สทนช. เตือน! อ่างทอง-อยุธยา ยกของขึ้นที่สูง 11 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา เตรียมรับมือระบายน้ำเพิ่ม ขณะที่เขื่อนอุบลรัตน์น้ำเต็มแล้ว
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การประปานครหลวง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น
น้ำเหนือจากฝนตกหนัก เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา
นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช. เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2567 คาดว่าจะมีฝนตกในฝั่งตะวันตกของภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกของประเทศ โดยจะตกซ้ำในพื้นที่เดิมเป็นระยะเวลาประมาณ 3–4 วัน จึงต้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ลุ่มต่ำอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะ จังหวัดจันทุบรี และ จังหวัดตราด ที่ยังอยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำจากฝนตกหนักในช่วงที่ผ่านมา
และหลังจากวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 จะเริ่มกลับมามีฝนตกในภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน โดยเฉพาะบริเวณ จังหวัดพิษณุโลก และ จังหวัดเพชรบูรณ์ และจะมีฝนตกซ้ำไปจนถึงวันที่ 2 สิงหาคม 2567
โดยจากสถานการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่ตอนบนของประเทศ ขณะนี้จึงได้มีการติดตามประเมินและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิดใน 4 จุด ได้แก่ จุดที่ 1 สถานี Y.4 อ.เมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย จุดที่ 2 สถานี C.2 จ.นครสวรรค์ จุดที่ 3 สถานี C.13 เขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท และจุดที่ 4 สถานี C.29A อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
โดยขณะนี้ปริมาณน้ำยังอยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ในทุกจุด อย่างไรก็ตาม หากมีปริมาณน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม ได้มีแผนในการผันน้ำเข้าพื้นที่หน่วงน้ำ แหล่งน้ำ และทุ่งลุ่มต่ำต่าง ๆ เช่น บึงบอระเพ็ด ทุ่งบางระกำ ฯลฯ รวมถึงมีการผันน้ำเข้าฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออกของเขื่อนเจ้าพระยาผ่านคลองต่าง ๆ เช่น แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย คลองชัยนาท-ป่าสัก คลองมหาราช เป็นต้น
11 จังหวัดท้ายเขื่อนเตรียมรับมือ อ่างทอง-อยุธยา ยกของขึ้นที่สูง
นอกจากนี้ เขื่อนเจ้าพระยาได้มีการยกระดับน้ำเพื่อชะลอการระบายน้ำ เพื่อเพิ่มระยะเวลาในการแจ้งเตือน 11 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ให้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำจากการระบายน้ำในอัตรา 700 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที
ซึ่งคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ใน 2 จังหวัด อ่างทอง-อยุธยา โดยเขตคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง และคลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งจะมีน้ำเอ่อล้นในระดับใต้ถุนของบ้านเรือนประชาชนที่อยู่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำทั้งสองสาย แต่จะไม่ท่วมสูงจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อข้าวของหรือทรัพย์สิน
สทนช. ได้บูรณาหน่วยงานในพื้นที่ จังหวัดต่าง ๆ รวมถึงกรุงเทพมหานคร ตอนล่าง ให้ติดตามประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงปริมาณน้ำทะเลที่คาดว่าจะหนุนสูงในวันที่ 20–27 กรกฎาคม 2567 ซึ่งจะมีผลทำให้ระดับน้ำในลำน้ำเพิ่มขึ้นสูงกว่าปกติและการระบายน้ำออกสู่ทะเลช้าลง
เขื่อนอุบลรัตน์เต็มแล้ว
สำหรับการประเมินปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ ปัจจุบันอ่างฯ ขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าเป็นจำนวนมาก คือ เขื่อนอุบลรัตน์ โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามีน้ำไหลเข้าสะสมมากถึง 300 ล้าน ลบ.ม. ส่งผลให้ระดับน้ำในอ่างฯ เพิ่มขึ้นถึงเกณฑ์เก็บกักน้ำสูงสุด
โดยได้มอบหมายให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สทนช. พิจารณาปรับเกณฑ์การระบายน้ำ โดยจะต้องไม่ให้กระทบกับปริมาณน้ำในลำน้ำ รวมถึงจะต้องบริหารจัดการเขื่อนทดน้ำในลำน้ำชี ในการเร่งระบายน้ำเพื่อป้องกันปัญหาการระบายน้ำไม่ทัน
พร้อมกันนี้ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเตรียมพร่องปริมาณน้ำในอ่างฯ ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม รวมถึงอ่างฯ ขนาดกลางซึ่งขณะนี้มีปริมาณน้ำเกินความจุ จำนวน 29 แห่ง และอ่างฯ ขนาดเล็ก
โดยในส่วนของอ่างฯ ขนาดเล็กที่มีการถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ต้องให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำเพื่อปรับการระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เพื่อเป็นการเตรียมพื้นที่ว่างของอ่างฯ ให้เพียงพอที่จะรองรับปริมาณฝนซึ่งคาดว่าจะตกหนักในช่วงเดือน สิงหาคม-กันยายนนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไล่ลงมาถึงบริเวณตอนกลางของประเทศ
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- สภาพอากาศวันนี้ 24 ก.ค. 30 จังหวัดฝนตกหนัก กทม. ชุ่มฉ่ำ ฝนฟ้าคะนอง 70%
- สภาพอากาศวันนี้ 23 ก.ค. เตือน 35 จังหวัดฝนตกหนัก ระวัง! น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก
- กรมชลฯ เพิ่มการระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ย้ำบ้านเรือนท้ายเขื่อน ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg