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า การติดต่อของโรค มีแมลงเป็นพาหะ โดยพาหะนำโรคหลัก คือ ตัวริ้น (Culicoides paraensis) ซึ่งพบมากในทวีปอเมริกา และยุงบางชนิดสามารถเป็นพาหะของไวรัส OROV ได้ เช่น Culex quinquefasciatus, Coquillettidia venezuelensis, Mansonia venezuelensis และ Aedes serratus
ปัจจุบันยังไม่มีรายงานการพบตัวริ้นที่เป็นพาหะหลักในประเทศไทย รวมถึงยังไม่มีรายงานในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังไม่พบหลักฐานการแพร่ระบาดระหว่างคนสู่คน
ความเสี่ยงหลักของการพบผู้ติดเชื้อในประเทศไทย อาจมาจากนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปพื้นที่ที่มีการระบาด ซึ่งความเป็นไปได้ยังคงต่ำมาก อีกทั้งความรุนแรงของโรคค่อนข้างน้อย ผู้เชี่ยวชาญทางระบาดวิทยาให้ความเห็นว่า ความเสี่ยงการระบาดของโรคนี้ในประเทศไทยค่อนข้างต่ำ
ผู้เดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงให้สังเกตอาการตนเอง
แต่ต้องระมัดระวังในกลุ่มผู้เดินทางไปประเทศดังกล่าว ควรป้องกันตนเองไม่ให้ถูกแมลงและยุงกัด สังเกตอาการภายหลังเดินทางกลับจากพื้นที่เสี่ยงประมาณ 2 สัปดาห์ หากเจ็บป่วยมีอาการคล้ายโรคไข้เลือดออก คือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะรุนแรง หนาวสั่น ปวดกล้ามเนื้อ และปวดข้อ ควรรีบไปพบแพทย์
คำแนะนำสำหรับประชาชนที่เดินทางไปในประเทศที่มีรายงานการระบาดของโรคนี้ โดยเฉพาะประเทศในทวีปอเมริกาใต้และแคริบเบียน ดังนี้
- ป้องกันตนเองระหว่างที่เดินทางในต่างประเทศดังกล่าว ควรสวมเสื้อและกางเกงขายาว เพื่อป้องกันยุงและตัวริ้นกัด
- ทาโลชั่นกันยุง และหลีกเลี่ยงการในสถานที่ที่มียุงหรือแมลงเยอะ
- หากเดินทางกลับประเทศไทยแล้วมีอาการไข้เฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดกระบอกตา และผื่น ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และรีบไปพบแพทย์ แจ้งประวัติการเดินทาง เพื่อดำเนินการสอบสวนและควบคุมโรคต่อไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- สธ, จับตา ‘โรคไข้โอโรพุช’ ระบาดในบราซิล พบผู้เสียชีวิตครั้งแรกของโลก
- คุมเข้มยาเสพติด สุ่มตรวจนักศึกษาอาชีวะกลุ่มเสี่ยง 3 แสนคน เจอฉี่ม่วง 500 คน
- ‘อนุทิน’ เชื่อ ‘เศรษฐา-พรรคร่วม’ หนุนพ.ร.บ.คุมกัญชา ลั่น!! ผมมั่นใจใน ‘นายกฯ’
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg